xs
xsm
sm
md
lg

ลือลั่น!! ปักกิ่งส่งเรือยามฝั่งเข้า “เขตเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเลโฮจิมินห์” ใกล้ “แท่นขุดเจาะรัสเซีย-เวียดนาม” ขวางซ้อมรบอาเซียนของอินเดีย-สิงคโปร์ที่มี "ไทย" เข้าร่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์/เอพี/เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - เรือยามฝั่งจีน 2 ลำ มาพร้อมกับเรือสำรวจจีนและเรือประมงเกือบ 1 โหลเข้าเขตเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเลเวียดนามในทะเลจีนใต้ ใกล้แท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเลของรัสเซีย-เวียดนาม กลายเป็นเรื่องทดสอบความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติปักกิ่ง-มอสโกที่ถึงแม้กอดคอเป็นเพื่อนรักแต่ขัดแย้งทางผลประโยชน์ในทะเลจีนใต้ ส่งกองเรือวิ่งผ่านเขตเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเลเวียดนามระหว่างการฝึกซ้อมรบอาเซียนของอินเดีย-สิงคโปร์ ที่มี "ไทย" เข้าร่วมระหว่างวันที่ 7-8 พ.ค. สะท้อนถึงคำเตือนอดีตทูตอเมริกันประจำไทยเคยออกโรงเตือน "พฤติกรรมจีน" ในทะเลจีนใต้ส่งผลกระทบต่อไทยได้อย่างไร

รอยเตอร์รายงานวันนี้ (11 พ.ค.) ว่า กลุ่มสังเกตการณ์ 2 กลุ่มยืนยันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับรอยเตอร์ซึ่งเกิดในวันพุธ (10) ที่เห็น “ปักกิ่ง” ยังคงพยายามใช้การคุกคามและข่มขู่เพื่ออ้างสิทธิอันชอบธรรมเหนือพื้นที่เขตทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดไว้

ทั้งนี้ พบว่าเรือยามฝั่งจีน 2 ลำมาพร้อมกับเรือสำรวจจีน 1 ลำ และกองเรือประมงจีนอีก 11 ลำ ผ่านเข้าบล็อก 04-03 ที่เป็นหลุมสำรวจแหล่งทรัพยากรก๊าซธรรมชาติของบริษัท Vietsovpetro ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทพลังงานรัสเซีย Zarubezhneft และบริษัทพลังงานเวียดนาม PetroVietnam และพบว่าเรือจีนทั้งหมดยังคงอยู่ภายในพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่ภายในเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเลของเวียดนามถึงแม้พระอาทิตย์จะตกดินไปแล้ว

นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มเรือจีนยังเข้าไปใกล้หลุมสำรวจบล็อก 05-1 B ของบริษัทพลังงาน Idemitsu Oil & Gas ซึ่งเป็นหน่วยหนึ่งของบริษัทญี่ปุ่น Idemitsu Kosan อ้างอิงข้อมูลจากกลุ่มสังเกตการณ์

รอยเตอร์กล่าวว่า ในวันพุธ (10) กองเรือจีนอยู่ห่างออกไปราว 10 ไมล์ทะเลจากฐานแท่นขุนเจาะกลางทะเลของบริษัทญี่ปุ่น และห่างออกราว 20 ไมล์ทะเลจากฐานแท่นขุดเจาะน้ำมันของรัสเซีย-เวียดนาม อ้างอิงจากองค์กรไม่แสวงหาผลประโยชน์ South China Sea Chronicle Initiative (SCSCI)

ซึ่งตามการรายงานพบว่า ฝูงเรือจีนนั้นเคลื่อนตัวด้วยความเร็วเต็มที่ก่อนเข้าไปด้านในเขตเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเลของเวียดนามและลดระดับความเร็วลงที่ 4-5 นอต โดยชี้ให้เห็นว่าเรือกำลังทำการสำรวจที่นั่น Van Pham จาก SCSCI เปิดเผย

รอยเตอร์กล่าวว่า กลายเป็นเรื่องทดสอบความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติปักกิ่ง-มอสโกที่ถึงแม้กอดคอเป็นเพื่อนรักแต่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในทะเลจีนใต้

ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่ธรรมดา เรย์ พาวเวลล์ (Ray Powell) ผู้นำการศึกษา Project Myoushu ประจำมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในทะเลจีนใต้แสดงความเห็น โดยเขาให้เหตุผลว่า เป็นเพราะจำนวนของเรือที่เข้าร่วมและมีเรือยามฝั่งจีนเข้ามาเกี่ยวข้อง

พาวเวลล์ชี้ว่า “ดูเหมือนเป็นสารที่ส่งออกมาเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจรัฐของจีนต่อปฏิบัติการทางก๊าซและน้ำมันของเวียดนาม” พร้อมเสริมต่อว่า มีเรือสำราจทางการประมงเวียดนาม 3 ลำได้เคลื่อนตัวเข้าใกล้ฝูงเรือจีน

แต่ทว่าปักกิ่งกลับปัดโดยชี้ว่าเป็นความเคลื่อนไหวปกติของฝ่ายตนเอง โดยกระทรวงต่างประเทศจีนกล่าวยืนยันว่า เป็นความเคลื่อนไหวปกติ พร้อมกับชี้ว่า เรือสำรวจทางวิทยาศาสตร์จีนและเรือประมงจีนออกปฏิบัติการตามปกติภายในเขตน่านน้ำภายใต้อำนาจรัฐของจีน”

ทั้งนี้ ปักกิ่งก่อนหน้าในปลายเดือนเมษายนเคยมีปัญหากับฟิลิปปินส์ใกล้หมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Islands) ในเขตน่านน้ำพิพาททะเลจีนใต้ถึงขั้นเกือบพุ่งชน แต่ยังดีที่เรือฟิลิปปินส์หยุดเรือตัวเองไว้ได้ทัน เอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา

ที่ผ่านมา จีนถูกกล่าวหาว่า แสดงพฤติกรรมแบบอั้งยี่ในการใช้เรือยามฝั่งจีนและกองเรือจับปลาของตัวเองเป็นเสมือนกองกำลังอั้งยี่เพื่อคุกคามและใช้ขัดขวางปฏิบัติการขุดเจาะแหล่งพลังงานทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเลของหลายประเทศในทะเลจีนใต้ ที่รวมไปถึง มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

เอเอฟพีกล่าวว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 เม.ย. เมื่อเรือยามฝั่งจีนได้วิ่งตัดเรือตรวจการณ์ฟิลิปปินส์ที่พากลุ่มนักข่าวขึ้นไปดูสถานการณ์จริงในพื้นที่ โดยมีนักข่าวเอเอฟพีร่วมไปด้วย และเหตุการณ์ทำให้เรือ 2 ลำเกือบประสานงา

ทั้งนี้ พบว่าเหตุเกิดเมื่อเรือตรวจการณ์ฟิลิปปินส์เข้าไปใกล้เกาะ Second Thomas Shoal ซึ่งที่เป็นที่ตั้งหน่วยนาวิกโยธินฟิลิปปินส์ประจำในเรือกองทัพเรือฟิลิปปินส์ที่เกยตื้นเพื่อยืนยันเขตอธิปไตยของตัวเอง

ตามการรายงานระบุว่า เรือยามฝั่งจีนที่ใหญ่กว่าเป็น 2 เท่าวิ่งตรงดิ่งเข้ามาห่างจากเรือฟิลิปปินส์ไปแค่ระยะ 36 เมตร ถึง 46 เมตรจากหัวเรือ และเรือตรวจการณ์ฟิลิปปินส์ต้องใช้การตัดสินใจฉับพลันก่อนที่เรือจีนจะพุ่งชน

เอเอฟพีรายงานว่า นักข่าวเอเอฟพีมองเห็นเหตุการณ์จากเรืออีกลำ และพบมีเรือยามฝั่งจีนอีกลำลอยลำอยู่ไม่ห่าง

เอพีรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนการปะทะในเช้าวันอาทิตย์ที่ 23 เม.ย. เรือลาดตระเวนฟิลิปปินส์ได้รับสัญญาณเตือนทางวิทยุจากเรือตรวจการณ์จีนทั้งในภาษาจีนและภาษาอังกฤษที่บกพร่องให้เรือฟิลิปปินส์ออกไปจากพื้นที่ทันที แต่เรือลาดตระเวนฟิลิปปินส์ทั้ง 2 ลำยังคงมุ่งหน้าต่อไป แต่ทว่าหลังมีการสื่อสารทางวิทยุไม่กี่ครั้งและดูไม่ได้ผล ฝ่ายจีนส่งเสียงเตือนร้อนรนให้รู้ว่าอาจมีสิ่งไม่คาดฝันเกิดขึ้น

