xs
xsm
sm
md
lg

คืนอิสรภาพหลังติดคุก 20 ปี!! คุณแม่ออสซี่คดีฆ่าลูกสี่คน ได้อภัยโทษแล้ว เมื่อนักวิทยาศาสตร์ยืนหยัดพิสูจน์ เด็กตายเพราะยีนกลายพันธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คุณแม่ชาวออสเตรเลียซึ่งต้องโทษจำคุกไปแล้ว 80% คือ 20 ปีจากทั้งหมด 25 ปี ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าสังหารลูกๆ วัยทารก 4 คน บัดนี้ได้รับอิสรภาพแล้ว เมื่อทางการยอมเชื่อการพิสูจน์ของนักวิทยาศาสตร์ว่าเด็กๆ เสียชีวิตด้วยโรคตามธรรมชาติสืบเนื่องจากมีการกลายพันธุ์ในยีน ส่งผลให้ไม่สามารถหายใจได้ และจึงออกคำสั่งอภัยโทษซึ่งทำให้เธอพ้นคุกตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา (5 มิถุนายน) แม้กระบวนการทบทวนความถูกต้องของการตัดสินคดี ยังไม่เสร็จสิ้นก็ตาม ในการนี้ แคทลีน โฟลบิกก์ คุณแม่ผู้อาภัพ มีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะยื่นฟ้องทางการนิวเซาท์เวลส์เพื่อร้องเรียกเงินชดเชยชีวิตที่สูญหายไปสองทศวรรษ ซึ่งคาดว่าจะได้รับเป็นจำนวนหลายล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือก็คือหลายสิบล้านบาท
คุณแม่ออสซีหัวใจสลาย เธอสูญเสียบุตรและธิดาวัยทารกสี่คนซึ่งทยอยกันตายอย่างประหลาด หนำซ้ำสามียังปรักปรำว่าเธอเป็นฆาตกรสังหารลูก แล้วเขาก็แยกทางไปแต่งงานใหม่ แคทลีน โฟลบิกก์ คุณแม่ออสซีคนนี้ถูกดำเนินคดีและต้องโทษจำคุกข้อหาสังหารเด็กๆ นานกว่า 20 ปี จนเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลก

บัดนี้เธอได้รับความเป็นธรรมในระดับหนึ่ง จากความช่วยเหลือของคณะนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยออสเตรเลียน เนชั่นแนล ยูนิเวอร์ซิตี ซึ่งอยู่ระหว่างพิสูจน์ให้กระจ่างใจว่า สาเหตุการตายของสี่หนูน้อยตระกูลโฟลบิกก์เป็นปัญหาความผิดปกติทางธรรมชาติเพราะมียีนกลายพันธุ์ที่ทำให้ไม่สามารถหายใจได้

เมื่อวันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน 2023 ผู้ว่าการรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ได้ใช้อำนาจผู้บริหารสูงสุดของรัฐ ลงนามให้อภัยโทษแก่ แคทลีน โฟลบิกก์ เธอจึงได้อิสรภาพคืนและได้รับการปล่อยตัวทันที ขณะที่การฟื้นคดีขึ้นพิจารณาหลักฐานใหม่อันเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์นั้น ยังไม่เสร็จสิ้น แต่เป็นที่คาดหวังกันอย่างยิ่งว่าคณะนักวิทยาศาสตร์จะประสบความสำเร็จในการคว่ำข้อกล่าวหาว่าเธอเป็นฆาตกรได้สำเร็จ โดยอาจต้องใช้เวลาอีกหนึ่งปี บีบีซีรายงาน

แคทลีน โฟลบิกก์ รับโทษจำคุกไปแล้ว 20 ปี หลังจากคณะลูกขุนลงความเห็นว่าเธอเป็นฆาตกรสังหารบุตรและธิดารวม 4 ราย ในระหว่างปี 1989-1999 ได้แก่

ในปี 1989 น้องเคลเลป บุตรชายวัย 19 วัน เสียชีวิตโดยไม่มีร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกาย
ในปี 1991 น้องแพทริก บุตรชายวัย 8 เดือน เสียชีวิตโดยไม่มีร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกาย
ในปี 1993 น้องซาราห์ ธิดาวัย 10 เดือน เสียชีวิตโดยไม่มีร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกาย
และในปี 1999 น้องลอรา ธิดาวัย 18 เดือน เสียชีวิตโดยไม่มีร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกาย

