xs
xsm
sm
md
lg

หรือการรุกใหญ่ของยูเครนเวลานี้จะประสบชะตากรรมเดียวกันกับ ‘สงครามชิงแคว้นเคิร์สก์’ ของนาซีเยอรมนี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน ***


สภาพของรถถัง “แพนเซอร์” ของนาซีเยอรมนีคันหนึ่ง ภายหลังการสู้รบชิงแคว้นเคิร์สก์ ในปี 1943 (ภาพจาก Wikimedia Commons)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Is the Ukrainian offensive another Kursk?
By STEPHEN BRYEN
20/06/2023

ในปี 1943 นาซีเยอรมนีของฮิตเลอร์ พยายามที่จะโจมตีช่วงชิงแคว้นเคิร์สก์ จากกองทัพโซเวียตของสตาลิน ทว่าประสบความล้มเหลวภายหลังการสู้รบอันดุเดือดที่สูญเสียหนักหน่วงกันทั้งสองฝ่าย หลังจากนั้นนาซีเยอรมนีก็ต้องล่าถอย และปิดฉากแนวรบด้านตะวันออกของตน

ผู้สังเกตการณ์บางคนบอกว่า การสู้รบที่กำลังเกิดขึ้นเวลานี้ในพื้นที่แคว้นซาโปริซเซียของยูเครน มีลักษณะคล้ายๆ กับยุทธการชิงแคว้นเคิร์สก์ปี 1943 (the 1943 Battle for Kursk) มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ? แล้วทำไมต้องสนใจในประเด็นนี้กันด้วย?

ความพยายามของกองทัพนาซีในครั้งนั้นที่จะโอบล้อมจับกองกำลังโซเวียตเป็นเชลยและยังความพ่ายแพ้แก่พวกเขา ณ แคว้นเคิร์สก์ ในภาคตะวันตกของรัสเซีย เป็นการทุ่มเทดำเนินการขนาดใหญ่โตมโหฬารครั้งหนึ่งทีเดียว ไม่ว่าในแง่ของการใช้กำลังยานเกราะ ปืนใหญ่ เครื่องบิน และกำลังคน ทั้งนี้ไม่มีด้านไหนๆ ของการสู้รบที่กำลังเกิดขึ้นอย่างดุเดือดในพื้นที่ซาโปริซเซียอยู่เวลานี้จะสามารถเทียบเคียงได้อย่างแท้จริงเลย กระนั้นก็ตาม เมื่อหันมาใช้เกณฑ์วัดอย่างอื่นๆ มันก็ยังพอจะเปรียบเทียบกันได้อยู่เหมือนกัน

ในซาโปริซเซีย ฝ่ายยูเครนกำลังพยายามจัดตั้งพื้นที่หัวหาดหลายๆ แห่งขึ้นมา ซึ่งถ้าหากประสบความสำเร็จแล้ว เป้าหมายในท้ายที่สุดที่จะเป็นการขยายจากพื้นที่หัวหาดเหล่านี้ เพื่อตัดกองกำลังฝ่ายรัสเซียให้ขาดออกเป็นหลายๆ ส่วน และสามารถสถาปนาที่มั่นริมทะเลอาซอฟ (Sea of Azov) ขึ้นมาสักแห่งหนึ่ง

ฝ่ายยูเครนมีกำลังพลอยู่ราวๆ 12 กองพลน้อย ซึ่งได้รับการฝึกอบรมจากนาโตเพื่อวัตถุประสงค์ในการนี้ ในจำนวนนี้มี 9 กองพลน้อยที่ได้รับการประกอบอาวุธของฝ่ายตะวันตก อาวุธเหล่านี้มีหลายหลากทั้ง รถถัง ยานสู้รบทหารราบ (infantry fighting vehicles หรือ IFVs) รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ (armored personnel carriers หรือ APCs) รถหุ้มเกราะต้านทานทุ่นระเบิดและการซุ่มโจมตี (mine-resistant ambush-protected หรือ MRAP vehicles) และยุทโธปกรณ์อื่นๆ อีกจำนวนมาก

สำหรับแนวรบนั้นจัดว่ายาวเหยียดแนวรบหนึ่งทีเดียว และเวลานี้กำลังมีการสู้รบดำเนินอยู่ในหลายๆ สมรภูมิ ขณะที่ฝ่ายยูเครนกำลังมองหาทางเจาะทะลุทะลวงผ่านกองกำลังรัสเซียซึ่งตั้งรับอย่างเหนียวแน่นโดยมีการจัดทำแนวป้องกันหลายๆ ชั้นซึ่งมีความลึกในระดับสำคัญ

