เอเจนซีส์ - หลักฐานสำคัญที่ถูกถ่ายไว้ได้โดยโดรนของยูเครนเมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นรถยนต์สีขาวบรรทุกระเบิดด้านในหลังคาเปิดจอดบนสันเขื่อนคาคอฟกา (Kakhovka) ไม่นานก่อนเกิดระเบิด ระหว่างที่พื้นที่โดยรอบอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังรัสเซีย กลายเป็นหลักฐานเด็ดชี้ชัด “เครมลิน” อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เขื่อนแตก หลังมีการระบุยืนยันการระเบิดจุดแรกมาจากห้องเครื่องควบคุมของเขื่อน
เอบีซีนิวส์ของออสเตรเลียรายงานวันนี้ (19 มิ.ย.) ว่า รัสเซียมีหนทาง เป้าหมาย และโอกาสในการที่จะทำลายเขื่อนยูเครนที่เพิ่งแตกไปเมื่อต้นเดือนนี้ระหว่างที่พื้นที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังรัสเซีย อ้างอิงภาพจากโดรนของยูเครนที่ถ่ายไว้ได้เมื่อวันที่ 28 พ.ค. และการรวบรวมจากเอพี
ภาพโดรนนี้เป็นภาพถยนต์สีขาวที่มีระเบิดอยู่ด้านใน และหลังคารถถูกเจาะเป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่
ภาพแสดงให้เห็นว่าภายในรถมีถังบาร์เรลขนาดใหญ่หลายถัง ซึ่งหนึ่งในนั้นพบว่ามีทุ่นระเบิดติดอยู่ด้านบน และพบว่ามีสายที่ออกมาจากถังบาร์เรลไปสู่อีกด้านของแม่น้ำที่ถูกควบคุมโดยกองกำลังรัสเซีย ภาพถ่ายโดรนนี้ทางฝ่ายยูเครนได้มอบให้เอพี
เจ้าหน้าที่หน่วยสื่อสารพิเศษยูเครนเปิดเผยกับเอพีว่า เขาเชื่อว่ารถที่ถูกจอดบนสันเขื่อนคาคอฟกามี 2 เป้าหมาย คือ เพื่อหยุดการรุกคืบของกองกำลังยูเครนมาที่เขื่อน และเพิ่มกำลังการระเบิดตามแผนเริ่มต้นมาจากห้องเครื่องและทำลายสันเขื่อน
อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นที่แน่ชัดว่ารถคันนี้ถูกจอดมานานเท่าใด ซึ่งระเบิดคาร์บอมบ์นั้นไม่แรงพอที่จะทำให้เขื่อนคาคอฟกาที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยอดีตสหภาพโซเวียตพังลงไปได้ อ้างอิงจากเจ้าหน้าที่ที่ไม่ยอมเปิดเผยชื่อ
ระเบิดเกิดขึ้นเมื่อเวลา 02.54 น.ตามเวลาท้องถิ่นยูเครนเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตามการบันทึกวัดของหน่วยงานทางแผ่นดินไหววิทยาของนอร์เวย์ NORSAR พบว่าแรงระเบิดมีความรุนแรงเกือบ 2 แมกนิจูด
ผู้อำนวยการ NORSAR แอนน์ สโตมเมน ลิค (Anne Strømmen Lycke) ยืนยันว่า “นี่หมายความว่าเป็นการระเบิดที่ร้ายแรงมาก” โดยเธอได้เปรียบเทียบการระเบิดเขื่อนยูเครนกับการระเบิดท่าเรือเบรุตที่ทำให้มีคนเป็นจำนวนมากเสียชีวิตนั้นตรวจพบความแรงของระเบิดไว้ที่ 3.3 แมกนิจูด สำหรับการใช้ระเบิดที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 500 ตัน
ซึ่งแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ 2 คนกล่าวว่า กองกำลังรัสเซียประจำอยู่ในพื้นที่สำคัญภายในเขื่อน
หน่วยข่าวกรองยูเครนยังเปิดเผยข้อมูลข่าวกรองลับที่สามารถดักฟังได้เป็นการสื่อสารระหว่างทหารรัสเซีย 1 นาย และคนอื่นโดยในข้อความทหารรัสเซียกล่าวว่า “กลุ่มแทรกซึมทำลายของเราอยู่ที่นั่น” และเสริมต่อว่า “พวกเขาต้องการทำให้เขื่อนเกิดรอยแผลขึ้น แต่มันไม่ค่อยเป็นไปตามแผน”
