xs
xsm
sm
md
lg

ตะวันตกชื่นชม “พิธา” ก้าวไกลเดินสายสัมภาษณ์ CNN เป็นภาษาอังกฤษชัดเจน ถ้าได้เป็นนายกฯ “จะทำให้ไทยปลอดจากกองทัพ” หลังเคยด้อยค่า “ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้หากมีผู้นำฉลาดพอ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้นำพรรคก้าวไกลเดินสายให้สัมภาษณ์สื่อนอกเป็นภาษาอังกฤษตอบชัดเจน หากได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยคนใหม่จะทำให้ไทยปลอดจากกองทัพเข้ายุ่งการเมือง หลังก่อนหน้าเคยด้อยค่ากองทัพ ชี้ถึงขั้นไม่จำเป็นต้องมีก็ได้หากมีผู้นำที่ฉลาด ยันสร้างไทยให้กลับมาผงาดบนเวทีโลกผ่านระบบโลกาภิวัตน์

CNN สื่อสหรัฐฯ รายงานวันนี้ (17 พ.ค.) ว่า เป็นการให้สัมภาษณ์กับ CNN เป็นครั้งแรกหลังจากผลการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ (14) ออกมาและชี้ว่า หากว่าตัวเองได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะทำให้ไทยปลอดจากกองทัพ

เกิดขึ้นหลังไทยต้องอยู่ภายใต้กองทัพโดยรักษาการนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาจากการทำรัฐประหารเมื่อปี 2014 ในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย

พิธา วัย 42 ปี ที่สื่อนอกต่างยกย่องว่าเป็นคนรุ่นใหม่หัวนอกที่มีดีกรีเรียนจบจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และสามารถให้สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษได้อย่างแตกฉานฟังรู้เรื่อง แสดงจุดยืนในการให้สัมภาษณ์ว่า เขาจะทำให้ไทยมี “3 de-” ได้แก่ ปลอดทหาร (demilitarize) ปลอดจากการผูกขาด (demonopolize) และปลอดจากการรวมศูนย์ (decentralize)

โดยเขากล่าวว่า “ด้วยกระบวนการ 3 ขา นี่จะเป็นแค่ทางเดียวที่จะทำให้พวกเราสามารถทำให้ประเทศไทยกลับมาเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ได้อีกครั้ง และทำให้มั่นใจว่าไทยจะกลับเข้าที่เข้าทาง ไทยจะกลับสู่เวทีโลก และทำให้มั่นใจว่าไทยนั้นจะยังคงเป็นประโยชน์ และในเวลาเดียวกันก็ได้รับประโยชน์จากนิยามของคำว่า โลกาภิวัตน์”

เขากล่าวย้ำว่า การที่พรรคก้าวไกลประสบความสำเร็จล้มช้างได้ในวันอาทิตย์ (14) และเป็นที่จับตาไปทั่วโลกซึ่งมีจำนวนประชาชนที่เดินทางมาลงคะแนนเลือกตั้งเป็นจำนวนมากที่ไม่เฉพาะกับคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ทั่วทุกภาคส่วน แสดงให้เห็นว่านโยบายที่หาเสียงนั้นมีความสมเหตุสมผล “นั่นถือเป็นสิ่งที่น่าหวั่นไหวมาก”

พิธา ย้ำว่า “มันเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าประชาชนเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงที่นี่ในประเทศไทย...มันเป็นที่ชัดเจนว่าความคิดเห็นแห่งยุคนั้นมีการเปลี่ยนแปลง..และพวกเราได้พัฒนาประชามติที่นี่สำหรับวันใหม่”

เขากล่าวต่อไปถึงการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่เชื่อว่าน่าจะมีพรรคเพื่อไทย ของแพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้คะแนน 141 ที่นั่ง ตามมาเป็นอันดับ 2 หลังพรรคก้าวไกลที่กวาดไปถึง 152 ที่นั่ง