อ้างอิงจากกัปตันเรือตรวจการณ์ โรเดล เฮอร์นานเดซ (Rodel Hernandez) เปิดเผยในคำสัมภาษณ์ว่า หัวเรือของเราคงต้องชนหากว่าผมไม่ได้ตัดสินใจที่จะหยุดเรือลงและเปิดเผยว่าทำให้เครื่องยนต์เรือหยุดเพื่อให้ความเร็วลดลงและไม่เกิดการประสานงา

รอยเตอร์รายงานว่า ในวันอังคาร (9) ปักกิ่งยังคงอ้างว่าเป็นปฏิบัติการทางทะเลปกติของตัวเองปรากฏเมื่อกองเรือจีนแล่นเข้าไปภายในเขตพื้นที่การฝึกซ้อมทางทะเลที่มีอินเดียและสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ และมีหลายชาติเข้าร่วมรวมถึงไทย เกิดขึ้นภายในน่านน้ำเขตเศรษฐกิจจำเพาะของเวียดนามระหว่างวันที่ 7-8 พ.ค. ของการฝึกซ้อม Asean-India Maritime Exercises (AIME) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่อินเดียเป็นเจ้าภาพ

สื่อ WION ของอินเดียรายงานว่า มีการพบเห็นเรือจีนไม่กี่ลำปรากฏตัวอยู่ใกล้พื้นที่ห่างออกไปแค่ 100 ไมล์ทะเล

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวภายในกองทัพอินเดียยืนยันกับฮินดูสถานของอินเดียว่า เรือจีนไม่ได้เข้ามาใกล้และขัดขวางการซ้อมรบแต่ทว่าเป็นการมอนิเตอร์ที่ใกล้ชิดจากฝ่ายจีน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเวียดนามแสดงความเห็นในรายงานของหนังสือพิมพ์ฮ่องกง เซาท์มอร์นิ่งไชนาโพสต์ กล่าวว่า ปักกิ่งดูเหมือนใช้กองกำลังเพื่อคุกคามและขัดขวางการฝึกซ้อมที่มีสิงคโปร์ร่วมเป็นเจ้าภาพ

รอยเตอร์รายงานวันที่ 9 พ.ค.ว่า การฝึกซ้อมทางทะเล 2 วันเริ่มในวันอาทิตย์ (7) ที่มีเรือรบและเครื่องบินรบจากอินเดีย เวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบรูไนเข้าร่วม

รอยเตอร์ชี้ว่า เหตุเกิดขึ้นระหว่างที่เรือรบชาติอาเซียนต่างๆ กำลังอยู่ภายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเวียดนามเมื่อเรือรบจีนมุ่งหน้าเข้าไปหา แหล่งข่าวอินเดียกล่าว อย่างไรก็ตาม พบว่ากองเรือจีนและเรือรบชาติอาเซียนนั้นวิ่งสวนกันโดยปราศจากการเผชิญหน้าแต่อย่างใด

เจ้าหน้าที่อินเดียติดตามการเคลื่อนไหวเรือกองกำลังจีนที่มีไม่ต่ำกว่า 5 ลำ อ้างอิงจากแหล่งข่าว

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ซึ่งกำลังกระชับความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางการทหารกับฟิลิปปินส์จากปัญหาไต้หวันและทะเลจีนใต้อยู่ในเวลานี้ พบว่าเมื่อในปี 2020 เคยออกมาแสดงความเห็นถึงปัญหาทะเลจีนใต้ที่กล่าวพุ่งตรงไปถึงไทย

อ้างอิงจากคำแถลงของสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยทางเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ปี 2020 เป็นบทบรรณาธิการจากโดยอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี ภายใต้ชื่อหัวข้อ "Upholding the Sovereign Rights of All" (การธำรงไว้ซึ่งสิทธิอธิปไตยของรัฐทั้งมวล) ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ทั่วโลกต่างกำลังอยู่ในวิกฤตโควิด-19 ระบาดและมีหลายชาติรวมสหรัฐฯ สั่งปิดพรมแดนของตัวเอง

