การเดินทางไปร่วมซัมมิตจี7 ที่ญี่ปุ่นของไบเดน ซึ่งเคยถูกกำหนดให้เป็นมาสเตอร์คลาสด้านภูมิยุทธศาสตร์เพื่อระดมการสนับสนุนจากชาติประชาธิปไตยในการคานอิทธิพลจีน ทำท่าว่าจะกลายเป็นการเดินทางอย่างกะปลกกะเปลี้ยเพื่อคลายกังวลของเหล่าพันธมิตรเรื่องเพดานหนี้ของอเมริกาที่อาจสร้างปัญหาให้เศรษฐกิจโลก
ในวันพฤหัสบดี (18 พ.ค.) นี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีกำหนดเดินทางถึงเมืองฮิโรชิมา หนึ่งในสองเมืองที่ถูกอเมริกาถล่มด้วยระเบิดปรมาณูในปี 1945 ปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 และเริ่มต้นยุคที่อเมริกากลายเป็นผู้นำในย่านแปซิฟิก
จากนั้นในวันศุกร์ (19) ไบเดนจะได้พบกับผู้นำอีก 6 ชาติของกลุ่มจี7 ได้แก่ อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น ที่มีความสำคัญยิ่งในกระแสกดดันซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ เพื่อแซงก์ชันทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ผู้เป็นพันธมิตรของจีน จากกรณีการรุกรานยูเครน
อย่างไรก็ตาม ไบเดนต้องยกเลิกการเยือนปาปัวนิวกินี และเข้าร่วมซัมมิต “กลุ่มควอด” ที่เมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย ที่เดิมกำหนดไว้ในสัปดาห์หน้า เนื่องจากต้องรีบกลับบ้านไปเจรจากับพรรครีพับลิกัน เรื่องการขยายเพดานหนี้ของประเทศในวันอาทิตย์ (21)
สำหรับประธานาธิบดีที่ออกปากเตือนบ่อยครั้งว่า ประชาธิปไตยกำลังต่อสู้กับระบอบเผด็จการเพื่อความอยู่รอด นี่ถือเป็นช่วงเวลาที่น่าหนักใจอย่างยิ่ง
จอช ลิปสกี้ จากกลุ่มคลังสมอง แอตแลนติก เคาน์ซิล บอกว่า คงยากน่าดูที่จะไปพูดในซัมมิตจี7 เกี่ยวกับความเป็นเอกภาพทางเศรษฐกิจเพื่อรับมือรัสเซียและจีน ขณะที่เศรษฐกิจอเมริกาเองกำลังรวนหนัก
กระนั้น ไบเดนแก้ต่างเรื่องการปรับแผนการเดินทาง โดยบอกว่าเป็นเรื่องปกติที่ประธานาธิบดีจะต้องจัดการปัญหาสำคัญหลายเรื่องพร้อมกัน
ทว่า อีแวน ไฟเกนโบม อดีตนักการทูตอเมริกาที่ปัจจุบันทำงานให้กับคาร์เนกี้ เอนดาวเมนต์ วิจารณ์ไม่ไว้หน้าว่า การแข่งขันกับจีนในแปซิฟิกในสภาพที่เรือของตัวเองกำลังจะจม เป็นภารกิจที่ยากแค้นแสนสาหัส
สำหรับไบเดน วัย 80 ปี การเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดในดินแดนไกลบ้านออกไปหลายพันกิโลเมตร แล้วต้องรีบกลับบ้านเพื่อแก้ปัญหาเพดานหนี้เช่นนี้ เกิดขึ้นในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานอย่างแท้จริง เพราะเขาเพิ่งเริ่มการรณรงค์หาเสียงเพื่ออยู่ต่ออีกสมัยเมื่อไม่นานมานี้เอง ขณะที่ผลโพลชี้ว่าคนอเมริกันต่างพากันห่วงว่าอายุของไบเดน จะทำให้เขารับมือภารกิจทั้งในและนอกประเทศไหวไหม
