ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีรายหนึ่งใช้สิทธิลาป่วยแบบไม่ต้องทำงาน แถมยังได้เงินเดือนตกปีละ 2.3 ล้านบาทมาตั้งแต่ปี 2008 ทว่าเจ้าตัวยังไม่พอใจ ออกมาฟ้องร้องเอาผิดกับบริษัทโทษฐาน “ไม่ยอมขึ้นเงินเดือนให้”
เอียน คลิฟฟอร์ด (Ian Clifford) วัย 50 ปี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีของบริษัทไอบีเอ็ม (IBM) ได้รับค่าจ้างปีละ 54,000 ปอนด์ (ราว 2.3 ล้านบาท) ตลอดระยะเวลา 15 ปี ซึ่งเขาอยู่ในสภาพ “เกษียณทางการแพทย์” (medically retired) โดยเป็นไปตามแผนดูแลพนักงานที่ทุพพลภาพของบริษัทแห่งนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้เขาตัดสินใจยื่นฟ้องบริษัทฐาน “เลือกปฏิบัติ” โดยอ้างว่าเงินเดือนของเขาไม่ถูกปรับขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ
คลิฟฟอร์ด ซึ่งเป็นชาวเมืองรีดดิง (Reading) ในสหราชอาณาจักร เริ่มลาป่วยมาตั้งแต่เดือน ก.ย. ปี 2008 จนกระทั่งปี 2013 เขาก็เริ่มร้องเรียนไปยังบริษัทว่าไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนเลยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จนสุดท้าย IBM ได้ทำ “ข้อตกลงประนีประนอม” กับลูกจ้างรายนี้ โดยให้เขาเข้าร่วมแผนทุพพลภาพของบริษัท ซึ่งจะการันตีเงินเดือนคงที่ให้กับเขาไปจนกว่าจะหายป่วย เกษียณอายุ หรือเสียชีวิต
ตามแผนทุพพลภาพที่ว่านี้ คลิฟฟอร์ด ได้รับเงินเดือน 75% จากที่ตกลงกันไว้เดิม 72,037 ปอนด์ (ก็คือ 54,028 ปอนด์) ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมาโดยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติงานใดๆ เลย แถมยังได้เงินชดเชยจากกรณีพิพาทเรื่องค่าแรงวันหยุดเมื่อปี 2013 อีก 8,685 ปอนด์ด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนคงจะนึกอิจฉา แต่ปรากฏว่าพนักงานไอทีคนนี้ยังไม่พอใจกับสิ่งที่ได้รับ และได้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานอังกฤษ โดยกล่าวหา IBM ว่าปฏิบัติต่อเขาอย่างไม่เป็นธรรม
“จุดประสงค์ของแผนทุพพลภาพก็คือการรับประกันความมั่นคงให้พนักงานที่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ซึ่งมันจะเป็นไปไม่ได้เลย หากเงินเดือนถูกแช่แข็งเอาไว้ตลอด” คลิฟฟอร์ด อ้างต่อศาล พร้อมยืนยันว่า IBM ควรปรับขึ้นเงินเดือนให้ตนเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ผู้พิพากษาอังกฤษไม่คล้อยตามเหตุผลของพนักงานรายนี้
“ต่อให้เงิน 50,000 ปอนด์ต่อปีถูกลดลงครึ่งหนึ่งเป็นเวลา 30 ปี มันก็ยังคงเป็นผลประโยชน์ก้อนโตอยู่ดี นี่จึงเป็นการปฏิบัติที่เหมาะสมแล้ว ไม่ได้แย่ตรงไหน” ผู้พิพากษา พอล เฮาส์โก ระบุ และสุดท้ายศาลก็ได้ตัดสิน “ยกฟ้อง” ไป
ข่าวนี้ถูกแชร์จนเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ และปรากฏว่ามีชาวเน็ตจำนวนมากเข้าไปรุมตำหนิ คลิฟฟอร์ด ว่าได้เงินเดือนกินฟรีแล้วยังมีหน้ามาโอดครวญ ทั้งที่ตัวเองไม่ได้ทำประโยชน์ใดๆ ให้บริษัทเลยด้วยซ้ำ
ที่มา : odditycentral