xs
xsm
sm
md
lg

จีนแก้กฎหมาย 'ต่อต้านจารกรรม' ผู้เชี่ยวชาญเตือน บ.ต่างชาติเผชิญ ‘ความเสี่ยง’ มากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภานิติบัญญัติจีนอนุมัติแก้ไขกฎหมายต่อต้านการจารกรรม (Counter-Espionage Law) เมื่อวันพุธ (26 เม.ย.) โดยห้ามการถ่ายโอนข้อมูลใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวพันกับความมั่นคงของรัฐ และขยายขอบเขตคำนิยาม “การจารกรรม” ให้กว้างขวางยิ่งกว่าเดิม จณะที่ผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนว่าความเคลื่อนไหวนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อบริษัทและบุคลากรต่างชาติ

สื่อทางการจีนรายงานว่า สภานิติบัญญัติสูงสุดของจีนได้ผ่านร่างแก้ไขกฎหมายต่อต้านการจารกรรม ซึ่งเป็นการอัปเดตครั้งแรกหลังปี 2014 เป็นต้นมา และใช้เวลาในการพิจารณา 3 วันเต็ม โดยกฎหมายใหม่นี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับประเด็นความมั่นคงของชาติ นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจีนเมื่อปี 2012 โดยนักวิเคราะห์มองว่า การแก้กฎหมายจารกรรมครั้งนี้สะท้อนถึงความรู้สึกหวาดระแวงที่จีนมีต่อสหรัฐฯ และบรรดาพันธมิตรมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

สำนักข่าวซินหวาอ้างเนื้อความในกฎหมายใหม่ซึ่งระบุว่า “เอกสาร ข้อมูล วัสดุ และสิ่งของใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวพันกับความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติ” จะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายในระดับเดียวกับ “ความลับของรัฐ” (state secrets)

อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่ได้ให้คำนิยามชัดเจนว่า อะไรบ้างที่ถือเป็นความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติจีน

กฎหมายต้านจารกรรมฉบับใหม่ยังขยายคำนิยามของการจารกรรมให้ครอบคลุมไปถึง “การโจมตีทางไซเบอร์ต่อหน่วยงานของรัฐ หรือโครงสร้างพื้นฐานทางสารสนเทศที่สำคัญ” นอกจากนี้ ยังให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการเปิดสอบสวนต่อต้านการจารกรรมเพื่อเข้าถึงฐานข้อมูล อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนข้อมูลหรือทรัพย์สินของบุคคล และสั่งห้ามการเดินทางผ่านแดนได้ด้วย

“ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยังย่ำแย่ลง และต่างฝ่ายต่างมีความหวาดระแวงกันมากขึ้น มาตรการปกป้องความมั่นคงและต่อต้านการจารกรรมจึงเข้มข้นขึ้นตามไปด้วย” เจเรมี โดม นักวิจัยอาวุโสจากศูนย์ Paul Tsai China Center ในสังกัดโรงเรียนกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยเยล ระบุ

เขามองว่า กฎหมายต้านจารกรรมฉบับใหม่ของจีน “เป็นการขยายขอบเขตความเข้าใจเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ และเน้นพิจารณาปัจจัยเสี่ยงต่อความมั่นคงในทุกๆ ด้าน”

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จีนได้จับกุมพลเมืองและชาวต่างชาติด้วยข้อหาจารกรรมหลายราย ล่าสุดคือผู้บริหารของบริษัทเวชภัณฑ์ Astellas Pharma ของญี่ปุ่นซึ่งถูกควบคุมตัวในปักกิ่งเมื่อเดือน มี.ค.

การแก้กฎหมายต่อต้านจารกรรมมีขึ้นเพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่จีนยกเลิกมาตรการปิดพรมแดนและคุมเข้มโควิด-19 ที่ใช้มานานถึง 3 ปีเต็ม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักธุรกิจและนักวิจัยต่างชาติเดินทางเข้าออกจีนได้ยากขึ้น

“จีนกำลังเปิดประเทศ และนั่นยิ่งทำให้ความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น” ยาสุฮิโระ มัตสึดะ อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ให้ความเห็น

มัตสึดะ ชี้ว่า กฎหมายต่อต้านจารกรรมฉบับเดิมที่ออกเมื่อปี 2014 มี “เนื้อหาที่กำกวมและให้อำนาจตรวจสอบอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว... แต่ดูเหมือนจีนคิดว่ามันยังไม่พอ”

อาจารย์ชาวญี่ปุ่นผู้นี้ยังมองว่า กฎหมายใหม่ของจีนกำลังสื่อความว่า “องค์กรหรือบุคคลใดก็ตามสามารถตกเป็นผู้ต้องสงสัยได้ และไม่ว่าอะไรก็ตามอาจจะถูกนับว่าเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติได้ทั้งสิ้น... แน่นอนว่ามันจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่น่ากังวล”

ที่มา : รอยเตอร์, CNN
กำลังโหลดความคิดเห็น