มีความเป็นไปได้ว่าปากีสถานจะชำระเงินค่าน้ำมันดิบที่ได้รับการส่งมอบจากรัสเซียเป็นสกุลเงินจีน ตามรายงานของสื่อมวลชนท้องถิ่นเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยอ้างอิงแหล่งข่าวของรัฐบาล
ก่อนหน้านี้ไม่นาน รัฐมนตรีการปิโตรเลียมของประเทศ เพิ่งแสดงความเชื่อมั่นว่าการนำเข้าน้ำมันจากมอสโก จะไม่นำพาพวกเขามีปัญหาใดๆ กับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแกนนำความพยายามของโลกในการสกัดกั้นการส่งออกน้ำมันของรัสเซีย ที่ใช้เป็นทุนสำหรับรุกรานยูเครน
เจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนามจากกระทรวงการปิโตรเลียมของปากีสถาน ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ เดอะนิวส์ อินเตอร์เนชันแนล ว่า การทำธุรกรรมการซื้อขายดังกล่าวจะอำนวยความสะดวกโดยธนาคารกลางจีน
แหล่งข่าวไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการชำระเงินหรือส่วนลดที่แท้จริงที่ปากีสถานจะได้รับ โดยบอกแต่เพียงว่าการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณะจะไม่เป็นประโยชน์กับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย "รัสเซียจะจัดหาน้ำมันดิบอูราลในสินค้าทดสอบและมีความเป็นไปได้มากที่สุดที่ Pakistan Refinery Limited (PRL) จะรับหน้าที่กลั่นน้ำมันดิบรัสเซีย" เจ้าหน้าที่รายนี้ระบุ
ส่วนแหล่งข่าวอื่นๆ เปิดเผยกับเดอะนิวส์ อินเตอร์เนชันแนล ว่า ปากีสถานตกลงซื้อน้ำมันดิบของรัสเซียที่ราคาราว 50-52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต่ำกว่าเพดานราคาที่ทางจี7 กำหนดไว้สำหรับราคาน้ำมันดิบรัสเซียที่ระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว สหภาพยุโรป จี7 และบรรดาพันธมิตรเปิดตัวมาตรการแบนร่วมกันสำหรับน้ำมันดิบส่งออกทางทะเลของรัสเซีย เช่นเดียวกับมาตรการกำหนดเพดานราคาน้ำมันดับรัสเซียไว้ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากนั้นในเวลาต่อมา ยังมีการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันของรัสเซียเกือบทั้งหมด เช่นเดียวกับกำหนดเพดานราคาน้ำมันดีเซลและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอื่นๆ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา
เมื่อเดือนมกราคม มอสโก และอิสลามาบัด บรรลุข้อตกลงในหลักการในการจัดหาน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของรัสเซียป้อนแก่ปากีสถาน ข้อตกลงดังกล่าวช่วยผ่อนหนักเป็นเบาแก่ปากีสถานที่กำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนเงิน ซึ่งกำลังแขวนอยู่บนเส้นด้ายระหว่างวิกฤตการชำระหนี้กับทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับต่ำมาก
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ว่า ด้วยกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจหนักหน่วง ปากีสถานได้เริ่มซื้อน้ำมันรัสเซียแล้ว อย่างไรก็ตาม มูซาดิก มาลิก รัฐมนตรีการปิโตรเลียมของประเทศยืนยันว่าอนาคตของประเทศวางอยู่บนแหล่งพลังงานที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานสีเขียว หรือพลังงานสะอาด
ปากีสถาน ชาติที่มีประชากรมากที่สุดอันดับ 5 ของโลก กำลังเผชิญภาวะขาดแคลนพลังงานเรื้อรัง และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมทั้งหมดของพวกเขามีถึง 84% ที่เป็นการนำเข้า ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากบรรดาพันธมิตรอ่าวอาหรับ อย่างซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ท่ามกลางความกังวลว่าอาจมีปัญหากับสหรัฐฯ มาลิก กล่าวว่า ปากีสถานมีความโปร่งใส 100% และในเบื้องต้นมีการซื้อขายกับรัสเซียน้อยกว่าประเทศอื่นๆ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะจีนและชาติคู่ปรับของปากีสถานอย่างอินเดีย ซึ่งกระตือรือร้นซื้อน้ำมันรัสเซีย และก่อเครื่องหมายคำถามในความสัมพันธ์ระหว่างนิวเดลีกับวอชิงตัน
"เราไม่เจอปัญหาใดๆ ไม่ว่ากับสหรัฐฯ หรือประเทศอื่นๆ" มาลิก กล่าว "มากมายหลายประเทศมีความชอบธรรมในการซื้อน้ำมันจากรัสเซีย" เขากล่าว
จากข้อมูลของทบวงพลังงานสากล ตัวเลขการส่งออกน้ำมันของรัสเซียในเดือนมีนาคม พุ่งสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เปิดฉากรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน แม้บรรดาชาติยุโรปลดการจัดซื้อ สวนทางกับจีนและบรรดาชาติกำลังพัฒนาทั้งหลายที่แห่แหนกันเข้าซื้อน้ำมันลดราคาของรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม เอเอฟพีระบุว่ารายได้จากการขายน้ำมันของรัสเซียลดต่ำลงอย่างมาก ในขณะที่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 7 ชาติ หรือจี7 พยายามบังคับใช้มาตรการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่าอเมริกาเข้าใจดีถึงแรงกดดันต่างๆ ที่รัฐบาลของหลายชาติต้องเผชิญสำหรับการให้ได้มาซึ่งพลังงานราคาไม่แพง แต่เน้นย้ำรัสเซียแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ใช้ผู้จัดหาทางพลังงานที่น่าเชื่อถืออีกต่อไป
"เราหวังว่าประเทศต่างๆ จะสามารถใช้เพดานราคาน้ำมันงัดข้อจัดซื้อน้ำมันรัสเซียในราคาที่ต่ำลง" โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุ
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์/เอเอฟพี)