xs
xsm
sm
md
lg

ปูตินเสียหน้า! ยูเครนโวใช้แพทริออตกำราบอาวุธล้ำสมัยรัสเซีย สอยร่วงขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยูเครนเมื่อวันเสาร์ (6 พ.ค.) เผยว่าสามารถสอยร่วงขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกลูกหนึ่้งของรัเซียเหนือกรุงเคียฟ โดยใช้ระบบป้องกันตนเองแพทริออตที่เพิ่งได้รับมอบจากสหรัฐฯ มาหมาดๆ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มันโชว์ศักยภาพในการสกัดหนึ่งในอาวุธล้ำสมัยที่สุดของมอสโก ที่ทางประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เคยอวดอ้างว่าระบบป้องกันภัยทางอากาศไหนๆ ก็ไม่อาจสอยร่วงได้

ขีปนาวุธคินซาล เป็นหนึ่งในอาวุธล่าสุดและล้ำสมัยสุดของรัสเซีย กองทัพมอสโกระบุว่าขีปนาวุธแบบทิ้งตัวยิงจากอากาศดังกล่าวมีพิสัยทำการสูงสุด 2,000 กิโลเมตร และพุ่งด้วยความเร็วเหรือเสียง 10 เท่า ส่งผลให้มันเป็นเรื่องยากที่จะสกัดกั้น

ด้วยที่มีทั้งความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิกและติดตั้งหัวรบหนัก ขีปนาวุธคินซาลจึงมีศักยภาพทำลายเป้าหมายป้อมปราการที่แข็งแกร่งทั้งหลาย เช่น บังเกอร์ใต้ดิน หรืออุโมงค์ในแถบภูเขา

"ผมขอแสดงความยินดีกับประชาชนชาวยูเครนต่อเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ใช่ เราสอยร่วงคินซาล" มีโคลา โอเลสชุค ผู้บัญชาการกองทัพอากาศยูเครนโพสต์ข้อความบนเทเลแกรมในวันเสาร์ (6 พ.ค.) "มันเกิดขึ้นระหว่างการโจมตีช่วงค่ำคืนที่ 4 พฤษภาคม บนท้องฟ้าเหนือภูมิภาคเคียฟ"

ถือเป็นครั้งแรกเท่าที่ทราบที่ยูเครนใช้งานระบบป้องกันภัยขีปนาวุธแพทริออต

โอเลสชุค กล่าวว่า ขีปนาวุธคินซาล-47 ถูกยิงออกมาจากเครื่องบิน MiG-31K ลำหนึ่งในดินแดนของรัสเซีย และถูกสอยร่วงโดยขีปนาวุธแพทริออตเพียงลูกเดียว ทั้งนี้ กองทัพยูเครนเคยยอมรับก่อนหน้านี้ว่าพวกเขาขาดแคลนสินทรัพย์ทางทหารในการสกัดกั้นอาวุธระดับซูเปอร์โซนิกขึ้นไป

ขีปนาวุธคินซาล เป็นหนึ่งในอาวุธยุคใหม่ 6 ชนิด ที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ได้เปิดตัวในปี 2018 โดยตอนนั้นผู้นำมอสโกอวดอ้างว่าไม่มีระบบป้องกันทางอากาศใดๆ ในโลกที่สามารถสอยร่วงได้

ทั้งนี้ ขีปนาวุธแบบทิ้งตัวยิงจากอากาศสามารถพุ่งด้วยความเร็วสูงสุด 10 มัค (12,350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และมีศักยภาพติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ หรือหัวรบทั่วไป

ปฏิบัติการจู่โจมทางอากาศในวันพฤหัสบดี (6 พ.ค.) มีขึ้น 1 วัน หลังรัสเซียกล่าวหายูเครน พยายามลอบสังหารปูตินแต่ล้มเหลว ในปฏิบัติการโดรนโจมตีวังเครมลินในมอสโก พร้อมกับขู่แก้แค้น

นับตั้งแต่นั้นมอสโกได้กล่าวหาสหรัฐฯ มีส่วนเกี่ยวข้อง ในคำกล่าวหาที่ทั้งเคียฟและวอชิงตันปฏิเสธ

ยูเครนได้รับมอบขีปนาวุธแพทริออตชุดแรกในช่วงปลายเดือนเมษายน พวกเขาไม่ได้เจาะจงว่ามีระบบอาวุธนี้ในครอบครองมากแค่ไหนหรือประจำการอยู่ที่ใดบ้าง อย่างไรก็ตามเท่าที่ทราบคือพวกเขาได้รับมอบมันจากสหรัฐฯ เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์

เยอรมนี และสหรัฐฯ ยอมรับว่าส่งระบบขีปนาวุธแพทริออตให้ยูเครน อย่างน้อยชาติละ 1 ระบบ ส่วนเนเธอร์แลนด์เผยว่ามอบให้ 2 ระบบ แต่ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าปัจจุบันมีการปฏิบัติการระดับดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน

ทหารยูเครนได้รับการฝึกฝนพิเศษอย่างครอบคลุมที่จำเป็นสำหรับใช้ระบบหาตำแหน่งของเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ล็อกเรดาร์และยิงขีปนาวุธ โดยแต่ละกองขีปนาวุธจำเป็นต้องมีบุคลากรสูงสุด 90 นาย ทั้งในด้านปฏิบัติการและบำรุงรักษา

โอเล็กซี เรซนิคอฟ รัฐมนตรีกลาโหมยูเครน เผยว่า เขาร้องขอระบบแพทริออตเป็นครั้งแรกตอนที่เดินทางเยือนสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม 2021 ไม่กี่เดือนก่อนหน้ารัสเซียเปิดฉากรุกรานเต็มรูปแบบในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 แต่คำร้องขอดังกล่าวมีขึ้น 7 ปี หลังจากมอสโกจัดการผนวกแหลมไครเมียของยูเครนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน

เขาให้จำกัดความการครอบครองขีปนาวุธแพทริออตว่าเป็นระบบในฝัน แต่ได้รับแจ้งจากสหรัฐฯ ในตอนนั้นว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

สำนักข่าวอัลจาซีราห์อ้างอิงข้อมูลของพวกนักวิเคราะห์ ระบุว่า แพริออตถูกส่งเข้าประจำการโดยสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในช่วงยุคทศวรรษ 1980 โดยมันมีมูลค่า 4 ล้านดอลลาร์ต่อขีปนาวุธ 1 ลูก และการยิงแต่ละครั้งจะมีต้นทุนราว 10 ล้านดอลลาร์ ซึ่งด้วยราคาดังกล่าว จึงเป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า ยูเครนจะใช้แพทริออตเฉพาะกับอากาศยานหรือขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกของรัสเซียเท่านั้น

ระบบแพทริออต เป็นหนึ่งในระบบป้องกันภัยทางอากาศล้ำมัยต่างๆ ที่ตะวันตกจัดหาให้ เพื่อช่วยยูเครนสกัดปฏิบัตการจู่โจมทางอากาศของรัสเซียที่ดำเนินมานานกว่า 1 เดือน ซึ่งเล็งเป้าหมายโจมตีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ โรงไฟฟ้าและสถานที่อื่นๆ

ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งกองทัพอากาศยูเครนเปิดเผยในวันเสาร์ (6 พ.ค.) ว่าพวกเขาสอยร่วงโดรนชาเฮด-136 ที่ผลิตโดยอิหร่าน จำนวน 8 ลำ ที่รัสเซียปล่อยออกมาโจมตีภูมิภาคต่างๆ ทางตะวันออกและทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน เมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา

(ที่มา : อัลจาซีราห์)


กำลังโหลดความคิดเห็น