xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : บันทึกประวัติศาสตร์! พระราชพิธีบรมราชาภิเษก "พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3" แห่งอังกฤษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร และอีก 14 รัฐในเครือจักรภพ เมื่อวันเสาร์ที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่จัดขึ้นครั้งแรกในรอบ 70 ปี และเป็นการหลอมรวมผสมผสานระหว่างราชประเพณีอันเก่าแก่ยาวนานนับพันปี กับบทบาทของราชวงศ์ซึ่งถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยใหม่

ด้วยพระชนมายุ 74 พรรษา สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพระชนมายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ได้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษก ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ หลังจากที่ทรงดำรงอยู่ในตำแหน่งรัชทายาทลำดับที่ 1 มาตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ทรงเป็นพระราชมารดา

พระราชพิธีกำหนดเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 11.00 น. โดยแบ่งออกเป็นหลายช่วง และแต่ละช่วงจะคั่นด้วยการบรรเลงดนตรี กระทั่งเวลา 12.02 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงลอนดอน จัสติน เวลบี อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ได้ทำการสวมพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดซึ่งทำจากทองทำแท้ลงบนพระเศียรของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งถือเป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ และเป็นสัญลักษณ์แทนอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ ยังมีเครื่องราชกกุธภัณฑ์ หรือสิ่งของอันเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเป็นกษัตริย์อื่นๆ อย่างเช่น ลูกโลก (Sovereign's Orb) พระคทากางเขน (Sovereign's Sceptre with Cross) พระคทานกพิราบ (Sovereign's Sceptre with Dove) ที่ถูกถวายให้แก่พระองค์

อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรียังได้ประกอบพิธีสวมมงกุฎให้แก่สมเด็จพระราชินีคามิลลา พระชนมายุ 75 พรรษา และเป็นอีกครั้งที่สถานะของพระนางได้ถูกเปลี่ยนแปลงจากอดีตชู้รักหลวง (royal mistress) สู่การเป็นพระราชินีพระราชชายา (queen consort) และเป็นสมเด็จพระราชินี (queen) ในวันนี้

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ทรงมีเด็กชายหญิงทำหน้าที่เป็นมหาดเล็กเฉลิมพระเกียรติ (pages of honor) พระองค์ละ 4 คน รวมเป็น 8 คน หนึ่งในนั้นคือ เจ้าชายจอร์จ พระราชนัดดาที่เป็นพระโอรสองค์โตของเจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ และยังมีพระนัดดาของพระราชินีคามิลลาเองอีก 5 คน

เสียงประโคมดนตรีภายในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ดังกึกก้องไปพร้อมๆ กับเสียงยิงสลุตทั้งในอังกฤษ และประเทศในเครือจักรภพ สะท้อนถึงบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองการเถลิงถวัลยราชสมบัติของกษัตริย์พระองค์ใหม่

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงมีพระราชดำรัสระหว่างประกอบพิธีสวมมงกุฎในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้มาเพื่อที่จะถูกรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้” ขณะที่พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง และแขกผู้เข้าร่วมในพระราชพิธีราว 2,300 คน ซึ่งมีทั้งประมุขรัฐและสมาชิกราชวงศ์ต่างชาติ ต่างเปล่งเสียงถวายพระพร "God Save the King" ดังกึกก้องไปทั่วทั้งมหาวิหาร

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้ส่งสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง "จิลล์ ไบเดน" มาเป็นตัวแทนเข้าร่วมพระราชพิธีในครั้งนี้ พร้อมทวีตข้อความถวายพระพร และยกย่องมิตรภาพอันแน่นแฟ้นยาวนานระหว่างสหรัฐฯ กับสหราชอาณาจักร ขณะที่ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศสซึ่งเดินทางมาร่วมพิธีด้วยตนเอง กล่าวว่า "รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้อยู่ร่วมกับพระองค์ในวันแห่งประวัติศาสตร์นี้"

หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีภายในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลสฺที่ 3 สมเด็จพระราชินีคามิลลา และพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จออกสีหบัญชร ณ ระเบียงพระราชวังบักกิงแฮม ท่ามกลางประชาชนนับหมื่นที่ต่างเปล่งเสียงถวายพระพร ขณะที่ฝูงบินรบของกองทัพอากาศอังกฤษจำนวนกว่า 60 ลำที่มีกำหนดต้องบินเหนือท้องฟ้าพระราชวังบักกิงแฮม ในเวลา 14.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น จำเป็นต้องปรับการแสดงบินผาดโผนให้มีขนาดเล็กลง เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ


แม้พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะยังคงไว้ซึ่งขั้นตอนต่างๆ อันศักดิ์สิทธิ์และขรึมขลังเพื่อประกาศถึงพระราชอำนาจที่ “ไร้ข้อกังขา” ในฐานะกษัตริย์ของประชาชนชาวสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ ทว่าทางสำนักพระราชวังเองพยายามที่จะปรับแง่มุมอื่นๆ ให้เข้ากับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้บาทหลวงและนักร้องประสานเสียงที่เป็นสตรีเข้าร่วมในพิธีได้เป็นครั้งแรก รวมไปถึงการเชื้อเชิญบรรดาผู้นำศาสนาอื่นๆ ในอังกฤษ และการนำกลุ่มภาษาเคลต์ เช่น Welsh, Scottish Gaelic และ Irish Garlic มาใช้ในพิธี เป็นต้น

แม้ในฐานะพระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงเป็นผู้ปกครองสูงสุดของโบสถ์ Church of England และทรงประกาศตนเป็นชาวคริสต์แองกลิกันอย่างมั่นคง ทว่ารายละเอียดต่างๆ ในพระราชพิธีก็สะท้อนให้เห็นว่า ทรงเป็นประมุขของอังกฤษซึ่งมีความหลากหลายในด้านเชื้อชาติศาสนามากกว่าเมื่อ 70 ปีที่แล้วที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงขึ้นครองราชย์ และอีกทั้งยังสะท้อนเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) และความยั่งยืน (sustainability) ซึ่งเป็นประเด็นที่ทรงเอาพระทัยใส่มาตลอดพระชนม์ชีพ

ในวันจันทร์ที่ 8 พ.ค. สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ได้ทรงมีพระราชดำรัสขอบใจต่อประชาชนชาวอังกฤษ โดยตรัสว่าของขวัญที่ดีที่สุดในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกคือการสนับสนุนจากประชาชน

“การได้รับรู้ว่า เราได้รับการสนับสนุนจากพวกท่าน และเป็นพยานต่อความจงรักภักดีที่พวกท่านได้แสดงออกผ่านหลายช่องทางนั้น ถือได้ว่าเป็นของขวัญวันบรมราชาภิเษกที่ดีที่สุด และเราขอปวารณาในการอุทิศตัวเพื่อประชาชนอังกฤษ ดินแดน และสหราชอาณาจักร” ข้อความใสพระราชสาส์น ระบุ

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ยังตรัสขอบใจไปยังบรรดาเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องที่ทำให้งานเฉลิมฉลองทั้งที่กรุงลอนดอน พระราชวังวินด์เซอร์ และสถานที่อื่นๆ เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขและปลอดภัย

ในวันเดียวกัน สำนักพระราชวังบักกิงแฮมยังได้เผยแพร่พระบรมฉายาลักษณ์หมู่ครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 โดยสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ทรงประทับอยู่ตรงกลางระหว่างเจ้าฟ้าหญิงแอนน์ พระราชกนิษฐา และสมเด็จพระราชินีคามิลลา รวมถึงยังมีเจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ และเจ้าหญิงแคทเธอรีน เจ้าหญิงแห่งเวลส์ อยู่ร่วมในพระบรมฉายาลักษณ์หมู่นี้ด้วย