ในสมรภูมิชิงแคว้นเคิร์สก์เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งสองฝ่ายต่างระดมกำลังทางอากาศของพวกเขาออกมาใช้ โดยภาพรวมแล้ว กองทัพอากาศเยอรมนีหรือที่เรียกกันในภาษาเยอรมันว่า ลุฟต์วัฟเฟอ (Luftwaffe) ประสบความสำเร็จอย่างสำคัญในสมรภูมิ ทว่าด้วยค่าใช้จ่ายความสูญเสียที่สูงลิบลิ่ว โดยที่ ลุฟต์วัฟเฟอ นำเอาทั้งเครื่องบินขับไล่ เครื่องบินโจมตีภาคพื้นดิน และเครื่องบินทิ้งระเบิดมาใช้งาน

ฝ่ายรัสเซียก็มีการทุ่มเทให้แก่การสู้รบเป็นอย่างดี ด้วยการระดมเครื่องบินจำนวนเป็นพันๆ ลำ ในนี้มีทั้งอิลยูชิน อิล-2 สตอร์มโมวิค (Ilyushin IL-2 Stormovik เครื่องบินโจมตีภาคพื้นดิน) และลาวอชคิน แอลเอ-5 (Lavochkin LA-5 เครื่องบินขับไล่) พูดโดยรวม รัสเซียสูญเสียเครื่องบินไป 1,130 ลำ เปรียบเทียบกับฝ่ายเยอรมนีที่สูญเสียไป 711 ลำ แต่ว่าเยอรมนีจะเจอปัญหาใหญ่ๆ ทีเดียวทั้งในเรื่องการหาเครื่องบินทดแทนลำที่สูญเสียไป ตลอดจนการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงมาอย่างเพียงพอสำหรับให้เครื่องบินของตนยังคงขึ้นบินต่อไปได้ เยอรมนียังสูญเสียนักบินชั้นเยี่ยมที่สุดของตนไปจำนวนหนึ่ง โดยในเวลาเดียวกันนั้น พวกนักบินรัสเซียซึ่งอยู่ในระดับ “อ่อนหัด” ได้เรียนรู้เพิ่มประสบการณ์มากขึ้นเรื่อยๆ จากการสู้รบจริงๆ

การสู้รบช่วงชิงเคิร์สต์ ซึ่งมีชื่อยุทธการว่า “ยุทธการซิทาเดล” (Operation Citadel) ถือว่าเป็นการสู้รบกันด้วยรถถังครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ฝ่ายเยอรมันมีรถถัง 2,700 คันสำหรับการรุกครั้งนี้ ส่วนฝ่ายรัสเซียมี 3,600 คัน รถถังฝ่ายเยอรมันที่ถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายอย่างหนักมีจำนวน 1,536 คัน สำหรับรถถังฝ่ายรัสเซียที่ถูกทำลายหรือเสียหายมีจำนวน 2,471 คัน รถถังนั้นบ่อยครั้งได้รับการซ่อมแซมและส่งกลับเข้าไปปฏิบัติการในสนามรบได้ใหม่ บางครั้ง 2 รอบหรือ 3 รอบทีเดียว
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.dupuyinstitute.org/blog/2018/12/26/comparative-tank-exchange-ratios-at-kursk/)

จอมพลอีริค ฟอน มานสไตน์ ขณะหารือกับ พลโท แฮร์มาน โฮธ ผู้บัญชาการกองทัพรถถังแพนเซอร์ที่ 4 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 1943 (ภาพจากวิกิพีเดีย)
ในการสู้รบที่ยูเครนซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ นอกเหนือจากพวกโดรน และพวกอาวุธยิงได้ไกลมีการนำทางอย่างแม่นยำ อย่างเช่น ขีปนาวุธสตอร์ม แชโดว์ (Stormshadow) ของสหราชอาณาจักรแล้ว กองทัพอากาศยูเครนแทบไม่ได้มีส่วนอะไรในสมรภูมิเลย

