xs
xsm
sm
md
lg

อย่าชะล่าใจ! WHO เอ่ยปากเตือน แม้ประกาศโควิด-19 ไม่เป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลกอีกต่อไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โรคระบาดใหญ่โควิด-19 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกหลายล้านคน ก่อความเสียหายแก่เศรษฐกิจและสังคม ไม่เข้าองค์ประกอบของสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศอีกต่อไป จากการเปิดเผยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในวันศุกร์ (5 พ.ค.) อย่างไรก็ตาม หน่วยงานสาธารณสุขของสหประชาชาติแห่งนี้เตือนว่าภัยคุกคามของมันยังคงมีอยู่

ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก บอกกับผู้สื่อข่าวว่า "มันคือความหวังอันยิ่งใหญ่ที่ผมขอประกาศว่าโควิด-19 ในฐานะภัยฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลกได้จบลงแล้ว"

ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังจากคณะกรรมการฉุกเฉินอิสระขององค์การอนามัยโลกในด้านวิกฤตโควิด เห็นพ้องกันว่ามันไม่เข้าองค์ประกอบระดับการเตือนภัยสูงสุดขององค์กรอีกต่อไป และแนะนำว่า "ถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนผ่านสู่การบริหารจัดการโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ในระยะยาว"

อย่างไรก็ตาม ทีโดรส เตือนว่าอันตรายของมันยังไม่จบสิ้น ในขณะที่เขาประเมินว่าโควิดได้เข่นฆ่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปอย่างน้อย 20 ล้านคน หรือราว 3 เท่าจากตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการเกือบ 7 ล้านคน "ไวรัสนี้ยังคงอยู่ มันยังคงเข่นฆ่า และยังคงมีการเปลี่ยนแปลง"

"ไม่ว่าประเทศไหนๆ สิ่งเลวร้ายที่สุดที่ไม่ควรทำก็คือ ใช้ข่าวคราวใหม่นี้เป็นเหตุผลสำหรับการปล่อยให้การ์ดตก รื้อถอนระบบที่สร้างขึ้นมา หรือส่งสารถึงประชาชนว่าโควิด-19 ไม่มีอะไรให้ต้องกังวล"

องค์การอนามัยโลกประกาศในสิ่งที่เรียกว่าภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) เกี่ยวกับวิกฤตนี้ เป็นครั้งแรกในวันที่ 30 มกราคม 2020 ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลายสัปดาห์ หลังโรคติดต่อจากไวรัสลึกลับตัวใหม่ถูกตรวจพบครั้งแรกในจีน โดยตอนนั้นพบเคสผู้ติดเชื้อแค่ราว 100 รายและไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตนอกประเทศ

อย่างไรก็ตาม ไม่นานหลังจาก ทีโดรส ให้คำจำกัดความว่าสถานการณ์โควิดกำลังเลวร้ายลงสู่ระดับของโรคระบาดใหญ่ในวันที่ 11 มีนาคม 2020 ประเทศต่างๆ มากมายทั่วโลกตื่นมาพบว่าตนเองตกอยู่ในอันตรายแล้ว

ในตอนนั้น ไวรัส SARS CoV-2 ซึ่งเป็นต้นตอของโรคโควิด-19 ได้เริ่มอาละวาดเข่นฆ่าชีวิตผู้คนทั่วโลก "หนึ่งในเรื่องเศร้าหลายๆ เรื่องของโควิด-19 คือ มันไม่จำเป็นต้องเป็นไปในทิศทางเช่นนี้" ทีโดรสกล่าว พร้อมคร่ำครวญเกี่ยวกับการขาดความร่วมมือ ปราศจากความเท่าเทียมและไร้ซึ่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งทำให้ต้องสังเวยชีวิตจำนวนมากทั้งที่มันไม่ควรเกิดขึ้น "เราต้องสัญญากับตัวเอง ลูกหลานหรือเหลนของเขาว่าเราจะไม่ปล่อยให้ความผิดพลาดนี้เกิดขึ้นอีกครั้ง"