ทั้งนี้ แพทย์ระบุผลการชันสูตรศพในใบมรณบัตรของหนูน้อยแต่ละรายว่า เป็นการตายตามธรรมชาติ เช่น การไหลตายในทารกที่เรียกกันว่า Cot death และอาการลมชักซึ่งทำให้ร่างกายหมดสติ ขณะที่กล้ามเนื้อก็เกร็งจนไม่สามารถหายใจได้

แต่ดรามาแห่งชีวิตครอบครัวอุบัติขึ้นในปี 2003 เมื่อเกร็ก โฟลบิกก์ สามีของแคทลีนและบิดาของน้องๆ ทั้งสี่ นำไดอารีบันทึกความทรงจำของแคทลีนไปมอบแก่ตำรวจ เพื่อให้ทำการจับกุมภรรยาไปดำเนินคดีข้อหาฆาตกรรม เพราะข้อความหลายแห่งในไดอารีมีความกำกวมที่ชวนให้ตีความว่า แคทลีนตั้งใจปลิดชีวิตลูก

การไต่สวนในชั้นศาลดำเนินอยู่ 7 สัปดาห์ ขณะที่สื่อมวลชนสารพัดค่ายแข่งกันขยี้ข่าวจนครึกโครม อื้อฉาว เป็นที่สะเทือนขวัญผู้คน แคทลีนถูกเกลียดชังและถูกตั้งฉายาว่า หญิงฆาตกรต่อเนื่องที่ร้ายกาจที่สุดของออสเตรเลีย

ในเดือนพฤษภาคม 2003 แคทลีนถูกคณะลูกขุนตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาฆาตกรรม โดยทำให้เด็กแต่ละคนหายใจไม่ได้ จนกระทั่งเด็กเสียชีวิต และต่อมาในเดือนตุลาคม เธอถูกกำหนดโทษจำคุก 40 ปี โดยภายหลังมีการลดโทษเหลือ 25 ปี

(ภาพบนซ้าย) สภาพบอบช้ำทางจิตใจอย่างรุนแรงของ แคทลีน โฟลบิกก์ ในปี 2003 ซึ่งเป็นช่วงที่ถูกจับกุมคุมขังและดำเนินคดีข้อหาฆาตกรรมลูก 4 ราย โดย เรนี รีโก ทนายความคนเก่งของแคทลีน นำขึ้นโพสต์บนทวิตเตอร์เพื่อให้ประชาชนเห็นข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับแคทลีน (ภาพบนขวา) เรนี รีโก ขณะให้สัมภาษณ์แก่สถานีโทรทัศน์ NBN News  (ภาพล่างขวา) ในเวลาเดียวกันสถานี NBN News ก็ได้รายงานความก้าวหน้าของกลุ่มเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่แคทลีน โดยภาพในกรอบเล็กทางขวา คือ เทรซี แชปแมน เพื่อนรักของแคทลีน ซึ่งเป็นบุคคลหลักในการต่อสู้เรียกร้องให้ทางการรัฐนิวเซาท์เวลส์ ปล่อยตัวแคทลีน ‘Free Kathleen’ (ภาพล่างซ้าย) ภาพขององค์กร Wrongful Convictions Report ซึ่งเป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ช่วยรณรงค์ให้แคทลีนได้รับการปล่อยตัว นำภาพลูกน้อยของเธอมาประกอบการรณรงค์ ได้แก่ (จากบนสู่ล่าง) ลอรา ซาราห์ เคลเลป และแพทริก

