xs
xsm
sm
md
lg

ผวา! ภาคธนาคารสหรัฐฯยังไม่พ้นวิบากกรรม ‘เฟิร์สต์ รีพับลิก แบงก์’ไปไม่รอด ถูกยึด-ขายกิจการแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หน่วยงานรับผิดชอบด้านการเงินสหรัฐฯ ลงมือในวันจันทร์ (1 พ.ค.) เข้ายึดกิจการ เฟิร์สต์ รีพับลิก แบงก์ ธนาคารขนาดกลางในแคลิฟอร์เนียที่ประสบปัญหาหนัก และขายให้แก่ เจพี มอร์แกน เชส ในทันทีตามที่ตกลงกันเอาไว้ก่อนแล้ว ด้วยความหวังที่จะปิดฉากวิกฤตภาคธนาคารในอเมริกาและยุโรปซึ่งยืดเยื้อมา 2 เดือน และคุกคามระบบการเงินของโลก

เฟิร์สต์ รีพับลิก ซึ่งกลายเป็นแบงก์ขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 เมื่อวัดโดยสินทรัพย์ที่ล้มครืนลงมาในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ อยู่ในอาการเซซวดยั้งไม่อยู่ หลังจากมีการเปิดเผยในสัปดาห์ที่แล้วว่า ธนาคารแห่งนี้สูญเสียเงินฝากเนื่องจากผู้ฝากเงินไม่ไว้วางใจเสียแล้ว ไปมากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้

แบงก์ซึ่งตั้งฐานอยู่ในซานฟรานซิสโกแห่งนี้อยู่ในอาการปั่นป่วน ภายหลังการล้มละลายในเดือนมีนาคมของธนาคารระดับภูมิภาคของสหรัฐฯ 2 แห่ง คือ ซิลิคอน แวลลีย์ แบงก์ (SVB) และ ซิกเนเจอร์ แบงก์ กลายเป็นชนวนทำให้เกิดความหวาดกลัวว่าปัญหาจะลุกลามออกไปอีก

หลังจาก เฟิร์สต์ รีพับลิก ล้มเหลวไม่สามารถเสนอแผนการกู้ชีพที่น่าพึงพอใจ และราคาหุ้นยังคงดำดิ่งลงเรื่อยๆ พวกหน่วยงานรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องก็ได้ก้าวเข้ามา มีการเชิญชวนให้ผู้มีศักยภาพจะเป็นผู้ซื้อ เสนอราคากันในสัปดาห์ที่แล้ว และจากนั้นหน่วยงานตรวจสอบภาคการธนาคารของรัฐแคลิฟอร์เนียก็ประกาศเข้ายึดกิจการแบงก์แห่งนี้

ในการดำเนินการตามแผนที่ตกลงกันได้เมื่อช่วงย่างเข้าวันใหม่ของวันจันทร์ (1) ตามเวลาในสหรัฐฯ หน่วยงานกำกับตรวจสอบภาคการธนาคารของแคลิฟอร์เนียได้ประกาศแต่งตั้งให้ บรรษัทรับประกันเงินฝากสหรัฐฯ (FDIC) ที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการค้ำประกันเงินในธนาคารของพวกผู้ฝาก เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของเฟิร์สต์ รีพับลิก เพื่อดำเนินการขายในทันที ให้แก่ เจพีมอร์แกน เชส ซึ่งเป็นผู้ชนะในการเสนอราคาตามที่มีการพิจารณากันก่อนหน้านี้

จากข้อตกลงซื้อขายคราวนี้หมายความว่า เจพีมอร์แกน จะรับภาระในการฟื้นฟูเงินฝากทั้งหมดของ เฟิร์สต์ รีพับลิกัน รวมทั้งสินทรัพย์ “เกือบทั้งหมด” ทั้งนี้ตามคำแถลงของ FDIC

FDIC ประมาณการว่าตนเองจะต้องใช้เงินราวๆ 13,000 ล้านดอลลาร์เพื่อชดเชยภาระขาดทุนของเฟิร์สต์ รีพับลิก แต่สาขา 84 แห่งของแบงก์แห่งนี้สามารถเปิดทำการได้ใหม่ตามเวลาทำการปกติในวันจันทร์ (1)

ด้าน เจมี ดิมอน ซีอีโอของเจพีมอร์แกน ออกคำแถลงภายหลังมีการประกาศดีลนี้ออกมา โดยระบุว่า “รัฐบาลของเราเชื้อเชิญเราและรายอื่นๆ ให้เข้ามาช่วย และเราก็ได้ทำตามนั้น”