แม้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลกลดลงไปแล้วถึง 95% นับตั้งแต่เดือนมกราคม แต่โรคระบาดนี้ยังคงเป็นนักฆ่ารายสำคัญ โดยแค่สัปดาห์ที่แล้วสัปดาห์เดียว "มันปลิดชีพผู้คน 1 ชีวิตในทุกๆ 3 นาที" ทีโดรสกล่าว "นั่นคือตัวเลขผู้เสียชีวิตเฉพาะที่เราทราบเท่านั้น"

ส่วนแพทย์หญิงมาเรีย ฟาน เคิร์กโฮฟ หัวหน้าแผนกโรคโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า "ขั้นฉุกเฉินสิ้นสุดลงแล้ว แต่โควิดยังไม่จบ"

วัคซีนซึ่งได้รับการพัฒนาในอัตรารวดเร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์และเริ่มแจกจ่ายในช่วงปลายปี 2020 ยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้ออาการรุนแรงและเสียชีวิต แม้ปรากฏตัวกลายพันธุ์ใหม่ๆ ที่แพร่เชื้อได้ง่ายกว่าเดิม

จนถึงตอนนี้มีการฉีดวัคซีนโควิดไปแล้ว 13.3 ล้านโดส และประชากรผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับวัคซีนเข็มเบื้องต้นไปแล้ว คิดเป็นสัดส่วนราว 82%

ทว่าความเห็นแก่ตัวและช่องโหว่ของความไม่เท่าเทียมปรากฏขึ้น ด้วยที่บรรดาประเทศมั่งมีทั้งหลายพากันกักตุนวัคซีน ในขณะที่เหล่าประเทศยากจนต้องดิ้นรนอย่างหนักเป็นเวลาหลายเดือนสำหรับเข้าถึงวัคซีนแต่ละโดส

ทีโดรส ได้เตือนถึงผลกระทบของลองโควิด ซึ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ ซึ่งก่ออาการต่างๆ บ่อยครั้งมีความรุนแรงและสามารถลากยาวเป็นเวลานานหลายปี โดยเขาประเมินว่าอาการลักษณะนี้เกิดขึ้นกับคนที่ติดเชื้อโควิด 1 ใน 10 คน บ่งชี้ว่าอาจมีประชาชนหลายร้อยล้านคนทั่วโลกที่ต้องได้รับการดูแลรักษาในระยะยาว

ปัจจุบันโลกกำลังเพียรพยายามกำหนดมาตรการต่างๆ สำหรับหลีกเลี่ยงหายนะด้านสาธารณสุขโลกที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต แต่ความพยายามเหล่านี้ถูกขัดขวางจากประเด็นโต้เถียงอันเผ็ดร้อนเกี่ยวกับแหล่งที่มาของโรคระบาดใหญ่

ไวรัสถูกพบครั้งแรกในช่วงปลายปี 2019 ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน แต่ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ามันเริ่มแพร่ระบาดในหมู่มนุษย์อย่างไรและที่ไหน

เรื่องนี้ที่กลายมาเป็นประเด็นทางการเมือง ได้ก่อความแตกแยกกันในหมู่ประชาคมวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีความเห็นต่างกันระหว่างทฤษฎีไวรัสแพร่ระบาดโดยธรรมชาติจากสัตว์สู่มนุษย์ กับอีกฝ่ายหนึ่งที่เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ไวรัสจะหลุดออกมาจากห้องแล็บหนึ่งในอู่ฮั่น คำกล่าวอ้างที่จีนปฏิเสธด้วยความโกรธกริ้ว

ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลกและรัฐสมาชิกได้ทำการปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศหนึ่ง หรืออะไรบางอย่างที่มีความคล้ายกัน ที่เรียนรู้บทเรียนจากความผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้น และรับประกันว่าโลกจะตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีความเท่าเทียมมากยิ่งขึ้นในการรับมือกับโรคระบาดใหญ่ลำดับถัดไป ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันจะเกิดขึ้นหรือไม่ โดยคำถามเดียวก็คือมันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น