อดีตสามีของแคทลีน นามว่า เกร็ก โฟลบิกก์ (ด้านขวา) รู้เห็นโดยตลอดว่าแพทย์ชี้สาเหตุการเสียชีวิตของลูกน้อยทั้ง 4 ว่าตายตามธรรมชาติ อาทิ การไหลตายในทารกที่เรียกกันว่า Cot death และอาการลมชักซึ่งทำให้ร่างกายหมดสติ ขณะที่กล้ามเนื้อก็เกร็งจนไม่สามารถหายใจได้ แต่แล้วในปี 2003 เขานำไดอารีของแคทลีนไปมอบแก่ตำรวจ โดยไดอารีมีข้อความหลายแห่งที่กำกวมชวนให้ตีความว่า แคทลีนตั้งใจปลิดชีวิตลูก แคทลีนถูกจับกุมคุมขังดำเนินคดี ส่วนเกร็กก็มีหญิงคนรักใหม่ ซึ่งเขาจูงมือไปฟังการไต่สวนคดีในเดือนเมษายนปีเดียวกันนั้นเอง
ในปี 2018 ชะตาชีวิตของแคทลีน โฟลบิกก์ กระเตื้องขึ้น เนื่องจากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยออสเตรเลียน เนชั่นแนล ยูนิเวอร์ซิตี พบว่ารหัสพันธุกรรมภายในสาย DNA ที่เด็กๆ ได้รับจากคุณแม่ มีการกลายพันธุ์ และการกลายพันธุ์ของยีนเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หรือ Sudden Cardiac Death (SCD) พร้อมนี้ ยังพบข้อชี้บ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงด้วยว่ากรณีของซาราห์และลอรา มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบด้วย คณะนักวิจัยจึงเชื่อว่านี่เป็นสาเหตุของการตายในซาราห์และลอรา

นอกจากนั้น การวิจัยยังพบว่าการกลายพันธุ์ดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับอาการลมชักที่รุนแรงถึงตาย ที่อาจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของแพทริกและเคลเลป

ด้วยเหตุนี้ นับจากเดือนสิงหาคม 2018 เป็นต้นมา กลุ่มช่วยเหลือแคทลีน โฟลบิกก์ ได้ยื่นคำร้องเรียนขอให้ไต่สวนความถูกต้องในการตัดสินคดี เนื่องจากมีหลักฐานใหม่จากการผลการวิจัย ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ทารกน้อยทั้งสี่ของครอบครัวโฟลบิกก์น่าจะเสียชีวิตด้วยสาเหตุทางธรรมชาติ

ที่ผ่านมานับจากปี 2022 ได้มีการไต่สวนรับฟังคำชี้แจงจากคณะนักวิทยาศาสตร์แห่งออสเตรเลียน เนชั่นแนล ยูนิเวอร์ซิตี ซึ่งเชื่อว่าลูกทั้งสี่ของแคทลีน โฟลบิกก์ น่าจะเสียชีวิตตามธรรมชาติ และนับวันที่ผ่านมา กระแสสังคมเริ่มเข้าใจ และพลิกกลับมาเห็นใจคุณแม่ผู้อาภัพวัย 55 ปีรายนี้

โดยพากันชี้ว่าคดีของแคทลีน โฟลบิกก์ เป็นหนึ่งในคดีใหญ่ที่สุดที่ผลตัดสินออกมาไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม

แคทลีนยืนยันเสมอว่าเธอเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ภายในกระบวนการทางศาล แคทลีนถูกกล่าวหาว่าเธอใช้วิธีปิดกั้นไม่ให้ลูกสามารถหายใจได้ เช่น ใช้หมอนกดปิดใบหน้าและจมูก

กลุ่มช่วยเหลือแคทลีน โฟลบิกก์ ซึ่งนำโดย เทรซี่ แชปแมน เพื่อนของแคทลีนที่สนิทสนมรักและไว้ใจกันมาตั้งแต่สมัยวัยเรียน ได้ยื่นเรื่องขออุทธรณ์หลายครั้ง และในการไต่สวนใหม่เมื่อปี 2019 ก็มีคำตัดสินว่าไม่พบมูลเหตุให้เห็นว่าการตัดสินคดีเมื่อปี 2003 มีข้อน่าเคลือบแคลงใดๆ ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการพิจารณาคดีมักที่จะให้น้ำหนักมากมายแก่หลักฐานแวดล้อม