รัฐบาลสหรัฐฯต้องเข้ายึดกิจการและขาย เฟิร์สต์ รีพับลิก เช่นนี้ ในเวลาราว 2 เดือนหลังจากการล้มละลายของ ซิลเวอร์เกต แบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารที่นิยมกันใช้กันมากในหมู่ผู้ที่เล่นสกุลเงินตราคริปโต และการสิ้นชีพอย่างรวดเร็วของ ซิลิคอน แวลลีย์ แบงก์ สืบเนื่องจากถือสินทรัพย์ที่เป็นอัตราดดอกเบี้ยคงที่ อย่างเช่น พันธบัตรคลัง เอาไว้มากเกินไป ซึ่งพอเจอการประกาศขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ทำให้เกิดการขาดทุนหนัก

นอกจากนั้น ซิกเนเจอร์ แบงก์ ซึ่งตั้งฐานอยู่ในนิวยอร์ก ก็ต้องปิดกิจการลงเช่นกัน ไม่กี่วันภายหลัง SVB

การล้มครืนเหล่านี้ ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องตามมาอีก เมื่อพวกนักลงทุนที่หวาดหวั่นใจพากันมองหาสัญญาณของความอ่อนแอในภาคการธนาคารในวงกว้างมากขึ้นทั้งในสหรัฐฯและในยุโรป

แล้ว เครดิต สวิส แบงก์ยักษ์ใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ ก็กลายเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บรายซึ่งไฮ-โพรไฟล์ที่สุด เมื่อถูกกดดันจากพวกเจ้าหน้าที่กำกับตรวจสอบให้ต้องยอมผนวกกิจการกับ ยูบีเอส ผู้เป็นคู่แข่งของตน

ในสหรัฐฯนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดแบงก์พังพาบขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบได้บรรลุข้อตกลงกับพวกแบงก์ใหญ่ๆ 11 แห่งในเดือนมีนาคม ในการเปิดเครติดช่วยชีวิตมูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์ให้ เฟิร์สต์ รีพับลิก

ทว่านี่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้พวกนักลงทุนรู้สึกมั่นใจขึ้นมาใหม่

ในตอนปิดตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันศุกร์ (29 เม.ย.) มูลค่าของเฟิร์สต์ รีพับลิก เหลือเพียงแค่ 654 ล้านดอลลาร์ จากตอนเริ่มต้นปีนี้ซึ่งอยู่ที่กว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ และในช่วงพีกสุดคือเดือนพฤษภาคม 2021 อยู่ที่ 40,000 ล้านดอลลาร์

เมื่อดูกันอย่างผิวเผิน เฟิร์สต์ รีพับลิก ดูเหมือนน่าจะมีฐานะมั่นคง โดยมีชื่อเสียงว่ามีลูกค้าประเภทมั่งคั่งซึ่งฝากเงินกันไว้เป็นก้อนโตๆ

ทว่าการที่ธนาคารหลายแห่งล้มคว่ากันเป็นแถว ทำให้พวกลูกค้าหวั่นใจ และเงินกู้เกินครึ่งที่ เฟิร์สต์ รีพับลิก ปล่อยออกไป ก็เป็นพวกที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อเคหะอัตราดอกเบี้ยตายตัว ซึ่งมูลค่าลดต่ำลงในท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่ขยับขึ้นอย่างรวดเร็ว

เวลานี้พวกผู้สังเกตการณ์กำลังเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิดว่า จะมีผลกระทบในวงกว้างออกไปอีกอย่างใดหรือไม่ จากการพังพาบของสถาบันการเงินรายล่าสุดรายนี้

ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ซึ่งอยู่ที่ 233,000 ล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมีนาคม เฟิร์สต์ รีพับลิก จึงกลายเป็นแบงก์ใหญ่อันดับ 2 เมื่อวัดด้วยเกณฑ์สินทรัพย์ ที่ล้มพังพาบในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ –โดยยกเว้นพวกวาณิชธนกิจ (ธนาคารเพื่อการลงทุน) อย่างเช่น เลห์แมน บราเธอร์ส – ตามหลังการล้มลายของ วอชิงตัน มิวชวลส์ ซึ่งล้มละลายระหว่างวิกฤตภาคการเงินปี 2008

แบงก์แห่งนี้ก็เช่นกัน ถูกเทคโอเวอร์โดย เจพีมอร์แกน ซึ่งเวลานี้เป็นแบงก์ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ

(ที่มา: เอเอฟพี, เอเจนซีส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น