xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : มีลุ้นสันติภาพ! ‘สี จิ้นผิง’ คุยโทรศัพท์ ‘เซเลนสกี’ หนแรก จีนเตรียมส่ง ‘ผู้แทนพิเศษ’ เยือนยูเครนดับไฟสงคราม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนโทรศัพท์พูดคุยกับประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนเมื่อวันพุธ (26 เม.ย.) ซึ่งนับเป็นการพูดคุยกันโดยตรงหนแรกระหว่างผู้นำทั้งสอง ตั้งแต่รัสเซียเริ่มเปิดฉากรุกรานยูเครนเมื่อเดือน ก.พ.ปีที่แล้ว ท่ามกลางความคาดหวังว่าบทบาทของจีนในครั้งนี้อาจจะช่วยผ่าทางตันและนำไปสู่การยุติสงครามได้ในที่สุด

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของจีนมีขึ้นในขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนกำลังย่างเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ โดยคาดกันว่ายูเครนซึ่งได้รับการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์จากชาติตะวันตกจะเปิดปฏิบัติการโจมตีโต้กลับรัสเซียภายในอีกไม่กี่สัปดาห์ หรือไม่กี่เดือนข้างหน้า

จีนแถลงจุดยืนเป็นกลางในสงครามยูเครน และ สี จิ้นผิง ไม่เคยออกมาประณามรัสเซียเรื่องการส่งทหารรุกรานยูเครนแม้แต่ครั้งเดียว

อย่างไรก็ตาม สงครามที่ยืดเยื้อมานานถึง 1 ปีเศษ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง ทำให้ผู้นำจีนหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะถูกนานาชาติกดดันให้ต้องใช้อิทธิพลเข้ามาช่วยเกลี้ยกล่อมมอสโก

เซเลนสกี ทวีตข้อความเมื่อวันพุธ (26) ว่า “ผมได้คุยโทรศัพท์กับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง อย่างยาวนานและมีความหมาย”

“ผมเชื่อว่าการคุยกันครั้งนี้ รวมถึงการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศจีน จะเป็นแรงกระตุ้นที่ทรงพลังเพื่อนำไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างเราทั้ง 2 ประเทศ”

เซียร์เก นีกีโฟรอฟ โฆษกของเซเลนสกี ออกมาเผยผ่านเฟซบุ๊กเช่นกันว่า ผู้นำจีนและยูเครน “สนทนากันทางโทรศัพท์นานเกือบ 1 ชั่วโมง”

เซเลนสกี เคยออกมารบเร้าหลายครั้งว่าต้องการที่จะหารือกับ สี จิ้นผิง ซึ่งในการพูดคุยหนนี้กระทรวงการต่างประเทศจีนยืนยัน ผู้นำเคียฟ “เป็นฝ่ายยกหูโทรศัพท์มาก่อน”

สถานีโทรทัศน์ CCTV ของจีนรายงานว่า ประธานาธิบดี สี ได้กล่าวกับ เซเลนสกี ว่า “การพูดคุยและการเจรจาเท่านั้นที่จะเป็นทางออกของสงครามครั้งนี้”

“ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์ในยูเครน รัฐบาลจีนเลือกยืนอยู่ข้างสันติภาพเรื่อยมา และจุดยืนหลักของเราคือการสนับสนุนให้มีการเจรจาสันติภาพ” CCTV อ้างคำพูดของ สี

สี ยังย้ำด้วยว่า จีน “ในฐานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และประเทศมหาอำนาจที่มีความรับผิดชอบ จะไม่นั่งนิ่งเฉย แต่จะไม่เป็นผู้เติมเชื้อไฟ ยิ่งการฉกฉวยโอกาสแสวงหาประโยชน์จากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ (จีนก็ยิ่งจะไม่ทำ)”

ในประเด็นเรื่องนิวเคลียร์ ผู้นำจีนเตือนว่า “ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องใจเย็นและอดทนอดกลั้นให้มาก นึกถึงอนาคตข้างหน้า สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขาเองรวมไปถึงมนุษยชาติทั้งมวล และร่วมกันบริหารจัดการและควบคุมวิกฤตครั้งนี้ให้ได้”