ดีซอมบรี เริ่มต้นกล่าวว่า “ขณะโลกกำลังมุ่งเน้นความสนใจไปที่การต่อสู้กับโรคโควิด-19 สาธารณรัฐประชาชนจีนกลับฉวยโอกาสเมื่อชาติอื่นๆ ไม่ทันระวัง ยกระดับการกระทำรุกรานในทะเลจีนใต้ ยุทธวิธีการบีบบังคับ บ่อนทำลาย และให้ข้อมูลบิดเบือนในทะเลจีนใต้ ทำให้เกิดคำถามว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนอาจใช้วิธีการดังกล่าวในส่วนอื่นๆ ของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอย่างไรบ้าง”

พร้อมกับยกประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้ที่เขาได้พูดถึง “ไทย” อย่างตรงไปตรงมาว่า “การกระทำของจีนในทะเลจีนใต้ยังส่งผลโดยตรงต่อไทยด้วย แม้ไทยจะไม่ได้เป็นผู้อ้างกรรมสิทธิ์ทะเลจีนใต้ แต่ไทยได้รับประโยชน์จากการเดินเรืออย่างเสรีในทะเลจีนใต้สูงเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาค”

พร้อมกับชี้ว่า “มูลค่าการค้าสินค้าของไทยมักจะเกินร้อยละ 80 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งคิดเป็นสินค้ามูลค่าเกือบครึ่งล้านล้านเหรียญสหรัฐ และการค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่จะต้องผ่านเส้นทางในทะเลจีนใต้ เกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภคของไทยล้วนพึ่งพาการเดินเรืออย่างเสรีในน่านน้ำนี้”

และ “การกระทำบุ่มบ่ามเพื่อแสดงสิทธิควบคุมทะเลจีนใต้เป็นสัญญาณของการบั่นทอนเสถียรภาพของภูมิภาค และจำกัดเสรีภาพในการเดินเรือซึ่งเป็นหนึ่งแรงผลักดันหลักในการเติบโตของไทยและภูมิภาคนี้”

เขาได้ยกตัวอย่างให้เห็นถึงการกระทำแบบอันธพาลและไม่เคารพกฎของปักกิ่งว่า “การกระทำเหล่านี้เข้ากับแบบแผนอย่างหนึ่ง นั่นคือ เมื่อจีนเข้าไปที่ใด เราก็คาดได้เลยว่าจะได้เห็นประเทศนี้ไม่เคารพกฎ สร้างชุดความจริงของตนเองขึ้นมา และไม่รักษาสัญญาที่เคยให้ไว้มากขึ้นเรื่อยๆ”

และชี้ว่า “ชาวไทยเองก็เห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวได้อย่างชัดเจนจากภัยแล้งที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์ในแม่น้ำโขง ซึ่งขัดกับคำมั่นที่จีนเคยให้ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะแบ่งปันทรัพยากรน้ำที่อุดมสมบูรณ์ให้ประเทศปลายน้ำ”

พร้อมเสริมต่อว่า “แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เรากลับเห็นหลักฐานว่าการสร้างเขื่อนจำนวนมากที่ต้นน้ำของจีนทำให้บริษัทผลิตไฟฟ้าพลังน้ำสามารถควบคุมการไหลของน้ำมายังปลายน้ำเพื่อผลประโยชน์ที่มากขึ้น ระดับน้ำในแม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบันลดลงต่ำสุดในรอบทศวรรษ สัมพันธ์กับการตัดสินใจของจีนในการกักน้ำไว้ที่ต้นน้ำ”

อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวว่า “รัฐบาลไทยได้คัดค้านแผนการระเบิดแก่งและขุดลอกแม่น้ำโขงของจีน ซึ่งเป็นการกระทำที่ถูกต้องยิ่ง อย่างไรก็ดี ทางการจีนยังคงปฏิบัติการลาดตระเวนในบริเวณแม่น้ำนอกอาณาเขตของตนตามแนวชายแดนไทย และเรายังเห็นการผลักดันให้เกิดกฎเกณฑ์การบริหารจัดการแม่น้ำที่มีจีนเป็นผู้กำหนด”

สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยชี้ในตอนท้ายว่า บทความแสดงความคิดเห็นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ข่าวสด เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ปี 2563






กำลังโหลดความคิดเห็น