แต่ในการไต่สวนทบทวนตามหลักฐานใหม่ของคณะนักวิจัยนับจากปี 2021 ซึ่งนำโดยอดีตผู้พิพากษาทอม บาเธิสท์ แห่งศาลสูงสุดรัฐนิวเซาท์เวลส์ ทีมอัยการยอมรับว่างานวิจัยว่าด้วยการกลายพันธุ์ในยีนได้เปลี่ยนความเข้าใจของพวกเขาต่อเรื่องสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กๆ ทั้งสี่

อัยการสูงสุดแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ นาม ไมเคิล ดาลีย์ ประกาศไว้ในวันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน ว่าผู้พิพากษาบาเธิสท์ ประธานคณะไต่สวนทบทวนคดี มีความคิดเห็นที่ชัดเจนแล้วว่ามีประเด็นที่ชี้บ่งว่าแคทลีน โฟลบิกก์ อาจจะไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา

ดังนั้น ผู้ว่าการรัฐนิวเซาท์เวลส์จึงลงนามให้อภัยโทษ และคืนอิสรภาพแก่คุณแม่ผู้สุดแสนจะอาภัพโดยทันที โดยไม่ต้องรอให้กระบวนการไต่สวนทบทวนเสร็จสิ้น

“เธอรับโทษจำคุกมา 20 ปีแล้ว ผมขอให้เธอได้รับความสันติสุขครับ เรื่องราวของเธอเป็นอะไรที่ไม่อาจจะไม่รู้สึกสงสาร” ไมเคิล ดาลีย์ อัยการสูงสุดแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ กล่าวอย่างนั้น

พร้อมกับบอกด้วยว่าขอส่งความปรารถนาดีไปยังคุณพ่อเกร็ก โฟลบิกก์ ของเด็กๆ ผู้ล่วงลับด้วย

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าในระหว่างให้ปากคำในปี 2022 คุณพ่อเกร็ก โฟลบิกก์ ยังเดินหน้าปรักปรำอดีตภรรยาด้วยคำกล่าวที่ว่า เป็นไปไม่ได้หรอกที่พี่น้องท้องเดียวกันจะพากันเสียชีวิตทุกคน ด้วยสาเหตุตามธรรมชาติตั้งแต่อายุไม่ถึงสองปี

(ภาพบน) บัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์แห่งออสเตรเลียซึ่งช่วยรณรงค์พิสูจน์ว่า การเสียชีวิตของหนูน้อยทั้งสี่แห่งบ้านโฟลบิกก์เกิดขึ้นจากเหตุธรรมชาติ ได้นำเสนอภาพของแคทลีนและลูกๆ ทั้งสี่คน จากซ้ายไปขวา ได้แก่ เคลเลป แพทริก ซาราห์ และลอรา (ภาพล่างซ้าย) ความรักที่แคทลีนมีต่อเกร็กนั้น มากมายมหาศาล เพราะเธอกำพร้าแม่และเติบโตขึ้นมาในครอบครัวอุปถัมภ์ เนื่องจากคุณพ่อถูกจำคุกหลังบันดาลโทสะแทงคุณแม่ของเธอรวมยี่สิบกว่าแผล จนกระทั่งเสียชีวิต และการที่บิดาของเป็นฆาตกรเลือดเดือดอย่างนี้ ก็จึงกลายเป็นหลักฐานแวดล้อมประการหนึ่งที่มีผลเสียต่อรูปคดีของเธอ  ภาพนี้เป็นวันชื่นคืนสุขที่แคทลีนและเกร็กฉลองสมรสเมื่อปี 1987  (ภาพล่างขวา) แคทลีนอุ้มชูน้องซาราห์ ลูกคนที่ 3 ภาพนี้เป็นบรรยากาศภายในครอบครัวเมื่อปี 1999
หากมีการพลิกคำตัดสิน คุณแม่แคทลิน อาจฟ้องเรียกค่าชดเชยชีวิตจากภาครัฐได้ราว 1.4 ล้านดอลลาร์

