มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ยอมรับ "เฟซบุ๊ก" ถูกผู้มีอำนาจในแวดวงวิทยาศาสตร์ (scientific ‘establishment’) เรียกร้องให้ปิดกั้นโพสต์ที่นำเสนอข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งสุดท้ายแล้วข้อมูลบางอย่างถูกพบว่ามีความเป็นไปได้ หรือแม้กระทั่งเป็น “เรื่องจริง”
ซีอีโอ และผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กได้ให้สัมภาษณ์กับ เล็กซ์ ฟริดแมน นักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ ผ่านรายการพอดแคสต์ ‘Lex Fridman Podcast’ เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (8 มิ.ย.) โดยได้เอ่ยถึงปัญหาและความท้าทายต่างๆ ที่เฟซบุ๊กต้องเผชิญในการบังคับใช้นโยบายของแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะการต่อต้านพวกข้อมูลบิดเบือน (misinformation)
ซักเคอร์เบิร์ก ยอมรับว่าการเซ็นเซอร์ข้อมูลไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป เพราะข้อมูลบางอย่างแม้จะผิดพลาด “แต่อาจไม่เป็นอันตรายก็ได้ ดังนั้นคุณต้องตัดสินใจว่าจะเซ็นเซอร์คนคนหนึ่งเพียงเพราะเขาโพสต์ข้อมูลที่ผิด แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายอย่างนั้นเหรอ”
เขาได้ยกตัวอย่างช่วงที่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดใหม่ๆ “แม้มันจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คน แต่ตอนนั้นเรายังไม่มีเวลาพอที่จะตรวจสอบหรือคัดกรองสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีออกมามากมาย และผมคิดว่ากลุ่มผู้มีอำนาจได้ปิดกั้นข้อเท็จจริงไปหลายอย่าง”
ซักเคอร์เบิร์ก ยอมรับว่า “กลุ่มผู้มีอำนาจ” ที่ว่านี้พยายามโน้มน้าวให้เฟซบุ๊ก “เซ็นเซอร์ข้อมูลหลายอย่าง ซึ่งเมื่อนึกย้อนกลับไปแล้วจะพบว่า มันเป็นสิ่งที่สามารถโต้เถียงได้ (debatable) หรือแม้กระทั่งเป็นความจริง”
เขายังบอกด้วยว่า การที่ประชาคมวิทยาศาสตร์กดดันให้เฟซบุ๊กเซ็นเซอร์ข้อมูลเหล่านี้ยิ่งทำให้สาธารณชน "หมดความเชื่อมั่น"
ซักเคอร์เบิร์ก เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อ CBS ในช่วงโควิด-19 ระบาดรุนแรงเมื่อปี 2021 ว่า เฟซบุ๊กได้ลบโพสต์ที่ให้ข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับโควิด-19 ไปมากถึง 18 ล้านโพสต์
“ถ้าเราพบเห็นข้อมูลที่อาจเป็นอันตรายบนแพลตฟอร์ม เราก็จะลบมันทิ้ง เพราะมันขัดต่อนโยบายของเรา” เขากล่าว
อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าระบบต่อต้านข่าวปลอมของเฟซบุ๊กไม่ได้ "สมบูรณ์แบบ" เสียทีเดียว และบางครั้งก็อาจจะตัดสินผิดพลาดหรือหละหลวมไปบ้าง
ปีที่แล้ว อัยการสูงสุดของหลายรัฐในอเมริกาได้รวบรวมหลักฐานกล่าวหา ซักเคอร์เบิร์ก ว่าร่วมมือกับ นพ.แอนโทนี เฟาซี อดีตผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐฯ เพื่อ “ดิสเครดิตและปิดกั้น” ทฤษฎีที่อ้างว่าไวรัสโควิด-19 หลุดออกมาจากห้องแล็บในเมืองอู่ฮั่นของจีน หรือ ‘lab leak theory’ และเฟซบุ๊กเพิ่งจะมายกเลิกการปิดกั้นข้อมูลดังกล่าวเมื่อเดือน พ.ค. ปี 2021
ขณะเดียวกัน นิตยสาร Reason ก็ได้มีการเปิดโปงชุดอีเมลที่แสดงให้เห็นว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) มีการติดต่อกับเฟซบุ๊กอย่างสม่ำเสมอ และพนักงานเฟซบุ๊กก็รับแนวทางปฏิบัติจาก CDC มาใช้ในการคัดกรองและตรวจสอบความถูกต้องของโพสต์ต่างๆ ตลอดช่วงปี 2021
ล่าสุด กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ออกมาสรุปยืนยันเมื่อต้นปีนี้ว่า “มีความเป็นไปได้มากที่สุด” ที่โรคระบาดใหญ่โควิด-19 จะรั่วไหลออกมาจากห้องแล็บที่อู่ฮั่น
ที่มา : fox news