เอบีซีนิวส์ของออสเตรเลียชี้ว่า ไม่กี่วันก่อนเขื่อนแตกเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. กองกำลังรัสเซียได้ส่งกองกำลังแม่นปืนไปประจำตั้งอยู่ที่ห้องเครื่องของเขื่อนที่บริษัทบริหารเขื่อนยูเครนคือ Ukrhydroenergo ชี้ไปว่า การระเบิดเริ่มแรกมาจากห้องเครื่องควบคุม
ประธานาธิบดียูเครน วลาดิมีร์ เซเลนสกี เคยกล่าวไว้เร็วสุดเมื่อตุลาคมปีที่แล้วว่า เขื่อนโดนวางระเบิด
ขณะที่ผู้บัญชาการรบยูเครน เซลินสกี (Zelinskyi) ที่ไม่เกี่ยวข้องกับประธานาธิบดีเซเลนสกี ยืนยันเช่นกันว่า ระเบิดเริ่มต้นมาจากห้องเครื่องควบคุม ซึ่งทั้งตัวเขาและเจ้าหน้าที่อเมริกันที่เกี่ยวข้องกับข่าวกรองลับต่างยืนยันว่า กองกำลังรัสเซียอยู่ที่นั่นมาเป็นเวลาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว สอดคล้องกับการประเมินของสถาบันธิงแทงก์อเมริกันชื่อดัง สถาบันการศึกษาสงครามสหรัฐฯ (Institute for the Study of War) ประเมินว่า เครมลินต้องการที่จะระเบิดเขื่อนคาคอฟกาของยูเครน
เอบีซีนิวส์รายงานว่า ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน สัปดาห์ที่แล้วนั้นได้ออกมากล่าวเป็นนัยยอมรับว่า การที่เขื่อนยูเครนเสียหายหนักนั้นถือเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายรัสเซียในสนามรบ ถึงแม้ยังคงปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่า การพังทลายของเขื่อนไม่เกี่ยวข้องกับรัสเซีย
“นี่มันอาจฟังแปลกประหลาด แต่ไม่ว่าอย่างไรช่างเป็นสิ่งที่น่าโชคร้ายที่นี่จะขัดขวางการต่อสู้กลับของพวกเขาในพื้นที่นั้น” ปูตินกล่าว
ทั้งนี้ ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเขื่อนยูเครนแตกล่าสุดอยู่ที่ 16 คน อ้างอิงจากเคียฟ ขณะที่ฝ่ายเครมลินอ้างว่า มีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นในพื้นที่การควบคุมของรัสเซีย
รัสเซียถูกกล่าวหาว่าได้ประโยชน์จากเงื่อนเวลาที่เขื่อนคาคอฟกาเกิดแตก และส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ครั้งมโหฬารตามมาหลังจากนั้น
แหล่งข่าวผู้บัญชาการรบยูเครน 2 นายที่อยู่ในพื้นที่แต่ไม่ได้อยู่ในจุดเดียวกันเปิดเผยกับเอพีว่า การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำอย่างรวดเร็วทำให้เกิดท่วมทั้งฝ่ายที่ตั้งของพวกเขาและในพื้นที่ของฝ่ายรัสเซีย
นอกจากนี้ ผลจากน้ำท่วมใหญ่ยังทำให้ยุทโธปกรณ์อุปกรณ์เสียหายหรือถูกทำลาย ส่งผลทำให้คนเหล่านั้นต้องกลับมาวางแผนใหม่ระหว่างกำลังเผชิญหน้ากับกองทัพโคลนขนาดมหึมาไปทั่ว
“มันถือเป็นเรื่องปกติที่ต้องมีการวางระเบิดก่อนการถอย” ผู้บัญชาการ Bugskiy Gard ของยูเครน อิลเลีย เซลินสกี (Illia Zelinskyi) กล่าว และเสริมต่อว่า “แต่ในภายใต้ขอบเขตนี้ ปฏิบัติการคนเหล่านั้นได้ขัดขวางบางส่วนของห่วงโซ่ซัปพลายของพวกเรา รวมไปถึงความซับซ้อนของการข้ามแม่น้ำดริโปร (Dnipro) ของพวกเรา”