อัยการไมเคิล อาลีย์ แถลงย้ำว่าแม้มีการอภัยโทษให้แก่แคทลิน โฟลบิกก์ อย่างไม่มีเงื่อนไข แต่สถานภาพคำตัดสินลงโทษจำคุกที่เธอได้รับตั้งแต่ปี 2003 ยังไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าอดีตผู้พิพากษาบาเธิสต์ เลือกที่จะส่งเรื่องไปยังศาลอุทธรณ์คดีอาชญากรรม ศาลนี้จะเป็นผู้ตัดสิน โดยกระบวนการอาจยืดยาวไปถึงหนึ่งปี บีบีซีรายงาน

ยิ่งกว่านั้น เธอมีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยจากภาครัฐได้แบบเรือนล้านดอลลาร์

เรื่องดังกล่าวนี้ มีกรณีบรรทัดฐานจากคดีคุณแม่ลินดี แชมเบอร์เลน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกรสังหารน้องอาซาเรีย ลูกน้อยวัยเพียง 9 เดือนขณะตั้งแคมป์ที่เมืองอูลูรูในปี 1987 คณะลูกขุนตัดสินว่าเธอกระทำอาชญากรรมตามข้อกล่าวหา ทำให้เธอต้องโทษจำคุก เวลาผ่านไปสามปี และการพิจารณาคดีตามหลักฐานการชันสูตรศพในภายหลัง ได้พบว่าน้องอาซาเรียเสียชีวิตเพราะหมาป่า

ดังนั้น เมื่อลินดี แชมเบอร์เลนได้รับอิสรภาพ เธอยื่นเรื่องฟ้องร้อง ซึ่งยุติด้วยการตกลงรอมชอมจากทางการออสซี่ในปี 1992 ทำให้เธอได้รับค่าเสียหายเป็นเงิน 1.3 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว 858,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือราว 31 ล้านบาท

ในการนี้ มีผู้สันทัดกรณีทำการคิดเลขบัญญัติไตรยางศ์ และชี้ว่าค่าชดเชยสำหรับคุณแม่แคทลินซึ่งติดคุกนาน 20 ปี ก็ต้องหลายๆ ล้านดอลลาร์

“เป็นไปไม่ได้เลยค่ะที่จะรู้สึกได้ถึงความเจ็บปวดในดวงใจของคุณแคทลีน โฟลบิกก์ ซึ่งมีทั้งการสูญเสียลูกน้อย และการถูกกุมขังในคุกควบคุมสูงสุด สืบเนื่องจากข้อหาอาชญากรรมซึ่งวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ให้ปรากฏแล้วว่าไม่มีฆาตกรรมใดๆ เกิดขึ้นจริง” ทนายเรนี รีโก ของแคทลีน โฟลบิกก์ กล่าวในคำแถลง

คุณแม่แคทลีนซึ่งก้าวพ้นกำแพงคุกในวันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน ได้กลับคืนสู่อ้อมกอดของเพื่อนๆ มากมายที่ช่วยกันรณรงค์เรียกร้องอิสรภาพแก่เธออย่างไม่ลดละหลายต่อหลายปี

ขณะที่อัยการสูงสุดไมเคิล ดาลีย์ เรียกร้องให้ฝ่ายต่างๆ อาทิ สื่อมวลชน มอบความเป็นส่วนตัวแก่แคทลีน เพื่อที่เธอจะเดินหน้าต่อไปในชีวิตบทใหม่

ภาพในช่องเล็กเป็นภาพเมื่อสมัยที่แคทลีน (เสื้อสีฟ้า) และเทรซี แชปแมน (เสื้อสีแดง) ยังเป็นเพื่อนเรียนหนังสือด้วยกัน ปัจจุบันนี้ แคทลีนไม่เหลือใครที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นครอบครัว ในเมื่อลูกๆ เสียชีวิตกันหมด ส่วน เกร็ก โฟลบิกก์ ผู้เป็นอดีตสามีก็ได้แต่งงานกับหญิงคนรักคนใหม่เป็นที่เรียบร้อย และมีบุตรชายด้วยกัน โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์แก่ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮอร์รัล ว่าลูกแข็งแรงดีมาก ตัวเขาก็มีความสุขอย่างยิ่งที่ได้มีชีวิตใหม่ ภรรยาใหม่ และลูกคนใหม่สมความปรารถนา ในการนี้ เทรซีรับแคทลินไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังใหญ่แสนอบอุ่นของเธอ
กฎหมายจะต้องรับพิจารณาแง่มุมทางวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น