หนังสือพิมพ์ Daily Mail รายงานว่า นี่เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ทางการที่สะท้อนถึงแนวคิดการลดขนาดราชวงศ์ และไม่ปรากฏว่ามี “เจ้าชายแฮร์รี ดยุคแห่งซัสเซกซ์” เข้าร่วมในการถ่ายภาพครั้งนี้

เจ้าชายแฮร์รีซึ่งออกมาให้สัมภาษณ์โจมตีราชวงศ์อังกฤษเสียๆ หายๆ หลายครั้งหลังจากที่ตัดสินพระทัยพาพระชายา “เมแกน” ย้ายไปอาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2020 เสด็จกลับมาอังกฤษอย่างเงียบๆ ด้วยสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ส และเดินทางกลับสหรัฐฯ เกือบจะทันทีหลังจากที่พระราชพิธีสิ้นสุดลง โดยไม่ได้เสด็จออกสีหบัญชร และไม่ได้มีการฉายพระรูปหมู่ร่วมกับสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ และพระบรมวงศานุวงศ์

ทั้งนี้ มีรายงานจากหนังสือพิมพ์เดอะซันว่า เจ้าชายแฮร์รีทรงตั้งพระทัยที่จะรีบกลับไปแคลิฟอร์เนียให้ทันวันคล้ายวันประสูติครบรอบ 4 ชันษาของพระโอรสน้อย “อาร์ชี”

สำนักข่าว BBC รายงานเมื่อวันอาทิตย์ (8) ว่า การถ่ายทอดสดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกผ่านทาง BBC television มียอดผู้เข้าชมมากกว่า 14 ล้านคน ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับงานพระราชพิธีสำคัญอื่นๆ ในอดีต เช่น พระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งประเมินกันว่ามีผู้ชมการถ่ายทอดสดเฉพาะทางโทรทัศน์ไม่ต่ำกว่า 26.2 ล้านคน และมากถึง 28 ล้านคนในช่วงพีก ขณะที่พระราชพิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าชายวิลเลียมกับ น.ส.แคทเธอรีน มิดเดิลตัน ในปี 2011 ก็มียอดผู้ชมถ่ายทอดสดทาง BBC มากกว่า 24 ล้านคน


- รัชสมัย ‘ชาร์ลส์ที่ 3’ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

แม้พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี และยังถือเป็นครั้งแรกที่อังกฤษได้จัดพิธีการครองราชย์ของ "พระราชา" นับตั้งแต่ปี 1937 แต่กระนั้นก็ใช่ว่าชาวอังกฤษทุกคนจะเต็มใจร่วมยินดีกับโอกาสอันสุดพิเศษนี้

ตำรวจอังกฤษได้จับกุมผู้ประท้วงต่อต้านราชวงศ์ จำนวน 52 คน โดยอาศัยกฎหมายพิเศษที่รัฐบาลอังกฤษเสนอและผ่านความเห็นชอบจากสภาอย่างเร่งด่วนเพื่อใช้รับมือกับกลุ่มที่จงใจออกมาสร้างความวุ่นวายในวันพระราชพิธี

ตำรวจนครบาลลอนดอนได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ราว 11,500 นายเพื่อปฏิบัติการคุมเข้มครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง และได้ประกาศเตือนล่วงหน้าว่าเจ้าหน้าที่จะเปิดพื้นที่ "น้อยมาก" สำหรับการประท้วงใดๆ ก็ตาม หลังได้รับข่าวกรองว่าอาจจะมีกลุ่มบุคคลที่พยายามใช้สีพ่นทำลายอนุสรณ์สถานต่างๆ ฝ่าแนวกั้น หรือแม้กระทั่งพยายามขัดขวางขบวนเสด็จ

กลุ่ม Republic ซึ่งเป็นขบวนการต่อต้านล้มล้างราชวงศ์อังกฤษและสนับสนุนการมีประมุขรัฐที่มาจากการเลือกตั้ง ยืนยันว่ามีคณะผู้จัดกิจกรรม 6 คนถูกตำรวจควบคุมตัว ขณะที่กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม Stop Oil ก็ระบุว่ามีสมาชิกถูกจับไปทั้งสิ้น 19 คนเช่นกัน