ตรงกันข้าม ฝ่ายรัสเซียกำลังใช้แสนยานุภาพทางอากาศของพวกตนและโดรนของพวกตนได้อย่างทรงประสิทธิภาพ ที่น่าประทับใจมากที่สุดคือ เฮลิคอปเตอร์ Ka-52 ติดตั้งขีปนาวุธ (ต่อสู้รถถัง) แบบวิคร์ (Vikhr missiles) เฮลิคอปเตอร์รุ่นนี้ยังสามารถประกอบเข้าอย่างเหมาะเจาะกับระบบต่อต้านอาวุธปล่อยนำวิถีด้วยความร้อนแบบยิงในทิศทางตรงๆ (directional infrared countermeasures หรือ DIRCM) นั่นคือ ระบบวิเตบสก์ แอล-370 (Vitebsk L-370)
(เรื่องของเฮลิคอปเตอร์ Ka-52 ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.airforce-technology.com/projects/ka52-alligator-attack-helicopter-russia/)
(เรื่องขีปนาวุธวิคร์ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.kalashnikovgroup.ru/media/raketno-artileriyskoe-vooruzhenie/kak-rabotaet-protivotankovaya-raketa-vikhr)
(เรื่องระบบวิเตบสก์ แอล-370 ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://theaviationist.com/2020/07/08/lets-talk-about-the-vitebsk-l370-the-russian-new-generation-directional-ir-countermeasure-dircm-system/)

ฝ่ายรัสเซียบอกว่า ระบบวิเตบสก์ ได้สร้างความปราชัยให้แก่พวกระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบประทับบ่ายิงของฝ่ายยูเครนเป็นจำนวนมาก ขณะที่ Ka-52 ก็น็อกเอาต์ทั้งรถถัง IFVs, APCs และ MRAPs มากมายในสัปดาห์ที่แล้ว รัสเซียจึงได้เพิ่มจำนวนเฮลิคอปเตอร์ในการสู้รบคราวนี้

ทั้งสองฝ่ายต่างกำลังใช้ทุ่นระเบิดชนิดที่โปรยลงมาจากทางอากาศ (บางครั้งจึงเรียกกันว่า ทุ่นระเบิดแบบหว่านโปรยได้ scatterable mines) พวกระบบกวาดทุ่นระเบิด รวมทั้งระบบระดับก้าวหน้าที่จัดส่งให้โดยสหรัฐฯ และชาตินาโตอื่นๆ ตลอดจนประเทศใกล้ชิดนาโต (เช่น สวีเดน) ไม่ประสบความสำเร็จในการจัดการกับทุ่นระเบิดประเภทนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ฝ่ายยูเครนได้นำเอายานกวาดทุ่นระเบิดอัตโนมัติคันหนึ่งมาใช้ ซึ่งน่าจะเป็นยานกวาดทุ่นระเบิด UR-77 ของรัสเซียที่ยูเครนยึดมาได้
(เรื่องทุ่นระเบิดโปรยจากทางอากาศ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://man.fas.org/dod-101/sys/land/fascam.htm)

ยานกวาดทุ่นระเบิดไร้คนขับแบบ UR-77 (ภาพจากวิกิพีเดีย)
ในสมรภูมิเคิร์สก์ปี 1943 ทุ่นระเบิดก็มีบทบาทที่สำคัญไม่ใช่น้อย อย่างไรก็ดี อาวุธต่อสู้รถถัง เวห์รมาคท์ (Wehrmacht) และรถถังแพนเซอร์ (Panzer) มีความสำคัญมากกว่า โดยได้สังหารรถถังรัสเซียไปเป็นจำนวนมากมายกว่าที่ฝ่ายรัสเซียสามารถแข่งขันได้จากการทำลายรถถังเยอรมันของพวกเขา

ฝ่ายรัสเซียได้นำเอารถถัง T-34 ของพวกเขาไปซุกซ่อนอำพรางไว้ ซึ่งช่วยปกป้องรถถังเหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง ทว่าก็ทำให้พวกมันตกเป็นเป้าหมายที่ทำลายได้ง่ายๆ เมื่อเกิดการสู้รบแบบตะลุมบอน ขณะที่ T-34 ได้รับการยกย่องชมเชยในเวลาต่อมา แต่มันมีจุดอ่อนตรงที่ไม่ได้มีกำลังยิงในระดับรถถังของเยอรมัน รวมทั้งไม่มีทัศนศาสตร์ที่แม่นยำ และทักษะการเติมน้ำมันที่พัฒนามาอย่างดีซึ่งเป็นสิ่งที่การฝึกอบรมแบบเยอรมันผลิตขึ้น

มี T-34 ถูกทำลายไปเป็นจำนวนสูงกว่ารถถังเยอรมันมากมายนัก ทว่าลงท้ายฝ่ายรัสเซียก็ยังคงสามารถทำให้กองทัพเยอรมนีพ่ายแพ้ได้