ทั้งนี้ จีนยังประกาศจะส่งคณะผู้แทนและ “ผู้แทนพิเศษ” ของรัฐบาลปักกิ่งไปยูเครน รวมถึงพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยแสวงหาข้อตกลงทางการเมืองที่จะปิดฉากสงครามครั้งนี้

ทางด้านทำเนียบขาวได้ออกมา “ชื่นชม” การพูดคุยโทรศัพท์ระหว่าง สี กับ เซเลนสกี ในวันพุธ (26) แต่ก็เตือนว่า “ยังเร็วเกินไป” ที่จะคาดหวังว่ามันจะนำไปสู่ข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน

จอห์น เคอร์บีย์ โฆษกด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว บอกกับสื่อมวลชนว่า การพูดคุยครั้งนี้ “เป็นสิ่งที่ดี” แต่จะนำไปสู่กระบวนการสันติภาพที่มีความหมายหรือไม่นั้น “ผมว่าเรายังตอบไม่ได้”

แผนสันติภาพ 12 ประการที่กระทรวงการต่างประเทศจีนเผยแพร่เมื่อเดือน ก.พ. เรียกร้องให้รัสเซียและยูเครนทำข้อตกลงทางการเมืองเพื่อยุติความขัดแย้ง และชูภาพลักษณ์ของจีนในฐานะชาติที่เป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใด โดยข้อเสนอประการแรกนั้นระบุว่า “อธิปไตย เอกราช และบูรณภาพแห่งดินแดนของทุกประเทศจะต้องได้รับการธำรงรักษาไว้”

อย่างไรก็ดี จีนปฏิเสธที่จะลงรายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับสงครามในยูเครน ซึ่งเริ่มขึ้นจากการที่รัสเซียส่งทหารเข้าไปรุกรานดินแดนเคียฟก่อน

จีนยังย้ำเตือนประชาคมโลกว่า “ควรสนับสนุนแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งก็คือการโน้มน้าวให้คู่ขัดแย้งเปิดเจรจากัน เพื่อนำไปสู่ข้อตกลงทางการเมืองโดยเร็วที่สุด ตลอดจนสร้างเงื่อนไขและเปิดพื้นที่สำหรับการเจรจา”

แม้แผนสันติภาพของจีนจะได้กระแสตอบรับที่ค่อนข้างดีจากฝั่งรัสเซียและยูเครน แต่สหรัฐฯ และบรรดาพันธมิตรกลับวิจารณ์ว่าเป็นการพูดแบบกว้างๆ และไร้ความชัดเจนว่าจะจบสงครามอย่างไร อีกทั้งยังอาจกลายเป็นเครื่องมือของ ปูติน ในการโปรโมตข้อตกลงหยุดยิงเพื่อที่จะควบคุมดินแดนของยูเครนต่อไปเรื่อยๆ

ด้าน เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ถึงขั้นปรามาสจีนว่าไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอ เนื่องจากไม่เคยประณามมอสโกที่รุกรานยูเครนอย่างผิดกฎหมาย

การที่ สี จิ้นผิง ลงทุนไปพบประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ถึงกรุงมอสโกเมื่อเดือน มี.ค. แต่กลับไม่เคยแม้แต่จะโทรศัพท์หา เซเลนสกี ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ปักกิ่งถูกชาติตะวันตกค่อนขอดว่า “ไม่เป็นกลางจริง”

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดี สี ได้ออกมากล่าวเมื่อต้นเดือน เม.ย. ว่า เขามีความยินดีที่จะพูดคุยกับ เซเลนสกี ด้วยเช่นกัน

มาตรการคว่ำบาตรที่โลกตะวันตกใช้กับรัสเซียอย่างครอบคลุมทำให้จีนกลายเป็นชาติผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของรัสเซียในเวลานี้ แต่ถึงกระนั้นปักกิ่งก็ไม่เคยสนับสนุนมอสโกอย่างโจ่งแจ้ง ขณะที่สหรัฐฯ ออกมาส่งสัญญาณปรามจีนในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ว่าอย่าได้คิดส่งอาวุธหรือเครื่องกระสุนให้แก่รัสเซียเป็นอันขาด ซึ่งจีนก็ยืนยันว่าไม่คิดจะทำอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น