สองสาเหตุสำคัญที่ทำให้การตัดสินคดีในปี 2003 ออกมาในทางเป็นโทษแก่ แคทลีน โฟลบิกก์ โดยสาเหตุประการแรกคือคณะลูกขุนพุ่งเป้าไปพิจารณาหลักฐานแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไดอารีต่างๆ ที่เธอบันทึกความคิดความรู้สึกขณะต่อสู้กับปัญหาทั้งปวงที่มารดาต่างต้องเผชิญ

“ฉันตะโกนใส่ลูกอย่างโกรธจัด ลูกกลัวมาก แต่ลูกไม่หยุดร้องไห้ สถานการณ์ตอนนั้นเลวร้ายเหลือเกิน ฉันแทบจะอยากทิ้งลูกลงพื้น แล้วเดินหนี ฉันระงับใจไว้ได้มากเพียงพอที่จะวางลูกบนเบาะ แล้วเดินหนีไปสงบสติอารมณ์ในห้อง โดยปล่อยให้ลูกร้องไห้ไป”

“เวลาคงจะผ่านไปสักห้านาที แต่ฉันรู้สึกเหมือนเนิ่นนานชั่วชีวิต ฉันรู้สึกว่าตนเองเป็นแม่ที่แย่ที่สุดในโลก ทำให้ลูกหวาดกลัว แล้วลูกก็จะหนีฉันไป เหมือนที่ซาราห์เคยหนีฉันไปแล้ว ฉันรู้ว่าตนเองเจ้าโทสะ และบางครั้งก็โหดร้ายใส่ซาราห์ ซาราห์จึงหนีฉันไป โดยมีความช่วยเหลือนิดหนึ่ง”

แคทลีนจดถ้อยคำเหล่านี้เมื่อวันที่ 28 มกราคม 1998 โดยเริ่มจดไดอารีในช่วงที่มีลอราแล้ว แต่ในช่วงที่มีซาราห์นั้น เธอยังไม่ได้เขียนไดอารี เดอะการ์เดียนรายงาน และบอกด้วยว่าในวันก่อนวันปีใหม่ แคทลีนเขียนในลักษณะล้อเลียนการตายของซาราห์ดังนี้

“ลูก (ลอรา) เป็นทารกที่มีธรรมชาติดีค่อนข้างมาก ขอบคุณพระเจ้า นี่จะช่วยรักษาเธอไว้จากชะตากรรมของพี่สาว ฉันคิดว่าลูกคงได้รับคำเตือนมาก่อน”

“คิดดูแล้วฉันรับมือกับการที่ลอราร้องไห้จนชัก ได้ดีกว่าที่ฉันดูแลซาราห์ – ฉันสรุปบทเรียนมาว่า ให้เดินหนีออกมาก่อน มาหายใจเรียกสติ มันช่วยให้ฉันรับมือกับสถานการณ์ได้ และคิดออกว่าจะช่วยลูกอย่างไร” แคทลีนบรรยายไว้ในบันทึก

“กับซาราห์แล้ว ทั้งหมดที่ฉันต้องการคือ ให้ลูกเงียบเสียที แล้วในวันหนึ่ง ลูกก็ได้เงียบเสียงไป”

ทั้งนี้ แคทลีนเปิดใจอธิบายปมน่าสงสัยเหล่านี้ในปี 2018 ว่า

“ไดอารีพวกนี้ถูกเขียนขึ้นจากมุมของฉันที่คอยแต่จะตำหนิตนเอง

“ฉันตำหนิตนเองในทุกสิ่ง ฉันแบกความรู้สึกรับผิดชอบมากเหลือเกิน ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นแม่จะต้องทำ”

ในการนี้ เดอะการ์เดียนรายงานด้วยว่าแคทลีนเชื่อว่าพลังงานเหนือธรรมชาติเป็นผู้ที่พรากเด็กๆ ไปจากเธอ