ลักษณะโดดเด่นอย่างหนึ่งของการรุกที่ฝ่ายเยอรมนีใช้ในการชิงแคว้นเคิร์สก์ ได้แก่การสู้รบอย่างดุเดือดเลือดพล่านรอบๆ เมืองเล็กๆ ชื่อ โปรโครอฟกา (Prokhorovka) –ซึ่งเป็นกิจการที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูงมาก และมีลักษณะตีได้แล้วก็เสียไปกลับไปกลับมา การโจมตีของฝ่ายเยอรมันนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธการโรแลนด์ (Operation Roland) และเป็นส่วนหนึ่งของการรุกที่มีขนาดกว้างขวางกว่านั้นอีกเพื่อช่วงชิงแคว้นเคิร์สก์ ซึ่งเยอรมนีเรียกชื่อว่า ยุทธการซิทาเดล

ในท้ายที่สุดแล้วฝ่ายรัสเซียสูญเสียทหารไป 800,000 คน (ทั้งถูกสังหารและได้รับบาดเจ็บ) เปรียบเทียบกับฝ่ายเยอรมันที่สูญเสียทหาร 200,000 คน –โดยที่ฝ่ายเยอรมันมีความตระหนักถึงความจริงที่ว่า กองทัพรัสเซียซึ่งฝ่ายเยอรมันเขมือบกินอย่างสบายก่อนหน้านี้ ได้สุกงอมกลายเป็นกองกำลังสู้รบที่น่านับถือ โดยมีลักษณะเด่นๆ อยู่ที่การบังคับบัญชาที่ดีขึ้น การร่วมมือประสานงานในสนามรบอยู่ในระดับสูงขึ้น และ –สิ่งสำคัญที่สุด ได้แก่ –ความปรารถนาที่จะยืนหยัดและสู้รบในท่ามกลางผู้บาดเจ็บล้มตายอย่างน่าสยดสยอง

รถถังหลักแบบ ที-34 ของกองทัพโซเวียตยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ได้รับการซ่อมแซมขึ้นมาใหม่หลังสงคราม (ภาพจากวิกิพีเดีย)
ยุทธการโรแลนด์เกิดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 14 กรกฎาคม ถึง 27 กรกฎาคมปี 1943 ฝ่ายเยอรมันได้ยุติการสู้รบเมื่อความสูญเสียต่างๆ ของพวกเขาบรรลุถึงระดับที่ไม่สามารถยอมรับได้อีกต่อไป

กองทัพที่ฝ่ายโซเวียตส่งเข้าสู่สนามรบในปี 1941 และปี 1942 นั้นมีระดับคุณภาพที่แตกต่างไปจากกองทัพโซเวียตในปี 1943 โดยที่ในปี 1943 มันคือกองทัพที่ผ่านการชนะสงครามชิงเมืองสตาลินกราด (Stalingrad) มาแล้ว และยืนหยัดได้อย่างมั่นคงเหนียวแน่นในการต้านทานการรุกครั้งใหม่ของฝ่ายเยอรมนีในแคว้นเคิร์สก์ การบังคับบัญชาของฝ่ายรัสเซียมีการปรับปรุงยกระดับดีขึ้นอย่างชัดเจน ยุทธวิธีต่างๆ มีการปรับปรุงยกระดับ เช่นเดียวกับเรื่องการข่าวกรองในสมรภูมิ

เปรียบเทียบกันแล้ว เมื่อพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในสมรภูมิยูเครนตอนนี้ กองทัพประจำการของรัสเซียซึ่งกำลังสู้รบอยู่ในเวลานี้ มีคุณภาพดีขึ้นอย่างห่างไกลจากสภาพที่มันเคยเป็นในระหว่างช่วงต้นๆ ของ “การปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ของปูติน

ตัว ปูติน เอง เมื่อเร็วๆ นี้ได้พูดจาหารือถึงปัญหาของพวกนายพลนั่งโต๊ะ หรือนายพลไม้ปาร์เกต์ (parquet generals) ซึ่งหมายถึงพวกนายพลที่อยู่แต่ในออฟฟิศของพวกตนโดยไม่ได้ออกมานำทัพในภาคสนามให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ในแง่นี้มันก็มีความเชื่อมโยงกับสงครามเคิร์สก์ปี 1943

