xs
xsm
sm
md
lg

บังกลาเทศเตรียมรับมือ ‘ไซโคลนโมคา’ ซัดถล่ม เร่งอพยพผู้ลี้ภัย ‘โรฮิงญา’ จากพื้นที่เสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจ้าหน้าที่บังกลาเทศสั่งอพยพผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาออกจากพื้นที่เสี่ยง หลัง “ไซโคลนโมคา” ซึ่งทวีกำลังเป็นพายุไซโคลนที่มีกำลังแรงสุดในรอบเกือบ 20 ปี มีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่งบังกลาเทศและพม่าในช่วงเช้าวันพรุ่งนี้ (14 พ.ค.)

เจ้าหน้าที่อุตุนิยมวิทยากรุงธากา ระบุว่า ไซโคลนโมคาซึ่งมีความเร็วลมสูงสุดถึง 175 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จัดเป็นพายุที่มีความรุนแรงมาก (very severe) ขณะที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาอินเดียจัดระดับพายุลุกนี้อยู่ในขั้น “ร้ายแรง” (extremely severe)

พายุลูกนี้คาดว่าจะพัดขึ้นฝั่งบริเวณระหว่างเมืองค็อกซ์บาซาร์ (Cox’s Bazaar) ของบังกลาเทศ ซึ่งเป็นที่ตั้งแคมป์ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเกือบ 1 ล้านคน กับเมืองซิตตเว (Sittwe) ในรัฐยะไข่ของพม่าในช่วงเช้าวันอาทิตย์ (14)

“ไซโคลนโมคาเป็นพายุที่คาดว่าจะรุนแรงที่สุดหลังจากไซโคลนซิดร์ (Sidr)” อาซีซูร์ ราห์มาน หัวหน้าสำนักงานอุตุนิยมวิทยาบังกลาเทศให้สัมภาษณ์กับ AFP


ไซโคลนซิดร์ซึ่งซัดถล่มชายฝั่งตอนใต้ของบังกลาเทศเมื่อเดือน พ.ย. ปี 2007 ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 3,000 คน และสร้างความเสียหายเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ รัฐบาลบังกลาเทศไม่อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่หลบหนีความรุนแรงมาจากพม่าเมื่อ 5 ปีก่อนสร้างที่พักอาศัยที่เป็นโครงสร้างถาวรแข็งแรง เนื่องจากเกรงว่าจะคนเหล่านี้จะเข้ามาตั้งหลักปักฐาน และไม่ยอมเดินทางกลับไปพม่าอีก

เจ้าหน้าที่อุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ไซโคลนโมคาจะทำให้เกิดฝนตกหนักและดินถล่ม ซึ่งแคมป์ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาส่วนใหญ่ถูกปลูกสร้างอยู่ตามพื้นที่เนินเขาที่เกิดปรากฏการณ์ดินสไลด์มาแล้วหลายครั้ง

อิทธิพลของพายุลูกนี้ยังคาดว่าจะทำให้เกิดคลื่นพายุซัดฝั่ง (storm surge) สูงสุดถึง 4 เมตร ซึ่งจะทำให้ชุมชนที่ตั้งอยู่ริมชายฝั่งเกิดน้ำท่วมสูง

เจ้าหน้าที่บังกลาเทศได้ส่งอาสาสมัครหลายพันคนเข้าไปช่วยอพยพชาวโรฮิงญาออกจาก “พื้นที่เสี่ยงภัย” และพาพวกเขาไปอาศัยอยู่ตามสถานที่พักพิงที่แข็งแรง เช่น โรงเรียน เป็นต้น ขณะที่ ซัมซุด ดูซา รองกรรมาธิการฝ่ายผู้ลี้ภัยของบังกลาเทศ บอกกับ AFP ว่า “ชาวโรฮิงญาในแคมป์ผู้ลี้ภัยทุกคนล้วนตกอยู่ในความเสี่ยงทั้งหมด”

ที่มา : เอเอฟพี


กำลังโหลดความคิดเห็น