กระนั้นก็ดี ยังคงมีนักเคลื่อนไหวจากกลุ่ม Republic ยืนถือป้ายประกาศจุดยืนไม่รับรองสถานะของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ (Not my King) ตลอดเส้นทางขบวนเสด็จพระราชดำเนิน

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่ง เช่น ฮิวแมนไรต์วอตช์ (Human Rights Watch) และองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) และได้ออกแถลงการณ์ประณามการจับกุมผู้ประท้วงในครั้งนี้ โดยทาง HRW ระบุว่า “มันเป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นในมอสโกมากกว่า ไม่ใช่ลอนดอน”

ขณะเดียวกัน ยังมีกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านราชวงศ์หลายร้อยคนออกมาทำกิจกรรมที่เมืองเอดินบะระ พร้อมป่าวร้องสโลแกน “down with the crown” ส่วนที่เมืองคาร์ดิฟฟ์ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นเวลส์ มีรายงานกิจกรรมของกลุ่มต่อต้านราชวงศ์อังกฤษเช่นกัน


ผลสำรวจความคิดเห็นจากหลายสำนักบ่งบอกตรงกันว่า คนอังกฤษให้การสนับสนุนสถาบันกษัตริย์น้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนหนุ่มสาว

โพลของ YouGov ซึ่งจัดทำเพื่อสำนักข่าว BBC ในช่วงก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเพียงไม่กี่วันพบว่า มีคนอังกฤษซึ่งอายุระหว่าง 18-35 ปี มากถึง 70% ที่ “ไม่สนใจ” ความเป็นไปของราชวงศ์

หนึ่งในคำถามที่ใช้ในการสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้ก็คือ “คุณสนใจเรื่องราวของราชวงศ์มากน้อยแค่ไหน?” ซึ่งปรากฏว่ามีเพียง 7% ที่ตอบว่า “สนใจอย่างมาก” และอีก 23% ตอบว่า “ค่อนข้างสนใจ” ขณะที่กลุ่มซึ่งตอบว่า “ไม่ค่อยสนใจ” และ “ไม่สนใจเลย” มีมากถึง 36% และ 34% ตามลำดับ

ในทางกลับกัน มีชาวอังกฤษที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมากถึง 58% ที่ตอบว่า “สนใจ” เรื่องราวของราชวงศ์ และอีก 42% ตอบว่า “ไม่สนใจ”

หากแยกข้อมูลตามกลุ่มเชื้อชาติ ผลสำรวจพบว่ากลุ่มคนอังกฤษผิวสีมีแนวโน้มที่จะใส่ใจเรื่องราวของราชวงศ์น้อยกว่าคนผิวขาว โดยมีคนผิวสีทุกช่วงวัยเพียง 33% ที่ตอบว่าสนใจความเป็นไปของราชวงศ์ และอีก 67% บอกว่าไม่สนใจ ขณะที่ชาวอังกฤษผิวขาวทุกช่วงวัยสนใจเรื่องราวของราชวงศ์ 44% และอีก 55% ไม่สนใจ

ด้านผลสำรวจของ CNN พบว่า เจ้าชายวิลเลียม และเจ้าหญิงแคทเธอรีนยังคงเป็นสมาชิกราชวงศ์อังกฤษที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยคนอังกฤษวัยผู้ใหญ่ 62% ตอบว่าพอใจบทบาทหน้าที่ของทั้ง 2 พระองค์ ส่วนกลุ่มที่ตอบว่าไม่พอใจมีเพียง 14% และ 13% ตามลำดับ นอกนั้นตอบว่าไม่มีความเห็น

CNN พบว่าคะแนนนิยมของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 นั้น “ต่ำกว่าครึ่ง” ในกลุ่มคนอังกฤษวัยผู้ใหญ่ และมีอยู่ 23% ที่ตอบว่าไม่พอใจ ขณะที่มุมมองต่อควีนคามิลลานั้นยิ่งแตกต่างกันมากขึ้นไปอีก โดยคนอังกฤษวัยผู้ใหญ่ตอบว่าพอใจในบทบาทของพระองค์ 34% ไม่พอใจ 32% และรู้สึกเฉยๆ 31%

