เอเจนซีส์ - สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา เสด็จประทับราชรถม้าหลวงทองคำเสด็จกลับพระราชวังบัคกิงแฮม ด้านสกอตแลนยาร์ดจับแกรม สมิธ (Graham Smith) หัวหน้ากลุ่มสาธารณะต่อต้านระบอบกษัตริย์วันนี้ (6 พ.ค.) ในบริเวณจัตุรัสทราฟัลการ์ (Trafalgar Square) พร้อมพวก ด้านกลุ่มฮิวแมนไรท์วอตช์ออกแถลงการณ์ต้านทันที
บีบีซี สื่ออังกฤษ รายงานว่า สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ที่ทรงสวมมงกุฎขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษพระองค์ใหม่ เสด็จออกจากมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ แอบบีย์ (Westminster Abbey) เสด็จพระราชดำเนินราชรถม้าหลวงทองคำที่สร้างเมื่อปี 1762 เสด็จกลับพระราชวังบัคกิงแฮมท่ามกลางเสียงแห่แซ่ซ้องจากพสกนิกร 2 ฟากฝั่ง
กระทรวงกลาโหมอังกฤษทวีตเปิดเผยในรายละเอียดถึงในขบวนเสด็จมีการใช้กองกำลังทหารถึง 4,000 นาย ม้า 250 ตัว กองกำลังทหารเกียรติยศ 19 กอง และตัวแทนทหารจากประเทศสมาชิกสหราชอาณาจักรอีก 33 นาย ซึ่งถูกชี้ว่าเป็นการจัดขบวนที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์อังกฤษ และต้องใช้การฝึกซ้อมนานร่วม 6 สัปดาห์เพื่อให้มีความสมบูรณ์
ระยะทางเสด็จกลับนั้นมีความยาว 2.3 กิโลเมตร ซึ่งมีรูปภาพประชาชนชาวอังกฤษต่างเข้าร่วมงานอย่างคึกคัก และก่อนหน้ามีรายงานการชกต่อยในกลุ่มผู้เข้าร่วมชมที่ต่างกางร่ม ซึ่งมีคำกล่าวว่าไม่ว่าฝนจะตกหรือแดดจะออกประชาชนชาวอังกฤษก็จะออกมาเฉลิมฉลอง
เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานก่อนหน้าวันนี้ (6 พ.ค.) ว่า สกอตแลนยาร์ดประกาศจับกุม แกรม สมิธ (Graham Smith) หัวหน้ากลุ่มสาธารณะ (Republic) ที่ต่อต้านการปกครองระบอบกษัตริย์ที่จัตุรัสทราฟัลการ์ (Trafalgar Square) รวมไปถึงการจับกุมผู้เข้าร่วมอีกจำนวนหนึ่ง โดยในภาพทางโทรทัศน์ของสถานีสกายนิวส์แสดงให้เห็นถึงป้ายผ้าสีเหลืองแสดงข้อความ “ยุบระบอบกษัตริย์” แสดงออกมาระหว่างขบวนราชรถม้าหลวงทองคำกำลังเสด็จกลับ
ทั้งนี้ ในภายหลังสำนักงานตำรวจสกอตแลนยาร์ดออกแถลงการณ์ยืนยันว่า มีการจับกุมจำนวนไม่กี่คนเกิดขึ้นในข้อหาฝ่าฝืนต่อความสงบและสมคบคิดทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบต่อสาธารณะ
ด้านยาสมิน อาห์เหม็ด (Yasmine Ahmed) ผู้อำนวยการกลุ่มฮิวแมนไรท์วอชประจำอังกฤษออกแถลงการณ์ประณามการจับกุมทันที โดยชี้ว่า การจับกุมการประท้วงที่จัดขึ้นอย่างสันติต่อพิธีบรมราชาภิเษกนั้นช่างน่าตกใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถคาดว่าจะได้เห็นในกรุงมอสโกไม่ใช่ที่กรุงลอนดอน การประท้วงอย่างสันติเพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลสามารถมีพลังเพื่อเรียกร้องนั้นเป็นบางสิ่งที่รัฐบาลอังกฤษกลับกลายเป็นว่าแสดงความไม่เห็นด้วยมากขึ้น
ขณะที่ซาชา เดชมุคห์ (Sacha Deshmukh) ผู้อำนวยการกลุ่มแอมเนสตีสากลประจำอังกฤษออกมาแถลงแสดงความห่วงใยถึง "ความอดทนที่ต่ำของตำรวจอังกฤษ" ต่อการประท้วงอย่างสันติที่เกิดขึ้นในพิธีบรมราชาภิเษก โดยกล่าวว่า "การประท้วงอย่างสันตินั้นถือถูกคุ้มครองอย่างชัดเจนภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ" และในแถลงการณ์ยังระบุว่า "พิธีบรมราชาภิเษกไม่สมควรถูกใช้เป็นข้ออ้างในการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในประเทศแห่งนี้ และพวกเรากำลังเฝ้ารอรายละเอียดเพิ่มขึ้นต่อรายงานการจับกุมเหล่านี้"