นักวิทยาศาสตร์พบจระเข้ตัวหนึ่งในสวนสัตว์คอสตาริกาให้กำเนิดลูกด้วยวิธีสืบพันธุ์แบบพรหมจรรย์ (virgin birth) หลังจากที่มันอาศัยอยู่โดดเดี่ยวภายในสวนสัตว์มานานถึง 16 ปี
รายงานการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร Biology Letters วานนี้ (7 มิ.ย.) ระบุว่า จระเข้อเมริกันเพศเมียตัวหนึ่งออกไข่มาทั้งหมด 14 ฟอง ภายในสถานที่เลี้ยงดูเมื่อปี 2018 ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดสำหรับสัตว์เลื้อยคลานที่อาศัยอยู่ในสวนสัตว์ แต่ที่น่าประหลาดใจกฝคือ หลังจากใช้เวลาฟักไข่ 3 เดือน ปรากฏว่าในไข่ 1 ใบพบซากลูกจระเข้ที่ตายแต่กำเนิดในสภาพมีอวัยวะสมบูรณ์
นักวิทยาศาสตร์ได้นำซากลูกจระเข้ไปตรวจ และพบว่ามันมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับแม่ของมันถึง 99.9%
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ (facultative parthenogenesis - FP) นี้อาจเป็นลักษณะที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษของมันที่มีวิวัฒนาการดังกล่าว และทำให้สันนิษฐานได้ว่า “ไดโนเสาร์” ก็อาจจะสามารถตั้งท้องแบบไม่อาศัยเพศได้เช่นกัน
การสืบพันธุ์ลักษณะนี้เคยถูกพบมาแล้วในสัตว์สปีชีส์อื่นๆ เช่น ปลา นก งู และสัตว์เลื้อยคลานประเภทกิ้งก่า ทว่านี่เป็นครั้งแรกที่พบตัวอย่างในจระเข้
จระเข้อเมริกันจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์เปราะบางที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในธรรมชาติ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์มีการตั้งสมมติฐานว่า การสืบพันธุ์แบบ FP นี้อาจจะเป็นลักษณะที่เกิดได้บ่อยในสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
การให้กำเนิดลูกแบบพรหมจรรย์ของจระเข้ในสวนสัตว์คอสตาริกายังอาจช่วยให้มนุษย์ได้ทราบข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับบรรพบุรุษของจระเข้ ซึ่งเคยมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ในยุคไทรแอสซิก (Triassic) หรือเมื่อประมาณ 250 ล้านปีมาแล้ว
“การค้นพบครั้งนี้ช่วยให้เราได้เรียนรู้ถึงความสามารถในการสืบพันธุ์ที่อาจเป็นไปได้ของบรรพบุรุษของจระเข้ และนกที่สูญพันธุ์ไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ในอันดับเทอร์โรซอร์ (Pterosauria) และไดโนเสาร์ (Dinosauria)” ผลการศึกษาระบุ
ที่มา : รอยเตอร์, BBC