สหรัฐฯ นำข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนหัวรบนิวเคลียร์มาเปิดเผยต่อสาธารณชนเมื่อวานนี้ (15 พ.ค.) พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัสเซียทำตาม หลังจากที่มอสโกขอระงับการมีส่วนร่วมในสนธิสัญญา New START ซึ่งเป็นข้อตกลงจำกัดหัวรบนิวเคลียร์หนึ่งเดียวที่เหลืออยู่ระหว่าง 2 มหาอำนาจ
การออกมาเปิดเผยข้อมูลในครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนท่าทีอย่างกะทันหันของฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเดือน มี.ค.เพิ่งประกาศจะไม่แชร์ข้อมูลหัวรบนิวเคลียร์ตามเงื่อนไข New START อีกต่อไป ตราบใดที่รัสเซียเองก็ไม่ทำ
“สหรัฐฯ มองว่าความโปร่งใสในบรรดารัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยป้องกันความเข้าใจผิด การประเมินที่คลาดเคลื่อน และการแข่งขันด้านอาวุธที่มีค่าใช้จ่ายสูง” กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในถ้อยแถลง
“สหรัฐฯ ขอเรียกร้องให้สหพันธรัฐรัสเซียรักษาพันธกรณีตามกฎหมายด้วยการกลับมาปฏิบัติตามเงื่อนไขสนธิสัญญา New START และมีมาตรการตรวจสอบความโปร่งใสตามที่ระบุไว้ในสัญญาอย่างสมบูรณ์”
กระทรวงการต่างประเทศย้ำว่า การแถลงข้อมูลของฝ่ายสหรัฐฯ นั้นเป็นไปด้วย “ความสมัครใจ” โดยระบุว่า สหรัฐฯ มีจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ประจำการอยู่รวมทั้งสิ้น 1,419 หัวรบ ณ วันที่ 1 มี.ค.
ตัวเลขดังกล่าวลดลงจากจำนวน 1,515 หัวรบในเดือน มี.ค. ปี 2022 และยังอยู่ภายใต้ขีดจำกัดของสนธิสัญญา New START ที่ลงนามกันไว้เมื่อปี 2010 ซึ่งกำหนดให้แต่ละฝ่ายประจำการหัวรบนิวเคลียร์ได้ไม่เกิน 1,550 หัวรบ
ปีที่แล้ว รัสเซียแถลงว่ามีจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ประจำการอยู่ทั้งสิ้น 1,474 หัวรบ
หัวรบนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ถูกติดตั้งบนขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (ICBM) และระบบปล่อยอาวุธอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 662 หัวรบ ลดลงจากจำนวน 686 เมื่อปีที่แล้ว และยังอยู่ภายใต้ข้อจำกัดไม่เกิน 700 หัวรบ ขณะที่ฝ่ายรัสเซียแจ้งตัวเลขเมื่อปีที่แล้วจำนวน 526 หัวรบ
สหรัฐฯ ยืนยันว่ามีระบบแท่นยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ทั้งที่ประจำการและไม่ประจำการอยู่ที่จำนวน 800 หน่วย ซึ่งเป็นเพดานสูงสุดที่ได้รับอนุญาตตามสนธิสัญญา New START และเป็นจำนวนเท่ากับปีที่ผ่านมา
สนธิสัญญา New START ซึ่งเป็นมรดกจากยุคสงครามเย็นถูกลงนามในยุคของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา และอดีตประธานาธิบดี ดมิตรี เมดเวเดฟ ในช่วงที่ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียค่อนข้างผ่อนคลาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ของทั้ง 2 ฝ่าย และสนับสนุนให้เกิดความโปร่งใส
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ประกาศต่ออายุสนธิสัญญา New START ต่อไปอีก 5 ปีทันที หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ เมื่อปี 2021
ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียได้แถลงเมื่อเดือน ก.พ. ในช่วงครบรอบ 1 ปีสงครามรุกรานยูเครน โดยประกาศว่ารัสเซียขอระงับการมีส่วนร่วมในข้อตกลงฉบับนี้ ทว่ายังไม่ถึงขั้น “ถอนตัว”
รัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคของ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาวิจารณ์สนธิสัญญา New START ว่าไม่เป็นธรรมเท่าที่ควร เนื่องจากไม่มีการดึง “จีน” เข้ามามีส่วนร่วม โดยจีนนั้นแม้จะมีอาวุธนิวเคลียร์น้อยกว่าสหรัฐฯ และรัสเซียมาก ทว่าขนาดคลังแสงนิวเคลียร์ของปักกิ่งก็มีแนวโน้มว่าจะขยายเติบโตอย่างรวดเร็ว
ที่มา : รอยเตอร์