ผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตให้สัมภาษณ์สื่อที่ออสเตรเลียวันนี้ (21 มิ.ย.) ว่าเศรษฐกิจจีนซึ่งมีแนวโน้มถดถอยลงอาจทำให้รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ตัดสินใจโจมตีไต้หวัน หรือยกระดับการเผชิญหน้าทางทหารกับอินเดีย และนี่คือพลวัตที่ควรจะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด
เปนปา เชอริง (Penpa Tsering) ผู้นำฝ่ายบริหารกลางทิเบต (Central Tibetan Administration - CTA) ให้สัมภาษณ์ที่สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งออสเตรเลีย (National Press Club) ในกรุงแคนเบอร์รา โดยเปรียบเทียบนโยบายของจีนที่บังคับส่งเด็กทิเบตเข้าโรงเรียนประจำและเก็บข้อมูลดีเอ็นเอว่าไม่ต่างอะไรกับออสเตรเลียในอดีตที่เคยแยกเด็กชนพื้นเมืองออกจากครอบครัว
รัฐสภาออสเตรเลียได้ออกมาขออภัยเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว รวมถึงผลลัพธ์ของมันซึ่งทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "Stolen Generation"
เชอริง ระบุว่า ปักกิ่งมีข้อพิพาทดินแดนกับอินเดีย ไต้หวัน รวมถึงปัญหาทะเลจีนใต้ ทว่าสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ คือเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งเวลานี้กำลังเข้าสู่ “ขาลง” และมีคนหนุ่มสาวจีนว่างงานมากขึ้นเรื่อยๆ
“ทุกวันนี้จีนอยู่ในภาวะที่ไม่มั่นคงปลอดภัย ดังนั้น เราจึงต้องเฝ้าจับตาดูพลวัตนี้ และสำหรับตัวผมเองเชื่อว่า หากมีภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของพรรคคอมมิวนิสต์ พวกเขาจะโจมตีสถานที่เหล่านี้อย่างแน่นอน”
สถานทูตจีนประจำกรุงแคนเบอร์ราเรียกร้องให้สมาคมผู้สื่อข่าวและนักหนังสือพิมพ์ยกเลิกการปราศรัยของ เชอริง และเวลานี้ยังไม่ออกมาให้ความคิดเห็นใดๆ เพิ่มเติม
ตำแหน่งผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต หรือ ‘Sikyong’ ถูกตั้งขึ้นเมื่อปี 2012 หลังจากที่องค์ทะไลลามะ ผู้นำจิตวิญญาณสูงสุดของชาวทิเบต ตัดสินใจสละอำนาจทางการเมือง เพื่อเห็นแก่องค์กรซึ่งอาจจะมีอายุยืนยาวกว่าตัวของท่าน
รัฐบาลจีนกล่าวหาทะไลลามะว่าเป็นผู้ปลุกปั่นขบวนการแบ่งแยกดินแดนทิเบต และไม่ยอมรับสถานะของ CTA ซึ่งเป็นตัวแทนชาวทิเบตราว 100,000 คน ที่อาศัยกระจัดกระจายอยู่ใน 30 ประเทศทั่วโลก รวมถึงอินเดีย เนปาล แคนาดา และสหรัฐฯ
ที่มา : รอยเตอร์