จอห์น เคอร์บี้ โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติ ยืนยันแทนบอสตัวเองว่า ไบเดนสามารถปฏิบัติภารกิจหลายอย่างพร้อมกัน ทั้งเดินทางต่างประเทศ จัดการนโยบายต่างประเทศและกลาโหม ปฏิบัติตามพันธะกรณีด้านความมั่นคงแห่งชาติในภูมิภาคสำคัญอย่างอินโด-แปซิฟิก และทำงานร่วมกับผู้นำในสภาในการขยายเพดานหนี้และหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ เพื่อให้อเมริกายังคงความน่าเชื่อถือทั้งในและต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัญหาเพดานหนี้มีความเสี่ยงร้ายแรง การตื่นตระหนกของตลาดทั่วโลกอาจเป็นแค่จุดเริ่มต้นของผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้น จึงส่งผลให้ไบเดนอาจต้องใช้เวลาในการพยายามฟื้นความมั่นใจของผู้นำชาติอื่นๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากกว่าการขบคิดกันวางแผนจัดการจีน
นอกจากนั้น ไบเดนยังไม่อาจรู้ได้ว่าสมาชิกขวาจัดของรีพับลิกันจะยอมขยายเพดานหนี้ทันเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ อีกทั้งไม่รู้ว่าสมาชิกฝ่ายซ้ายของเดโมแครตของตนเองจะยกโทษให้หรือเปล่าถ้าเขาต้องประนีประนอมบางอย่างเพื่อให้รอดพ้นจากการผิดนัดชำระหนี้
ขณะเดียวกัน การยกเลิกการเยือนปากัวนิวกินีและออสเตรเลีย จะกลายเป็นการกลืนยาขมสำหรับประมุขทำเนียบขาวที่พยายามฟื้นนโยบายการทูตหลังจากอเมริกายึดแนวทางโดดเดี่ยวตัวเองมานานหลายปีในยุคอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ทั้งนี้ กลุ่มควอด ซึ่งประกอบด้วยออสเตรเลีย อินเดีย อเมริกา และญี่ปุ่น เป็นกลุ่มจัดตั้งอย่างไม่เป็นทางการที่สหรัฐฯ หวังผลักดันให้มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการทหารของจีนในแถบแปซิฟิก อันถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญอันดับแรกของไบเดน
ทำเนียบขาวรีบรุดชี้แจงว่า ถึงอย่างไรไบเดนจะได้พบกับผู้นำอีก 3 คนในกลุ่มควอด ในการประชุมข้างเคียงของซัมมิตจี7 ที่ฮิโรชิมาอยู่แล้ว สืบเนื่องจากญี่ปุ่นนั้นอยู่ในจี7 อยู่แล้ว ขณะผู้นำแดนจิงโจ้และแดนภารตะ เป็นส่วนหนึ่งของพวกผู้นำประเทศต่างๆ ที่ได้รับเชิญเป็นแขกพิเศษเข้าร่วมการซัมมิตคราวนี้ด้วย
นอกจากนี้ อเมริกายังเตรียมรางวัลปลอบใจให้นายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบานีส ด้วยการเชิญผู้นำออสเตรเลียไปเยือนทำเนียบขาวในฐานะแขกของประมุขประเทศ ส่วนนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ ของอินเดีย มีกำหนดเยือนวอชิงตันในฐานะอันทรงเกียรติเช่นนั้นอยู่แล้วในเดือนหน้า
กระนั้น อเมริกามีแนวโน้มที่จะต้องเสียใจกับการที่ไบเดนพลาดโอกาสในการเป็นประธานาธิบดีอเมริกันคนแรกที่ไปเยือนปาปัวนิวกินี ซึ่งมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ ในขณะที่ประเทศและดินแดนหมู่เกาะอันห่างไกลในแปซิฟิกกำลังเป็นหมากสำคัญในการแข่งขันภูมิยุทธศาสตร์ระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง
(ที่มา : เอเอฟพี)