สงครามในแคว้นซาโปริซเซียคราวนี้ดูมีความแตกต่างออกไปในหลายๆ ด้าน ฝ่ายรัสเซียขณะนี้กำลังเป็นฝ่ายป้องกัน แต่ก็ต้านทานการบุกโจมตีครั้งแล้วครั้งเล่าของฝ่ายยูเครนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราไม่ทราบอะไรมากนักเกี่ยวกับความสูญเสียของฝ่ายรัสเซียไม่ว่าในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์หรือในด้านกำลังพล แต่ดูเหมือนว่าการโจมตีของฝ่ายยูเครนนั้นโดยส่วนใหญ่แล้ว ตอนนี้อยู่ในสภาพล่าถอยกลับไป ขณะที่สร้างค่าใช้จ่ายแพงลิ่วทั้งสำหรับยูเครน และสำหรับพวกซัปพลายเออร์ชาวตะวันตก

ยูเครนได้ใช้กำลังของตนราวๆ 20 ถึง 30% เข้าไปในการสู้รบครั้งนี้ โดยมีทั้งพวกกองพลน้อยที่ผ่านการฝึกอบรมจากฝ่ายตะวันตก และพวกกองพลน้อยสำรองที่ปราศจากพื้นฐานทักษะของกองพลน้อยตามแบบแผนการจัดตั้งของนาโต

มีกองพลน้อยของยูเครนที่ใช้ในการโจมตีบางหน่วยตกอยู่ในสภาพเสียหายแหลกลาญ บางหน่วยก็ถูกสั่งถอยออกมาเนื่องจากไร้ประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีข้อมูลข่าวสารที่หนักแน่นน่าเชื่อถือใดๆ เกี่ยวกับการบาดเจ็บล้มตายโดยรวมในการบุกของฝ่ายยูเครนคราวนี้ แต่ประมาณกันว่าต้องอยู่ในเรือนพันๆ คน พวกอาวุธยุทโธปกรณ์ของฝ่ายตะวันตกที่ถูกประโคมโฆษณาเอาไว้มากมายนั้น มีบางชิ้นถูกทำลายไปแล้ว เป็นต้นว่า รถถังลีโอพาร์ด (Leopard tank) จากเยอรมนีและโปแลนด์ และยานสู้รบแบรดลีย์ (Bradley fighting vehicle) จากสหรัฐฯ

รถหุ้มเกราะต้านทานทุ่นระเบิดและการซุ่มโจมตี (MRAPs) ของอเมริกันที่ออกแบบมาสำหรับใช้ในอิรักและอัฟกานิสถาน ก็ถูกฝ่ายรัสเซียทำลายเสียหายหนัก แน่นอนอยู่แล้วว่า MRAPs ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ปกป้องกองทหารจากพวกระเบิดแสวงเครื่อง (improvised explosive devices หรือ IEDs) ยานลำเลียงทหารขนาดหนักเหล่านี้ไม่ได้หุ้มเกราะหนาเพื่อหยุดยั้งพวกอาวุธต่อสู้รถถังสมัยใหม่ หรือพวกอากาศยานไร้นักบินประเภทกามิกาเซ อย่างเช่น โดรน ซาลา แลนสิท (ZALA Lancet) ของรัสเซีย

โดรน ZALA Lancet (ภาพจากวิกิพีเดีย)
ในการสู้รบชิงแคว้นเคิร์สก์ ทั้งสองฝ่ายต่างมีการปฏิบัติการเพื่อรวบรวมข่าวกรองจากกันและกัน รวมทั้งการดักฟังวิทยุสื่อสาร ในสมรภูมิซาโปริซเซียปี 2023 ข่าวกรองเป็นสิ่งที่ได้มาจากพวกทรัพยากรซึ่งอยู่เหนือศีรษะ ฝ่ายยูเครนนั้นมีพวกโดรน แล้วพวกเขายังมีเครื่องบินสอดแนมของสหรัฐฯ และของนาโตที่กำลังเฝ้าจับตาสมรภูมิจากน่านน้ำสากลในทะเลดำ ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงพวกดาวเทียม ฝ่ายรัสเซียก็มีทั้งดาวเทียมทางทหารและอากาศยานไร้นักบินเช่นกัน ฝ่ายรัสเซียยังนำเอาพวกอุปกรณ์รบกวนสัญญาณเข้ามาใช้จนท่วมท้นสมรภูมิ รวมทั้งยังคอยโจมตีเรดาร์และศูนย์บังคับบัญชาสั่งการของข้าศึกอย่างสม่ำเสมอ