CNN รายงานว่า แผนการทำให้ไทยปลอดจากกองทัพเข้ายุ่งกับการเมืองของผู้นำพรรคก้าวไกล ได้แก่ มีนโยบายเสนอการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง รวมไปถึงการยกเลิกเกณฑ์ทหาร ลดงบประมาณ ทำให้มีความโปร่งใสมากขึ้นและสามารถตรวจสอบได้ รวมไปถึงลดจำนวนของนายพลกองทัพไทย เป็นต้น

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ พิธา เคยแสดงความเห็นด้อยค่ากองทัพไทยจนเป็นที่โด่งดังในประเทศมาแล้ว สื่อไทยรายงานเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ก่อนหน้าว่า หัวหน้าพรรคก้าวไกลขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงระบุว่า เขาไม่เชื่อมั่นว่ากองทัพจะรบชนะ และในเวลานี้ประเทศที่เคยเป็นศัตรูกันและอยู่ติดกันก็ไม่รบกันแล้ว

บนเวทีเขายังยืนกรานว่า ทุกวันนี้ต้องลดกองทัพลง และย้ำว่า “บางประเทศไม่ต้องมีกองทัพไว้ปกป้องประเทศด้วยซ้ำไปหากว่ามีผู้นำฉลาดพอ”

การแสดงความเห็นของหัวหน้าพรรคก้าวไกลอาจเป็นที่ชื่นชอบในสายตาตะวันตกที่ยกย่องในจุดยืนร่วมกันทั้งระบบพลเรือนมีอำนาจเหนือรัฐตามหลักประชาธิปไตยแบบเต็มใบ การไม่ผูกขาด และการไม่รวมศูนย์อำนาจเพื่อให้ระดับรากหญ้าสามารถเข้ามามีส่วนรวมและเป็นการค้าที่มีการแข่งขันเสรีไม่ผูกขาดและใช้ช่องทางโลกาภิวัตน์เพื่อให้ไทยกลับมาสู่ระบบซัปพลายเชนของตะวันตกได้อีกครั้ง

แต่ทว่าในการด้อยค่าต่อระบบกองทัพ จนถึงขั้นประณามว่าประเทศไม่จำเป็นต้องมีก็ได้นั้นเป็นการขัดต่อระบบในโลกประเทศเสรีประชาธิปไตยโดยทั่วไปโดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่มักร้องเพลงว่า

“This land is your land, and this land is my land
From the California, to the New York Island
From the Redwood Forest, to the Gulf stream waters
This land was made for you and me”


แสดงออกถึงความเป็นเจ้าของดินแดนที่ในอเมริกาประเทศที่เป็นต้นแบบประชาธิปไตยได้จากการนำกองกำลัง 13 รัฐอดีตอาณานิคมอังกฤษสู้เพื่อเป็นเอกราชภายใต้การนำของนายพลจอร์จ วอชิงตัน และยังคงระบบนิยมในทหาร และสิทธิการถืออาวุธปืนสำหรับพลเมือง

การแสดงออกนิยมทางการทหารโดยนักการเมืองอเมริกันคนสำคัญล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อมีนาคมต้นปีเมื่อ พลเมืองสหรัฐฯ ถูกลักพาตัวและโดนสังหารโดยแก๊งยาเสพติดเม็กซิกันชื่อดัง

นิวสวีกของสหรัฐฯ รายงานเมื่อวันที่ 8 มี.ค. ว่า ส.ส. พรรครีพับลิกันจากรัฐเคนตักกี และประธานคณะกรรมาธิการตรวจสอบและการปฏิรูปประจำสภาล่างสหรัฐฯ เจมส์ โคเมอร์ (James Comer) เสนอว่า สหรัฐฯ สมควรตั้งกองกำลังทหารขึ้นในเม็กซิโก หรือประจำที่ชายแดนเป็นอย่างน้อยเพื่อปกป้องชีวิตคนอเมริกัน ซึ่งนิวสวีกชี้ว่า แต่กลับเป็นว่าการออกมาแสดงความเห็นนี้สร้างความไม่พอใจต่อประธานาธิบดีเม็กซิโกจนถึงขั้นส่งคำเตือนออกมาในที่สุด






กำลังโหลดความคิดเห็น