ระดับความนิยมในตัวเจ้าชายแฮร์รีและดัชเชสเมแกนยิ่งตกต่ำมากเป็นพิเศษ โดย CNN พบว่ามีชาวอังกฤษวัยผู้ใหญ่ที่ไม่พอใจบทบาทของทั้งสองพระองค์ 52% และ 56% ตามลำดับ และมีไม่ถึง 3 ใน 10 คนที่ตอบว่ามีมุมมองเชิงบวกต่อทั้งคู่


คนอังกฤษจำนวนไม่น้อยที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาค่าครองชีพสูงยังตั้งคำถามด้วยว่า การนำเงินภาษีประชาชนไปใช้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งว่ากันว่าใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 100 ล้านปอนด์ เป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่อย่างไร

กระนั้นก็ตาม บรรดาแฟนคลับราชวงศ์นับพันนับหมื่นซึ่งมารวมตัวกันบนท้องถนนใจกลางกรุงลอนดอนเพื่อร่วมเป็นประจักษ์พยานในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็เป็นอีกหนึ่งดัชนีชี้วัดว่าสถาบันกษัตริย์ยังคงมีบทบาทสำคัญต่ออังกฤษในแง่มุมประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

“มันเป็นโอกาสที่ดีจนไม่อาจพลาดได้จริงๆ” นิค เดมอนต์ วัย 60 ปี ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวที่ด้านนอกมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ “ผมอาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นพระราชพิธีแบบนี้อีกแล้ว”

สื่ออังกฤษตั้งข้อสังเกตว่า ความยิ่งใหญ่ตระการตาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถูกแฝงไว้ด้วยปัญหาใหญ่หลายด้านที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะต้องเตรียมตัวเผชิญในรัชสมัยของพระองค์

รัฐบาลจาเมกา และเบลีซออกมาประกาศในสัปดาห์นี้ว่าจะเริ่มกระบวนการตัดความสัมพันธ์กับสถาบันกษัตริย์อังกฤษ และนำประเทศเปลี่ยนไปสู่กระบอบ “สาธารณรัฐ” ขณะที่ออสเตรเลีย แคนาดา และประเทศอื่นๆ ในเครือจักรภพก็มีแนวโน้มที่จะทำแบบเดียวกันในอนาคต

อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงความนิยมอันเสื่อมถอยก็คือการที่ “เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์” พระราชอนุชาในสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ซึ่งทรงถูกลดบทบาทลงไปมากจากการมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ เจฟฟรีย์ เอปสตีน (Jeffrey Epstein) มหาเศรษฐีนักค้ากามเด็ก ทรงถูกประชาชนบางส่วน “โห่ไล่” ระหว่างที่เสด็จเข้าร่วมพิธีในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์

จอช แกลนซี ผู้สื่อข่าวซันเดย์ไทม์ส ชี้ว่า “ร่องรอยความกังวล” ที่ปรากฏอยู่บนพระพักตร์ของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ระหว่างพิธีบรมราชาภิเษกเป็นเครื่องสะท้อนได้ดีว่า พระราชภาระที่ทรงแบกรับอยู่นั้นหนักหนาสาหัสเพียงใด

“พระองค์ทรงก้าวขึ้นปกครองอังกฤษในขณะที่ประเทศกำลังเต็มไปด้วยความสับสน ภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ถูกบั่นทอนด้วยกระแสข่าวอื้อฉาวมากมาย ทั้งพระอนุชาและพระโอรสองค์เล็กถูกกีดกันให้กลายเป็นเสมือนคนนอก ในขณะที่หลายประเทศในเครือจักรภพก็ตั้งท่าจะตีจาก” แกลนซี กล่าว
























กำลังโหลดความคิดเห็น