เมฟลุต คาวูโซกลู รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี เปิดเผยว่า สหรัฐฯ ได้ขออนญาตจากตุรกีเพื่อเข้าถึงระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 ที่ผลิตโดยรัสเซีย หรือไม่ก็ส่งมอบระบบดังกล่าวให้แก่ยูเครน ซึ่งทางตุรกีได้ปฏิเสธ เพราะหากทำเช่นนั้นจะเป็นการทำลายอำนาจอธิปไตยและความเป็นเอกราชของประเทศ
ในการสัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Habertürk เมื่อวันอาทิตย์ (7 พ.ค.) คาวูโซกลู เล่าย้อนหลังถึงวิธีการที่สหรัฐฯ ได้ยื่นข้อเสนอต่างๆ "ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับอำนาจอธิปไตยของเรา เช่น สละการควบคุม S-400 และมอบมันให้ประเทศอื่น"
รัฐมนตรีรายนี้ชี้แจงต่อว่า วอชิงตันชี้แนะตุรกีให้ทำการมอบระบบป้องกันภัยทางอากาศดังกล่าวแก่ยูเครน แต่อังการา ตอบปฏิเสธกลับไป
ตุรกี ได้รับระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 จากรัสเซีย ชุดแรกในปี 2019
ในความเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่อังการาจะกลับเข้าร่วมในโครงการเครื่องบินขับไล่ F-35 ทาง คาวูโซกลู กล่าวว่า ประเทศของเขาไม่ได้ให้ความสนใจอีกแล้ว เพราะว่าเวลานี้ตุรกีกำลังดำเนินการเดี่ยวกับอากาศยานด้านการทหารของตนเอง
เมื่อเดือนมีนาคมปีก่อน สื่อมวลชนตะวันตกหลายสำนักรายงานว่าสหรัฐฯ เสนอให้ตุรกี กลับเข้าสู่โครงการ F-35 แลกกับการที่ตุรกียอมสละระบบ S-400 ของตนเอง แล้วส่งมอบมันให้แก่ยูเครน
ประธานาธิบดีเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน ของตุรกี แสดงความคิดเห็นต่อคำกล่าวอ้างดังกล่าว โดยชี้แจงว่า "การใช้ S-400 ของเรา เป็นข้อตกลงสำหรับเรา พวกมันเป็นสินทรัพย์ที่รับใช้การป้องกันตนเองของเรา ดังนั้น มันควรจบเท่านี้" เขาเน้นย้ำในช่วงเวลานั้น
ด้านโฆษกของ แอร์โดอัน ชี้ว่า "สิ่งที่ตะวันตกควรทำคือส่งมอบเครื่องบินรบ F-35 และระบบขีปนาวุธแพทริออตแก่ตุรกี โดยปราศจากการวางเงื่อนไขล่วงหน้าใดๆ"
ย้อนกลับไปในปี 2020 วอชิงตันกำหนดมาตรการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมกลาโหมตุรกี และเขี่ยประเทศแห่งนี้พ้นจากโครงการเครื่องบินขับไล่ F-35 ตอบโต้ความเคลื่อนไหวของอังการา ที่ตัดสินใจซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซีย
สหรัฐฯ ปฏิเสธส่งมอบเครื่องบินตามคำสั่งซื้อของเพื่อนร่วมสมาชิกนาโตแห่งนี้ โดยอ้างว่าการจัดซื้อระบบอาวุธรัสเซียของตุรกี จะก่ออันตรายแก่ความมั่นคงด้านเทคโนโลยีทางทหารของอเมริกา
(อาร์ทีนิวส์/Habertürk)