ราคาน้ำมันขยับลง 1% ในวันจันทร์ (1 พ.ค.) จากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจของความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยและดอลลาร์แข็งค่า ปัจจัยหลังนี้ฉุดทองคำปรับลด ขณะที่วอลล์สตรีทซื้อขายผันผวน หลังหน่วยงานรับผิดชอบด้านการเงินอเมริกาเข้ายึดกิจการเฟิร์สต์ รีพับลิก แบงก์ ที่กำลังประสบปัญหาและขายให้แก่เจพี มอร์แกน เชส ในทันทีตามที่ตกลงกันเอาไว้ก่อนแล้ว
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน ลดลง 1.12 ดอลลาร์ ปิดที่ 75.66 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนกรกฎาคม ลดลง 1.02 ดอลลาร์ ปิดที่ 79.31 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นักลงทุนจับตาความเคลื่อนไหวของเฟด ซึ่งมีกำหนดประชุมกันในวันที่ 2-3 พฤษภาคม ท่ามกลางความคาดหมายว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ขณะเดียวกัน ตลาดน้ำมันยังถูกฉุดจากการแข็งค่าของดอลลาร์ เมื่อเทียบกับตะกร้าเงินในวันจันทร์ (1 พ.ค.) ซึ่งทำให้น้ำมันมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ซื้อที่ถือสกุลเงินอื่นๆ
นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจจีน ชาติผู้บริโภครายใหญ่ของโลกอยู่ในความสนใจเช่นกัน โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของจีน ลดลงสู่ระดับ 49.2 จุด จากระดับ 51.9 จุด ในเดือนมีนาคม ซึ่งระดับต่ำกว่า 50 จุด บ่งชี้ถึงภาวะหดตัวของภาคการผลิตจีน
ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นฉุดให้ราคาทองคำในวันจันทร์ (1 พ.ค.) แจะระดับต่ำสุดในรอบ 1 สัปดาห์ ก่อนหน้าการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งจะมีขึ้นในวันพุธ (3 พ.ค.) โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน ลดลง 6.90 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,992.20 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันจันทร์ (1 พ.ค.) ปิดลบเล็กน้อย หลังเจพีมอร์แกน เชส เข้าซื้อกิจการเฟิร์สต์ รีพับลิก แบงก์ และนักลงทุนซื้อขายอย่างระมัดระวัง ก่อนหน้าการตัดสินใจของเฟด
ดาวโจนส์ ลดลง 46.46 จุด (0.14 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 34,051.70 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 1.61 จุด (0.04 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,167.87 จุด แนสแดค ลดลง 13.99 จุด (0.11 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 12,212.60 จุด
เฟิร์สต์ รีพับลิก ซึ่งกลายเป็นแบงก์ขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 เมื่อวัดโดยสินทรัพย์ที่ล้มครืนลงมาในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ อยู่ในอาการเซซวดยั้งไม่อยู่ หลังจากมีการเปิดเผยในสัปดาห์ที่แล้วว่า ธนาคารแห่งนี้สูญเสียเงินฝากเนื่องจากผู้ฝากเงินไม่ไว้วางใจเสียแล้ว ไปมากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้
แบงก์ซึ่งตั้งฐานอยู่ในซานฟรานซิสโกแห่งนี้อยู่ในอาการปั่นป่วน ภายหลังการล้มละลายในเดือนมีนาคมของธนาคารระดับภูมิภาคของสหรัฐฯ 2 แห่ง คือ ซิลิคอน แวลลีย์ แบงก์ (SVB) และซิกเนเจอร์ แบงก์ กลายเป็นชนวนทำให้เกิดความหวาดกลัวว่าปัญหาจะลุกลามออกไปอีก
หลังจากเฟิร์สต์ รีพับลิก ล้มเหลวไม่สามารถเสนอแผนการกู้ชีพที่น่าพึงพอใจ และราคาหุ้นยังคงดำดิ่งลงเรื่อยๆ หน่วยงานรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องได้ก้าวเข้ามา มีการเชิญชวนให้ผู้มีศักยภาพจะเป็นผู้ซื้อ เสนอราคากันในสัปดาห์ที่แล้ว และจากนั้นหน่วยงานตรวจสอบภาคการธนาคารของรัฐแคลิฟอร์เนียก็ประกาศเข้ายึดกิจการแบงก์แห่งนี้
ในการดำเนินการตามแผนที่ตกลงกันได้เมื่อช่วงย่างเข้าวันใหม่ของวันจันทร์ (1 พ.ค.) ตามเวลาในสหรัฐฯ หน่วยงานกำกับตรวจสอบภาคการธนาคารของแคลิฟอร์เนียได้ประกาศแต่งตั้งให้บรรษัทรับประกันเงินฝากสหรัฐฯ (FDIC) ที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการค้ำประกันเงินในธนาคารของพวกผู้ฝาก เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของเฟิร์สต์ รีพับลิก เพื่อดำเนินการขายในทันทีให้แก่เจพีมอร์แกน เชส ซึ่งเป็นผู้ชนะในการเสนอราคาตามที่มีการพิจารณากันก่อนหน้านี้
ภายใต้ข้อตกลง เจพีมอร์แกน ธนาคารรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ จะรับภาระในการฟื้นฟูเงินฝากทั้งหมดของเฟิร์สต์ รีพับลิก รวมทั้งสินทรัพย์ "เกือบทั้งหมด"
"วอลล์สตรีทหายใจโล่งขึ้นเล็กน้อยจากข้อตกลงเฟิร์สต์ รีพับลิก" เอ็ดเวิร์ด โมยา นักวิเคราะห์กล่าว พร้อมระบุ "มันเริ่มดูเหมือนว่าประเด็นปัญหาธนาคารหลักๆ บางแห่งจะไม่ลงเอยด้วยการนำไปสู่วิกฤตธนาคาร"
อย่างไรก็ตาม โมยา เตือนว่าการตัดสินใจของเฟดในวันพุธ (3 พ.ค.) อาจสร้างความผิดหวังแก่นักลงทุน ซึ่งคาดหมายเกี่ยวกับการยุติการปรับขึ้นดอกเบี้ย หลังจากผ่านพ้นเดือนพฤษภาคม
(ที่มา : รอยเตอร์/เอเอฟพี)