จวบจนถึงเวลานี้ ยกเว้นแต่การโจมตีตอบโต้ของฝ่ายรัสเซียในท้องที่บางแห่งซึ่งปกติเกิดขึ้นภายหลังฝ่ายยูเครนสามารถรุกคืบหน้าชิงดินแดนไปได้บางส่วนแล้ว ฝ่ายรัสเซียยังไม่ได้เปิดการรุกตอบโต้ใดๆ ของฝ่ายตนเองเลย มอสโกตัดสินใจที่จะทำเช่นนี้ต่อไปหรือไม่ในอนาคตยังคงเป็นคำถามปลายเปิด ยุทธศาสตร์ของฝ่ายรัสเซียนั้น --อย่างน้อยที่สุดก็จวบจนถึงเวลานี้ --คือการทำให้กองกำลังของยูเครนอ่อนล้าหมดแรง และลดทอนขวัญกำลังใจในการสู้รบของพวกเขา นี่คือสิ่งที่แตกต่างไปจากสงครามแคว้นเคิร์สก์ ซึ่งฝ่ายรัสเซียมีการหันมาเป็นฝ่ายรุก และมีความปรารถนาที่จะยอมรับความเสียหายอันสุดโหด เพื่อยันการรุกของฝ่ายนาซีกันแบบทื่อๆ ตรงๆ

การรุกของฝ่ายยูเครนเวลานี้ยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ทว่าดูเหมือนมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างแล้วเช่นกัน ซึ่งอาจจะเป็นการส่อนัยถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

บางทีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจที่สุดได้แก่ การที่ยูเครนไม่ได้ใช้ยานเกราะของตนเป็นหัวหอกของการโจมตีใส่แนวป้องกันของฝ่ายรัสเซียอีกต่อไปแล้ว แต่หันมาใช้ทหารราบแทน นี่เองทำให้จำนวนการบาดเจ็บล้มตายของฝ่ายยูเครนพุ่งปรี๊ด และยังกำลังสร้างปัญหาด้านขวัญกำลังใจขึ้นมา เมื่อหน่วยทหารยูเครนบางหน่วยกำลังปฏิเสธไม่ยอมเข้าสู้รบ หรือกำลังทิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์ของตนเอาดื้อๆ และในบางกรณีกระทั่งยอมจำนนกับฝ่ายรัสเซีย เป็นเรื่องไม่ถูกต้องหากคิดว่าการเสียขวัญหมดกำลังใจเช่นนี้กำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง แต่หลักฐานที่ปรากฏชี้ชัดว่ามันเป็นสิ่งที่มีปรากฏขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสัปดาห์ของวันที่ 12 มิถุนายน ซึ่งขวัญกำลังใจในการสู้รบของยูเครนกำลังพังครืน

เป้าหมายของ เซเลนสกี สำหรับการรุกของฝ่ายยูเครนครั้งนี้คือการทำให้นาโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ บังเกิดความมั่นใจในหลายๆ สิ่ง

ประการแรกเลยคือ ยูเครนควรได้เข้าสู่นาโต อย่างเป็นทางการบนพื้นฐานอะไรสักอย่าง เพื่อเป็นหนทางหนึ่งในการสร้างพันธะผูกพันนาโตว่าจะคอยส่งกำลังบำรุงให้ยูเครนต่อไป ยังมีบางคนบางฝ่ายคิดว่าความคาดหวังอย่างลับๆ ของ เซเลนสกี อยู่ที่การทำให้นาโตส่งกำลังทหารและแสนยานุภาพทางอากาศเข้ามาช่วยเหลือเขาให้หลุดพ้นภาวะล้มละลายด้วยซ้ำไป เซเลนสกี ต้องการอะไรมากกว่าแค่คำรับรองด้านความมั่นคงที่หลวมๆ ไม่ชัดเจนบางอย่างบางประการเท่านั้น ขณะที่พวกชาติสมาชิกนาโตอาจจะไม่สามารถบรรลุฉันทมติสำหรับการให้สิ่งเหล่านี้

เหตุผลประการที่สองสำหรับการรุกครั้งนี้ คือเพื่อสาธิตให้เห็นความสามารถของยูเครน ในการช่วงชิงดินแดนที่รัสเซียครอบครองอยู่กลับคืนมา เซเลนสกี และพวกนายพลของเขาทราบดีว่า นี่คือสิ่งที่นาโต และวอชิงตัน คาดหวัง และเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการเห็นหลังจากการทุ่มเทเงินทองค่าใช้จ่ายไปแล้วมากมาย