สาเหตุประการที่สอง มีอยู่ว่าหลักฐานทางการแพทย์ ซึ่งระบุชัดเจนว่าไม่มีร่องรอยการปิดกั้นการหายใจ อีกทั้งยังระบุด้วยว่าไม่มีร่องรอยการบาดเจ็บใดๆ เกิดขึ้นกับร่างกายของเด็กทั้งสี่ราย นั้น มิได้ถูกนำขึ้นสู่กระบวนการพิจารณาคดี

สำหรับคำถามว่าข้อความที่แคทลีนเขียนในไดอารีเล่มต่างๆ จะเป็นเครื่องชี้บ่งว่าเธอลงมือสังหารลูก ได้หรือไม่นั้น ในการไต่สวนทบทวนคดีที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายที่ให้ปากคำ ได้ชี้ว่าการเขียนในไดอารีเหล่านั้นเป็นกลไกเยียวยาตนเองเพื่อให้อยู่รอดกับความทุกข์ตรมของคนเป็นแม่ ซึ่งต้องรับมือกับปัญหาทั้งปวงโดยไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนเชิงกำลังใจ-ความรู้สึก-หรือความรู้ความเข้าใจด้านจิตวิทยาการเลี้ยงดูทารก

พร้อมนี้ ผู้เชี่ยวชาญชี้ด้วยว่าหากเด็กทั้งสี่รายถูกปิดกั้นลมหายใจ ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะไม่มีร่องรอยปรากฏบนร่างกาย บีบีซีรายงานอย่างนั้น

ในการนี้ การดำเนินคดีเล่นงานแคทลีน โฟลบิกก์ มุ่งแต่จะใช้แต่หลักฐานแวดล้อม โดยปักใจอยู่กับประเด็นที่ว่า โอกาสที่เด็กสี่คนจากครอบครัวเดียวกันจะเสียชีวิตเพราะสาเหตุตามธรรมชาตินั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้

ดังนั้น หลักฐานทางการแพทย์จึงถูกปฏิเสธ โดยไปให้น้ำหนักแก่การตีความข้อเขียนบันทึกความจำของผู้เป็นมารดา ซึ่งเต็มไปด้วยความเคลือบคลุม และไม่มีข้อเขียนจุดใดที่ยอมรับว่ามีการลงมือปลิดชีพ

จนกระทั่งเมื่อศาสตราจารย์คาโรลา บีนอยซา แห่งมหาวิทยาลัยออสเตรเลียน เนชั่นแนล ยูนิเวอร์ซิตี นักวิจัยที่มีผลงานโดดเด่นมากมาย เข้ามาศึกษาคดีนี้ และสามารถอธิบายสาเหตุการเสียชีวิตของน้องๆ บ้านโฟลบิกก์ได้ คำตัดสินคดีเมื่อปี 2003 จึงส่อแววว่าจะผิดพลาด

ทั้งนี้ ศ.คาโรลาเริ่มต้นสนใจกับปมการชันสูตรศพว่าเด็กทั้ง 4 ราย เสียชีวิตโดยไม่มีร่องรอยว่าร่างกายถูกแตะต้อง

ศ.คาโรลาเล็งเห็นความเป็นไปได้บางอย่าง จึงนำ DNA ที่ดึงจากเลือดของเด็ก(ในแฟ้มประวัติตอนคลอดที่จัดทำโดยโรงพยาบาล) มาวิเคราะห์ และพบว่ารหัสพันธุกรรมภายในสาย DNA ที่เด็กๆ ได้รับจากมารดานั้น มีการกลายพันธุ์ ซึ่งเรื่องนี้ไม่เคยถูกพบเจอหรือรายงานเป็นหลักฐานมาก่อน

ศาสตราจารย์คาโรลา บีนอยซา ผู้พลิกคดีของคุณแม่แคทลีนด้วยข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่า เด็กๆ เสียชีวิตเพราะเหตุตามธรรมชาติ สืบเนื่องจากยีนที่ได้รับจากคุณแม่ มีการกลายพันธุ์ซึ่งส่งผลไปถึงความผิดปกติในระบบการหายใจ กับส่งผลถึงปัญหาโรคหัวใจรุนแรง
ที่ผ่านมา มีการพบแล้วว่าการกลายพันธุ์ของยีนนี้เชื่อมโยงกับการเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หรือ Sudden Cardiac Death (SCD)

