xs
xsm
sm
md
lg

‘จอร์จ โซรอส’ ต้องทวีตยืนยัน ‘ยังแข็งแรงดีอยู่’ หลังโซเชียลลือหนักว่าหัวใจวายตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


มหาเศรษฐีผู้ฉาวโฉ่ จอร์จ โซรอส ขณะตอบคำถามภายหลังกล่าวปราศรัย ณ รายการประชุมข้างเคียงรายการหนึ่งของเวทีประชุมประจำปี เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ที่ดาวอส
จอร์จ โซรอส มหาเศรษฐีนักลงทุนที่สนับสนุนแนวคิดเสรีนิยม และมีชื่อฉาวโฉ่จากการทำให้ผู้คนหลายประเทศต้องทุกข์ยากเดือดร้อนสืบเนื่องจากการเก็งกำไรค่าเงินตราของเขา ออกมาทวีตยืนยันในวันจันทร์ (15 พ.ค.) ตนเอง “ยังมีชีวิตและแข็งแรงดี” หลังข่าวลือสะพัดจนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ว่า เขาหัวใจวายตายเมื่อคืนวันอาทิตย์ (14) โดยต้นตอข่าวปลอมมาจากบัญชีที่มีผู้ติดตามเพียง 3 คน

“ข่าวลือที่ว่าผมหัวใจวายเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ ผมยังมีชีวิตอยู่และแข็งแรงดี” โซรอส ซึ่งปัจจุบันอายุ 92 ปี โพสต์บนทวิตเตอร์เมื่อเช้าวันจันทร์ (15)

ทั้งนี้ แฮชแท็ก “จอร์จ โซรอสตายแล้ว” ติดเทรนด์บนทวิตเตอร์เมื่อคืนวันอาทิตย์ หลังจากบัญชีทวิตเตอร์ที่ชื่อว่า โพลิทิกส์ ฟอร์ ออลล์ ไอร์แลนด์ ที่มีผู้ติดตามแค่ 3 คนในขณะนั้น ทวีตว่า ครอบครัวของโซรอสยืนยันว่า พ่อมดการเงินผู้นี้เสียชีวิตแล้ว

หลังจากนั้น ทวีตดังกล่าวที่ถูกลบไปแล้ว ถูกผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่เป็นนักทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดชื่อ ซิลเลียน นำไปโพสต์ต่อโดยอ้างว่า โซรอสเสียชีวิตจากอาการหัวใจวายรุนแรง

ทวีตของซิลเลียนมีคนเข้าไปดูกว่า 745,000 ครั้งและกลายเป็นไวรัลอย่างรวดเร็ว โดยผู้ใช้หลายคนเชื่อว่า โซรอสตายแล้วจริงๆ จนกระทั่งโซรอสออกมายืนยันเมื่อวันจันทร์ว่า เขายังมีชีวิตอยู่

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีข่าวลือโซรอสลาโลก เมื่อปี 2013 สำนักข่าวรอยเตอร์เคยพลาดอย่างแรงจากการเผยแพร่ข่าวมรณกรรมโซรอส ที่เขียนเตรียมเอาไว้ล่วงหน้า

ข่าวดังกล่าวที่เผยแพร่ทางออนไลน์ราว 30 นาทีก่อนถูกลบออก มีข้อความว่า “จอร์จ โซรอส เสียชีวิตเมื่อ XXX ด้วยวัย XXX ปี เป็นนักการเงินและนักลงทุนที่มีสัญชาตญาณนักล่าและประสบความสำเร็จอย่างมาก ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเขาได้คัดค้านลัทธิทุนนิยมเสรีที่ทำให้ตัวเองกลายเป็นมหาเศรษฐี”

หลังจากนั้นรอยเตอร์ออกคำแถลงขอโทษสำหรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และโฆษกของโซรอสยืนยันว่า นักการเงินที่ปักหลักอยู่ในนิวยอร์กผู้นี้ยังมีชีวิตอยู่

ทั้งนี้ โซรอสเกิดในครอบครัวชาวยิวในฮังการี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาปกปิดเทือกเถาเหล่ากอของตัวเอง และทำงานกับนาซีผู้ยึดครอง ซึ่งเขาเปิดเผยในภายหลังว่า เป็นงานที่จำเป็นต้องทำ แต่เขาไม่รู้สึกผิดแม้แต่น้อย

หลังสงคราม เขาย้ายไปอังกฤษและเริ่มทำงานกับธนาคารอังกฤษและอเมริกัน ปี 1970 เขาก่อตั้งกองทุนบริหารความเสี่ยงโดยใช้ชื่อตัวเอง และกลายเป็นคนดังเพียงชั่วข้ามคืนหลังขายชอร์ตเงินปอนด์มูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ ก่อนที่ค่าสกุลเงินตราของอังกฤษจะดิ่งลงในปี 1992 และทำให้เขาฟันกำไรเหนาะๆ 1,000 ล้านดอลลาร์ อีกทั้งทำให้เขาได้ฉายาว่า “บุรุษผู้ล้มระบบธนาคารกลางอังกฤษ”

อย่างไรก็ตาม พ่อมดการเงินผู้นี้ยังเป็นที่รู้จักในฐานะนักเคลื่อนไหวด้านเสรีนิยม โดยที่ มูลนิธิโอเพน โซไซตี้ ของเขามีเครือข่ายทั่วโลกซึ่งรออัดฉีดเงินให้องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) และมูลนิธิต่างๆ ด้วยจุดประสงค์ในการส่งเสริมกระแสโลกาภิวัฒน์และอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ฝ่ายซ้าย

เงินของโซรอสได้ถูกนำไปอัดฉีดให้นักเคลื่อนไหวสนับสนุนผู้อพยพในยุโรป รวมถึงอุดหนุนแคมเปญหาเสียงของผู้สมัครตำแหน่งอัยการเขต ที่มี “หัวก้าวหน้า” ในอเมริกา ซึ่งกลุ่มอนุรักษนิยมกล่าวหาว่า “อ่อนแอในการจัดการอาชญากรรม”

โซรอสยังให้เงินสนับสนุนแคมเปญเพื่อการเซ็นเซอร์ทางออนไลน์ ถือหุ้นในบริษัทสื่อนับร้อยแห่งทั่วโลก และเป็นผู้บริจาครายใหญ่สุดในการเลือกตั้งกลางเทอมของอเมริกาเมื่อปีที่แล้ว

(เดลิเมล, อาร์ที, เอเจนซีส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น