มันเป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกช็อกสำหรับยูเครน และสำหรับตัว เซเลนสกี เป็นการส่วนตัว จากการประสบความพ่ายแพ้ในการสู้รบชิงเมืองบัคมุต (Bakhmut) ยูเครนยังคงกำลังพยายามหาทางยึดบัคมุตคืน ทว่าแทบไม่ประสบความสำเร็จเอาเลย ยูเครนจำเป็นต้องแสดงให้เห็นความก้าวหน้าอย่างสำคัญในการรุกที่ซาโปริซเซีย ก่อนหน้าการประชุมซัมมิตครั้งใหญ่ของนาโต ที่กรุงวิลนีอุส, ลิทัวเนีย ในวันที่ 7 กรกฎาคมนี้ อย่างไรก็ตาม จากสภาพการสู้รบที่ดำเนินอยู่ในแคว้นดังกล่าวเวลานี้ สิ่งนี้คงไม่อาจจะเกิดขึ้นได้

นาโตยังอาจจำเป็นที่จะต้องขบคิดพิจารณาใหม่เกี่ยวกับแนวพินิจของตนในเรื่องยูเครน และกระทั่งอาจจำเป็นต้องตัดสินใจว่าจะเสี่ยงภัยแค่ไหนกับยูเครน ถึงแม้ตัวเลขาธิการนาโตยังคงเที่ยวพูดจาคุยโตเพื่อเอาอกเอาใจฝ่ายต่างๆ อยู่ก็ตามที หลักฐานเบื้องต้นที่ออกมาเกี่ยวกับการวางแผนของฝ่ายตะวันตกในการรุกของฝ่ายยูเครน และผลงานของอาวุธยุทโธปกรณ์ของฝ่ายตะวันตก กำลังมีผลเป็นการบ่อนทำลายความเชื่อมั่นภายในนาโตเอง

เป็นความจริงที่ว่าอาวุธบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องบิน F-16 ยังไม่ได้ถูกนำเข้าสู่การปฏิบัติการในปัจจุบันในยูเครน ทว่าพวกระบบเพื่อการป้องกันของนาโตอย่างอื่นๆ ตั้งแต่พวกระบบป้องกันภัยทางอากาศไปจนถึงยานเกราะระดับก้าวหน้าอย่างเช่นรถถังลีโอพาร์ด ต่างไม่สามารถสร้างผลงานที่ดีเพียงพอ และตกเป็นเหยื่อถูกล่าด้วยการโจมตีตอบโต้กลับของฝ่ายรัสเซีย เรื่องนี้ไม่ใช่ลางดีเลยสำหรับการป้องกันประเทศสมาชิกนาโตเองในอนาคต นาโตที่มองการณ์ตรงความเป็นจริงสมควรที่จะต้องขบคิดแล้วเกี่ยวกับวิธีการในการปกป้องรักษาพื้นที่ซึ่งเป็นใจกลางของตน แทนที่จะเผาผลาญทรัพยากรของตนไปกับประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกนาโตรายหนึ่ง ไม่ว่ามันจะมีโอกาสทางยุทธศาสตร์ดีงามสักเพียงไหนที่นาโตอาจจะได้รับ ถ้าหากสามารถควบคุมยูเครนเอาไว้ได้

ศึกชิงแคว้นเคิร์สก์ เป็นสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่แผนยุทธศาสตร์ของนาซีเยอรมนี และเป็นการกระหน่ำตีอย่างแรงครั้งใหญ่ใส่เหล่านายพลของฮิตเลอร์ รวมทั้งตัวฮิตเลอร์เอง หลังจากสงครามที่เคิร์สก์แล้ว มันก็คือจุดสิ้นสุดการปฏิบัติการทางยุทธศาสตร์ของนาซีเยอรมนีต่อดินแดนโซเวียต นั่นก็คือ การยุติปิดฉากแนวรบด้านตะวันออก ถึงตอนนั้นกองทัพโซเวียตก็สามารถที่จะรวมกลุ่มจัดกำลังใหม่ และไล่ตามโจมตีแนวป้องกันของนาซีในโรมาเนีย โปแลนด์ และฮังการี และเริ่มการเดินหน้ามุ่งสู่กรุงเบอร์ลิน

สำหรับการสู้รบในซาโปริซเซีย เรายังไม่ทราบว่าถึงผลลัพธ์ที่จะออกมา และยังคงต้องเดินกันไปอีกไกลทีเดียว แต่ถ้าหากแบบแผนซึ่งปรากฏให้เห็นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมายังคงดำเนินต่อเนื่องไปในอนาคตแล้ว กองทัพยูเครนและเซเลเนสกี จะตกอยู่ในสภาพเดียวกันกับที่เหล่านายพลระดับท็อปของกองทัพนาซีเยอรมนีและฮิตเลอร์ ต้องเผชิญภายหลังการล่าถอยออกจากเคิร์สก์