ศ.บีนอยซารายงานว่าพบการกลายพันธุ์ดังกล่าวปรากฏอยู่ในกรณีของซาราห์และลอรา โดยในการชันสูตรศพลอรานั้น มีสิ่งชี้บ่งถึงอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบด้วย ดังนั้น ศ.บีนอยซาจึงเชื่อนี่ว่าเป็นสาเหตุของการตายในซาราห์และลอรา โดยมีการเขียนรายงานออกเผยแพร่ด้วยว่าคณะผู้วิจัยสรุปร่วมกันว่าการกลายพันธุ์ของ CALM2 “อาจส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตด้วยเหตุอันเป็นธรรมชาติในเด็กหญิงสองคนของบ้านโฟลบิกก์ โดยการเปลี่ยนจังหวะเต้นของหัวใจ

ยิ่งกว่านั้น การกลายพันธุ์ได้เกิดขึ้นในเด็กชาย 2 คนคือ เคลเลป และแพทริก ด้วย โดยเป็นการกลายพันธุ์ที่หายากเช่นกัน แต่แตกต่างจากซาราห์และลอรา คือ การกลายพันธุ์นี้เกิดในยีนที่ส่งผลเชื่อมโยงกับอาการลมชักที่รุนแรงถึงตายได้

ทั้งนี้ แพทริกถูกตรวจพบว่ามีอาการของโรคลมชักตั้งแต่ที่ยังอยู่ในท้องแม่ ส่วนเคลเลปนั้นมีปัญหากระดูกกล่องเสียงอ่อนยวบ ทำให้มีอาการหายใจติดขัดและหายใจกรนดัง

ศ.บีนอยซาจึงเสนอข้อสรุปอย่างชัดเจนว่า ในกรณีของเด็กๆ โฟลบิกก์ทั้งสี่ราย มีหลักฐานการชันสูตรศพและหลักฐานเชิงการแพทย์ ที่ชี้ไปถึงการเสียชีวิตด้วยสาเหตุตามธรรมชาติ ทั้งนี้ ศ.บีนอยซาให้ข้อมูลแก่บีบีซีด้วยว่า มีการพบเคสที่หัวใจมีปัญหาถึงขั้นเสียชีวิตโดยปัญหานี้เกี่ยวโยงอยู่กับการกลายพันธุ์ของยีน ปรากฏในย่านต่างๆ ของโลกเพียง 134 ราย

พร้อมนี้ ศ.บีนอยซากล่าวด้วยว่าการตัดสินใจให้อภัยโทษแก่แคทลีน โฟลบิกก์ เป็นเรื่องที่งดงามอย่างยิ่ง และมอบความหวังให้แก่สตรีอื่นๆ ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ละม้ายกัน

“คณะนักวิจัยได้รับการติดต่อขอให้ช่วยศึกษาเคสของคุณแม่หลายรายที่ละม้ายกัน คือ สูญเสียลูก แล้วยังถูกตั้งข้อหาดำเนินคดี โดยเคสเหล่านั้นอาจเป็นปัญหาจากยีนกลายพันธุ์”

ศาสตราจารย์ย้ำว่ากรณีของแคทลีน โฟลบิกก์ ทำให้ตระหนักว่าจะต้องมีการปฏิรูปเพื่อทำให้ระบบกฎหมายมีความอ่อนไหวมากขึ้นกับข้อบ่งชี้จากการพิสูจน์โดยวิทยาศาสตร์

เรนี รีโก ทนายของแคทลีน กล่าวว่า แม้ แคทลีน โฟลบิกก์ ได้รับอิสรภาพแล้ว แต่เธอตั้งใจมุ่งมั่นที่จะต่อสู้ทางคดีความ จนกว่าคำตัดสินเดิมที่ไม่ถูกต้อง จะถูกคว่ำ และเธอจะพ้นจากข้อกล่าวหาได้ 100% ทั้งนี้ แคทลีนยังต้องใช้เวลาอีกมากในการเยียวยาสภาพทางจิตใจ ให้เข้มแข็งกลับขึ้นมา
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า


(ที่มา: บีบีซี สกายนิวส์ เดอะการ์เดียน)
กำลังโหลดความคิดเห็น