เฮลซิงกิ ได้เปิดเจรจากับวอชิงตันแล้วในเรื่องเกี่ยวกับข้อตกลงความร่วมมือกลาโหม (Defense Cooperation Agreement หรือ DCA) ที่จะเปิดทางให้สหรัฐฯ ส่งทหารเข้าประจำการอย่างอิสระ ในชาติที่เพิ่งเป็นรัฐสมาชิกใหม่ของนาโตแห่งนี้ จากการเปิดเผยของ มิคาเอล อันเทลล์ เจ้าหน้าที่ด้านกิจการต่างประเทศของฟินแลนด์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนท้องถิ่น Helsingin Sanomat (HS)
รายงานของ HS ระบุว่า อันเทลล์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีฝ่ายกิจการการเมือง ของกระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์ เป็นแกนนำของการเจรจาทวิภาคี และการหารือรอบล่าสุดนั้นเกิดขึ้นในกรุงเฮลซิงกิ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
HS รายงานอ้างคำกล่าวของ อันเทลล์ ระบุว่าข้อตกลงความร่วมมือกลาโหมมีเจตนายกระดับสถานภาพสมาชิกนาโตปัจจุบันของฟินแลนด์ ซึ่งได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนเมษายน และเพื่อความเป็นปึกแผ่นในด้านศักยภาพการป้องปรามและป้องกันตนเองของประเทศแห่งนี้ ผ่านการปรากฏตัวและการประจำการยุทโธปกรณ์ล้ำสมัยของสหรัฐฯ
"มันเป็นสิ่งสำคัญที่ข้อตกลงนี้สามารถช่วยให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ เป็นไปอย่างราบรื่นในทุกสถานการณ์ด้านความมั่นคงและในเวลาอันสั้น" เขาให้สัมภาษณ์กับ HS พร้อมชี้แจงต่อว่า ข้อตกลงความร่วมมือกลาโหมจะอนุญาตให้ทหารสหรัฐฯ เข้ามาและประจำการในประเทศ เช่นเดียวกับคลังเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย และเป็นไปได้ว่าจะมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานผ่านกองทุนของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ที่ได้รับอนุมัติจากสภาคองเกรส
อันเทลล์ เน้นว่าในขณะที่ข้อตกลงดังกล่าวจะสร้างโอกาสแห่งการลงทุนในฟินแลนด์ "แต่มันยังเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์เกี่ยวกับการลงทุนอย่างเฉพาะเจาะจง" เขากล่าว อย่างไรก็ตาม อันเทลล์ บ่งชี้ว่ามันอาจเป็นอะไรบางอย่าง อย่างเช่นการลงทุนในศูนย์กลางซ่อมบำรุงเครื่องบินขับไล่เอฟ-35
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์รายนี้ เน้นย้ำว่าปัจจุบันสหรัฐฯ ไม่ได้มีเป้าหมายประจำการทางทหารแบบถาวรในฟินแลนด์ แต่กำลังเสาะหาปฏิบัติการในหลักการของกองกำลังหมุนเวียน การเคลื่อนย้ายทหารเข้าและออกในช่วงเวลาต่างๆ
นอกจากนี้ อันเทลล์ เน้นว่าข้อตกลงความร่วมมือกลาโหมไม่ได้ครอบคลุมถึงอาวุธนิวเคลียร์
อ้างอิงรายงานของ HS คาดหมายว่าการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่ระหว่างฟินแลนด์กับสหรัฐฯ ที่จะลากยาวไปจนถึงปีหน้า หลังจากนั้นร่างข้อตกลงหนึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
ปัจจุบัน สหรัฐฯ กำลังแสวงหาข้อตกลงกลาโหมแบบเดียวกันนี้กับเดนมาร์กและสวีเดนเช่นกัน ในขณะที่ เนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอเมริกา เคยกล่าวย้อนกลับไปในเดือนมกราคม ว่า ข้อตกลงลักษณะนั้นจะช่วยยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศดังกล่าวมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และส่งเสริมความมั่นคงข้ามแอตแลนติก
เมื่อเดือนพฤษภาคมปีก่อน สวีเดนและฟินแลนด์ ปรับเปลี่ยนจุดยืนความเป็นกลางที่ยึดถือมาช้านาน และยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มพันธมิตรทหารนาโตที่นำโดยสหรัฐฯ โดยอ้างแนวโน้มภัยคุกคามจากรัสเซีย สืบเนื่องจากปฏิบัติการทางทหารของมอสโกในยูเครน
ฟินแลนด์ กลายเป็นรัฐสมาชิกลำดับที่ 31 ของนาโตอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 เมษายน ส่วนการสมัครของสวีเดน ถูกเตะถ่วงโดยตุรกีและฮังการี ซึ่งคัดค้านการเป็นรัฐสมาชิกของสตอกโฮล์ม โดยอ้างความกังวลด้านความมั่นคง
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์/เอชเอส/เอเจนซี)