สมาชิกวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แสดงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในคลังแสงนิวเคลียร์ของอเมริกา โดยแนะว่าเทคโนโลยีดังกล่าวไม่ควรถูกวางสถานะให้ยิงหัวรบนิวเคลียร์ได้ด้วยตนเอง
กลุ่ม ส.ว. และ ส.ส. จากเดโมแครต 3 รายและรีพับลิกัน 1 ราย เสนอร่างกฎหมายฉบับหนึ่งที่เรียกร้องให้แบนเอไอ จากการถูกใช้งานในแนวทางหนึ่งๆ ที่อาจนำไปสู่การปล่อยอาวุธนิวเคลียร์ และถ้ามันผ่านความเห็นชอบและประกาศบังคับใช้ กฎหมายฉบับนี้จะถูกรวมเข้ากับนโยบายหนึ่งของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ในปัจจุบัน ที่กำหนดให้มนุษย์ต้องอยู่ในวงในการตัดสินใจใดๆ
"เราต้องการสร้างความมั่นใจว่ามนุษย์จะอยู่ในกระบวนการของการยิงอาวุธนิวเคลียร์ เมื่อใดก็ตามที่เราจำเป็นต้องปล่อยอาวุธนิวเคลียร์" เคน บัค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ สังกัดพรรครีพับลิกัน จากโคโลราโด กล่าวเมื่อวันศุกร์ (28 เม.ย.) ระหว่างให้สัมภาษณ์กับฟ็อกซ์นิวส์ "หากคุณได้ดูหนังไซไฟ โลกหลุดจากการควบคุมเพระว่าถูกเอไอเข้ายึด เราจำเป็นต้องมีมนุษย์ในกระบวนการนี้"
บัค พาดพิงของเหตุการณ์ฝันร้ายเรื่องราวระบบไอเอเข้าควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ในภาพยนตร์ชื่อดังหลายเรื่อง เช่น "วอร์เกมส์" และ Colossus: The Forbin Project พร้อมเตือนว่าการใช้เอไอโดยปราศจากห่วงโซ่บัญชาการของมนุษย์เป็นสิ่งที่ขาดความยั้งคิดและอันตราย
เทด เหลียว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กล่าวเสริมว่า "เอไอนั้นน่าอัศจรรย์ มันกำลังจะเข้ามาช่วยสังคมในแนวทางต่างๆ มากมาย แต่มันสามารถฆ่าเราได้เช่นกัน" สมาชิกเดโมแครตจากแคลิฟอร์เนียระบุ ขณะที่เขาเป็นแกนนำคนสำคัญในการสนับสนุนร่างกฎหมายเอไอ เช่นเดียวกับสมาชิกเดโมแครตอีก 2 คน ได้แก่ ส.ส.เบเยอร์ จากเวอร์จิเนียและ ส.ว. เอ็ดเวิร์ด มาร์คีย์ จากแมสซาชูเซตส์
แม้แนวคิดสงครามนิวเคลียร์ที่ปลุกปั่นโดยเอไอ อาจเคยถูกปฏิเสธในอดีตว่าเป็นเพียงแค่นิยายวิทยาศาสตร์ แต่เวลานี้พวกนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามันไม่ใช่ความเสี่ยงที่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป ผลสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ของศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ที่มีมนุษย์เป็นแก่นกลางของสถาบันสแตนอร์ด พบว่ามีนักวิจัยไอเอ ถึง 36% ที่เห็นพ้องว่าเทคโนโลยีนี้อาจเป็นต้นตอของหายนะระดับนิวเคลียร์ได้เลย
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กองบัญชาการกลางสหรัฐฯ (CENTCOM) แถลงว่าได้ว่าจ้างอดีตผู้บริหารรายหนึ่งของกูเกิล เป็นที่ปรึกษาด้านเอไอคนแรกในประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกัน เพตากอนได้ร้องของบประมาณจากสภาคองเกรส 1,800 ล้านดอลลาร์ สำหรับงานวิจัยเอไอในปีงบประมาณหน้า
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)