ท่ามกลางความตึงเครียดกับจีน สหรัฐฯ กำลังวางแผนอพยพพลเรือนออกจากไต้หวัน หากความขัดแย้งปะทุขึ้นบนเกาะแห่งนี้ ท่ามกลางความกังวลว่ามันอาจทำให้อเมริกันชนติดค้างหลายหมื่นคน ตามรายงานของ The Messenger เว็บไซต์ข่าวสัญชาติอเมริกาเมื่อวันจันทร์ (12 มิ.ย.)
เว็บไซต์ข่าว The Messenger รายงานอ้างเจ้าหน้าที่ข่าวกรองระดับสูงของสหรัฐฯ รายหนึ่งระบุว่า กระบวนการวางแผนดำเนินการมาเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนแล้ว และบอกว่า "ความตึงเครียดระดับสูงสุดคือแรงขับเคลื่อนนำไปสู่การเตรียมการดังกล่าว"
แหล่งข่าวอีกคนบอกกับ The Messenger ว่าปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน บีบให้สหรัฐฯ ต้องพิจารณาตระเตรียมความพร้อมในไต้หวัน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นจุดวาบไฟแห่งการเผชิญหน้าใดๆ ระหว่างอเมริกากับจีน
สหรัฐฯ ดำเนินการอพยพบรรดาเจ้าหน้าที่สถานทูตเกือบทั้งหมดออกจากกรุงเคียฟ ราว 2 สัปดาห์ ก่อนทหารรัสเซียยกพลบุกยูเครน หลังจากเตือนพลเมืองอเมริกาล่วงหน้าหลายเดือนให้ใช้หนทางในเชิงพาณิชย์เดินทางออกจากประเทศแห่งนี้
กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ไม่ได้ออกคำเตือนห้ามพลเมืองอเมริกาเดินทางเยือนไต้หวัน และปัจจุบันกำหนดให้เกาะแห่งนี้อยู่ในระดับต่ำสุด ในคำเตือนด้านการเดินทาง 4 ขั้นของพวกเขา อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวของ The Messenger ระบุว่า การร่างแผนอพยพเป็นการดำเนินการอย่างลับๆ "สืบเนื่องจากมันเป็นหัวข้อที่อ่อนไหวสำหรับรัฐบาลไต้หวัน"
ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ไม่แสดงความคิดเห็นต่อรายงานข่าวของ The Messenger แต่เจ้าหน้าที่รายหนึ่งบอกว่าการปิดเป็นความลับถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจาก "แม้กระทั่งแค่พูดถึงแผนอพยพ ผู้คนก็จะเริ่มคิดว่าบางทีมันอาจไม่ใช่แค่การวางแผนเพื่อระมัดระวังไว้ก่อน"
จนถึงปี 2019 มีพลเมืองเอเมริกาพักอาศัยอยู่ในไต้หวันมากกว่า 80,000 คน ปัจจัยทางภูมิศาสตร์จะทำให้การอพยพพลเมืองเหล่านี้เป็นไปอย่างยากลำบาก แหล่งข่าวระบุ และอธิบายว่าสถานที่มากมายบนเกาะเชื่อมโยงกันโดยเส้นทางเดียวผ่านอุโมงค์ต่างๆ และบรรดาเรืออพยพจำเป็นต้องหลบหลีกผ่านกองเรือของกองทัพเรือในการมุ่งหน้าสู่ไต้หวัน
รัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ใช้ท่าทีที่เป็นปรปักษ์มากขึ้นเรื่อยๆ กับจีนนับตั้งแต่ปี 2021 ตราหน้าปักกิ่งซ้ำๆ ว่าเป็นคู่แข่งสำคัญของอเมริกา พร้อมกับยกระดับความเคลื่อนไหวของกองทัพสหรัฐฯ ในภูมิภาค
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้ลงนามในข้อตกลงใหม่ทางทหารและเศรษฐกิจกับบรรดาพันธมิตรทั้งหลายในเอเชีย รวมถึงยังคงเดินหน้าส่งเรือรบล่องผ่านช่องแคบไต้หวันแทบเดือนละครั้ง นับตั้งแต่ ไบเดน เข้ารับตำแหน่ง ในส่วนของจีน มองสิ่งที่อเมริกาอ้างว่า "เสรีภาพแห่งการเดินเรือ" เป็นการยั่วยุ และตอบโต้ด้วยการจัดซ้อมรบทางทหารของตนเอง
ไบเดน ยังคงพูดตามวาระโอกาสต่างๆ มาแล้ว 4 ครั้ง ว่าเขาจะตอบโต้ด้วยกำลังทหาร หากปักกิ่งพยายามใช้กำลังบีบบังคับให้ไต้หวันรวมชาติกับจีนแผ่นดินใหญ่ ปักกิ่งประณามอย่างดุเดือดต่อถ้อยแถลงเหล่านี้ว่าเป็นการละเมิดนโยบายที่สหรัฐฯ ยึดถือมานาน ที่ว่าพวกเขายอมรับ แต่ไม่รับรอง อำนาจอธิปไตยของจีนเหนือเกาะไต้หวัน
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์/The Messenger)