รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง วันจันทร์ (14 พ.ค.) เปิดทำเนียบกลางกรุงปารีส พบเจ้าของเทสลา อีลอน มัสก์ และผู้บริหารคนสำคัญคนอื่นๆ ในงานประชุมซัมมิตซีอีโอข้ามชาติแวร์ซายประจำปี หว่านล้อมให้เลือกฝรั่งเศสสำหรับการลงทุน
รอยเตอร์รายงานวานนี้ (14 ก.พ.) ฝรั่งเศสกำลังจะได้การลงทุนข้ามชาติครั้งมโหฬารกลายเป็นผลงานแรกของประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง ที่ต้องสั่นสะเทือนจากมาตรการปฏิรูประบบการเกษียณอายุของพลเมืองแดนน้ำหอม
ในงานซัมมิตเลือกฝรั่งเศส หรือ "Choose France" ประจำปีซึ่งจัดขึ้นในแวร์ซาย มาครงนั่งจับเข่าคุยมหาเศรษฐีพันล้านอเมริกัน อีลอน มัสก์ เจ้าของเทสลาหว่านล้อมให้เข้ามาลงทุนในแดนน้ำหอม
บรรดาซีอีโอบริษัทข้ามชาติที่เข้าร่วมงานซัมมิตต่างให้สัญญาจะเข้ามาลงทุนในฝรั่งเศสตามการเชิญชวนของมาครง มูลค่ารวม 13 พันล้านยูโร หรือราว 14 พันล้านดอลลาร์ ถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ผู้นำฝรั่งเศสเริ่มต้นจัดงานซัมมิตมาตั้งแต่ปี 2018
รอยเตอร์รายงานว่า มาครงเปิดทำเนียบต้อนรับอีลอน มัสก์ ในวันจันทร์ (14) ซึ่ง มัสก์ซึ่งนั่งตรงกันข้ามกับผู้นำฝรั่งเศสภายในทำเนียบที่โอ่อ่าและประดับไปด้วยสีทอง มีรายงานว่า มัสก์ได้กล่าวติดตลกที่บังเอิญถูกกล้องทีวีบันทึกไว้ได้ก่อนการพบปะกับประธานาธิบดีฝรั่งเศสมีใจความว่า “เขาเคยต้องนอนหลับในรถมาแล้ว”
ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ของทำเนียบฝรั่งเศสที่ออกมาหลังการหารือมีใจความว่า การพบปะครอบคลุมในหลายประเด็นของความสนใจร่วมกัน โดยเฉพาะปฏิกิริยาของยุโรปที่มีต่อกฎหมายพลังงานสีเขียวสหรัฐฯ U.S. Inflation Reduction Act
และรวมไปถึงความก้าวหน้าของฝรั่งเศสที่มีต่อการดึงดูดการลงทุนและการพัฒนาในภาพรวมต่อรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงาน
มาครงกล่าวผ่านทางทวิตเตอร์ว่า “พวกเรามีหลายสิ่งที่ต้องทำร่วมกัน”
ทั้งนี้ ที่ซัมมิตพบว่า มัสก์เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมการอุตสาหกรรมสีเขียวในเวลา 15.00 น. และได้ร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำร่วมกับซีอีโอคนอื่นหลังจากนั้น
รอยเตอร์รายงานว่า รัฐมนตรีการคลังฝรั่งเศส บรูโน เลอ แมร์ (Bruno Le Maire) จะออกปากเชิญชวนมัสก์ให้เข้ามาลงทุนภายในฝรั่งเศสโดยใช้นโยบายทางภาษีเป็นแรงจูงใจสำหรับอุตสหกรรมสีเขียวที่มาครงผู้นำฝรั่งเศสได้ประกาศต่อสาธารณะสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังฝรั่งเศสแถลง
รอยเตอร์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ฝรั่งเศสพยายามหว่านล้อมบริษัทเทสลาให้สร้างโรงงานกิกะแฟกทอรียุโรปขึ้นในแดนน้ำหอม แต่ทว่า อีลอน มัสก์ตัดสินใจเลือกเยอรมนีแทนในที่สุด