อย่างไรก็ดี ประเด็นปัญหาสำคัญที่สุดจริงๆ แล้ว ก็คือเรื่องอนาคตของนาโต และความสนับสนุนสำหรับการที่นาโตจะออกไปปฏิบัติการต่างๆ นอกพรมแดนของตน การที่นาโตเข้าร่วมในการปฏิบัติการต่างๆ ที่ด้านนอกออกไปจากขอบเขตของกลุ่มพันธมิตรเพื่อการป้องกันแห่งนี้ เป็นสิ่งซึ่งก่อให้เกิดคำถามมานานแล้วเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ขององค์การที่ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการของนาโต

ยูเครนกำลังก่อให้เกิดคำถามใหญ่ยิ่งกว่าที่ผ่านๆ มา เนื่องจากนาโตกำลังให้สัญญาแก่ ยูเครน ที่จะได้เข้าเป็นสมาชิกนาโตในอนาคตในทันทีที่สงครามคราวนี้ปิดฉากลง เวลานี้กำลังเกิดการขบคิดพิจารณากันใหม่ –โดยล่าสุดคือการส่งเสียงพูดเรื่องนี้ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ แน่นอนทีเดียว ไบเดน ไม่ได้ไปถึงข้อสรุปเช่นนี้ด้วยตัวของเขาเองหรอก เขาจำเป็นต้องให้สงครามคราวนี้ดำเนินต่อไปจนกว่าเขาจะชนะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่ง ทว่ามันดูเหมือนกับว่า เวลานี้วอชิงตันกำลังขบคิดพิจารณาใหม่เกี่ยวกับการยืนกรานที่จะต้องเดินหน้าไปสู่ชัยชนะของพวกเขา
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.msn.com/en-us/news/world/not-automatic-biden-says-us-wont-support-fast-tracked-path-for-ukraine-into-nato/ar-AA1cGmzb)

ยกเว้นแต่จะได้ชัยชนะซึ่งดูลำบากยากเย็นเหลือเกินแล้ว ความล้มเหลวอย่างเด็ดขาดชัดเจนใดๆ ในยูเครน น่าที่จะส่งผลทำให้ความพยายามที่จะขยายตัวของนาโตต้องหยุดชะงักลง และเปิดโปงให้เห็นจุดอ่อนต่างๆ มากมายที่อาจต้องใช้เวลาเป็นปีๆ ในการแก้ไขซ่อมแซม –ถ้าหากว่ามันสามารถแก้ไขซ่อมแซมได้

เซเลนสกี อาจจะต้องพยายามอ่านสัญญาณต่างๆ เพื่อคาดการณ์อนาคตให้ออก และชะลอสงครามลงเพื่อหลีกเลี่ยงความหายนะ ขณะเดียวกับที่เขาต้องใช้ความพยายามต่อไปเพื่อให้ วอชิงตัน ยังคงเข้ามีส่วนร่วม นี่ดูจะเป็นหมากเด็ดที่ดูงดงามเหมาะเจาะทีเดียว ทว่าดูเหมือนว่า เซเลนสกี ไม่ได้เตรียมตัวที่จะนำเอาทางเลือกนี้มาใช้

ฮิตเลอร์เข้าใจดีเมื่อการสู้รบที่เคิร์สก์ประสบความพ่ายแพ้ เขาล่าถอยและยุติยุทธการบาร์บารอสซา (Operation Barbarossa ชื่อรหัสของนาซีเยอรมนีที่ใช้เรียกการรุกรานสหภาพโซเวียตในสงครามโลกครั้งที่สอง) ยุติการรุกทางแนวรบด้านตะวันออก ถ้าหากการรุกของฝ่ายยูเครนยังคงอยู่ในอาการโซซัดโซเซต่อไปแล้ว เซเลนสกีจะต้องเผชิญทางเลือกทำนองเดียวกัน

สตีเฟน ไบรเอน เป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ Center for Security Policy และ Yorktown Institute ข้อเขียนเกี่ยวกับสถานการณ์ชิ้นนี้ เผยแพร่ทีแรกสุดอยู่ในบล็อก Substack, Weapons and Strategy ของผู้เขียน
กำลังโหลดความคิดเห็น