เพนตากอนจะใช้บทเรียนจากการจัดหาความช่วยเหลือทางทหารมอบแก่ยูเครน สำหรับนำไปช่วยไต้หวัน รับมือกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดความขัดแย้งกับจีน จากความเห็นของแคธลีน ฮิกส์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
"มีข้อดีมากมายที่เราได้จากความขัดแย้งยูเครน สำหรับความเป็นไปได้ของเหตุท้าทายในแปซิฟิก" ฮิกส์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ที่มีการเผยแพร่ในวันพุธ (26 เม.ย.)
ความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย เน้นย้ำให้เห็นถึงความยากลำบากในการจัดหาอาวุธและยุทโธปกรณ์ป้อนแก่เคียฟให้รวดเร็วเพียงพอ ฮิกส์อธิบาย ในขณะที่สหรัฐฯ ตัดสินใจใช้อำนาจของประธานาธิบดีตามกฎหมายส่งมอบสิ่งของและบริการยามฉุกเฉิน (Presidential Drawdown Authority) ซ้ำๆ ในการเร่งรัดการถ่ายโอนอาวุธและยุทโธปกรณ์แก่ยูเครน และมีแผนทำแบบเดียวกันกับไต้หวัน
"ในตอนนี้เรากำลังคิดทบทวนเกี่ยวกับแนวทางที่เราจะใช้อำนาจนั้น เพื่อก่อการจัดส่งรวดเร็วขึ้นและมีศักยภาพมากกว่าเดิม สำหรับป้อนแก่กองกำลังของเราในแปซิฟิก" ฮิกส์ กล่าว พร้อมระบุว่า เพนตากอนมี "ยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนที่มุ่งเน้นไปที่จีนโดยเฉพาะ"
แม้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมรายนี้ ระบุสหรัฐฯ ไม่เชื่อว่าปักกิ่งกำลังมีแผนโจมตีไต้หวันในอนาคตอันใกล้ แต่เธอเน้นย้ำว่าเพนตากอนมีพันธสัญญาสำหรับ "ทำให้แน่ใจว่าพวกผู้นำจีนจะตื่นขึ้นมาในทุกๆ วันและตระหนักว่าวันนี้ไม่ใช่วันที่จะดำเนินการรุกรานที่คุกคามผลประโยชน์ของสหรัฐฯ"
ในดือนธันวาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ลงนามในกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ (National Defense Authorization Act : NDAA) ซึ่งในนั้นรวมถึงเงินกู้ยืมทางทหาร 2,000 ล้านดอลลาร์ที่มอบแก่ไต้หวัน นอกจากนี้ กฎหมายฉบับดังกล่าวยังเปิดทางให้วอชิงตันจัดตั้งคลังกระสุนฉุกเฉินมูลค่าสูงสุด 100 ล้านดอลลาร์ บนเกาะหรือใกล้เกาะแห่งนี้
เฉิน เจี้ยน-เหริน นายกรัฐมนตรีไต้หวัน เปิดเผยในวันจันทร์ (24 เม.ย.) ว่า "ข้อเสนอสำหรับคลังอาวุธฉุกเฉินในภูมิภาคยังคงอยู่ในกระบวนการเจรจา" ทั้งนี้ เฉิน ยืนยันว่าไต้หวันและสหรัฐฯ ได้พูดคุยหารือกันเกี่ยวกับแผนดังกล่าว นับตั้งแต่กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ (National Defense Authorization Act หรือ NDAA) ได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรสอเมริกาเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว
NDAA ซึ่งลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในวันที่ 22 ธันวาคม ในนั้นรวมถึงการจัดหาความช่วยเหลือด้านการทหาร และโครงการความร่วมมือต่างๆ สำหรับเกาะไต้หวัน
นอกเหนือจากข้อเสนอที่ให้ทั้งสองฝ่ายซ้อมรบร่วมทางทหาร ยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคงและปรับปรุงแสนยานุภาพด้านความั่นคงของไต้หวันให้มีความทันสมัย กฎหมายฉบับดังกล่าวยังเรียกร้องให้เพิ่มคลังแสงฉุกเฉินในภูมิภาคทุกๆ ปี เพื่อสำรองและสนับสนุนไต้หวัน
ปักกิ่งจัดการซ้อมรบครั้งใหญ่รอบๆ เกาะเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ตอบโต้ที่นางไช่ อิง-เหวิน ประธานาธิบดีไต้หวันเดินทางเยือนสหรัฐฯ ทั้งนี้ จีนมองไต้หวันซึ่งปกครองโดยรัฐบาลแบ่งแยกดินแดนมาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1940 เป็นส่วนหนึ่งของดินแดน และมองการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกับเจ้าหน้าที่ต่างประเทศเป็นการแทรกแซงกิจการภายใน นอกจากนี้ ปักกิ่งยังกล่าวหาวอชิงตันให้การสนับสนุนกองกำลังแบ่งแยกดินแดนบนเกาะด้วย
เมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กล่าวว่า จีนอยากรวมชาติกับไต้หวันอย่างสันติ แต่ขอสงวนไว้ซึ่งการใช้กำลังถ้ามีความจำเป็น
สหรัฐฯ สนับสนุนนนโยบาย "จีนเดียว" ด้วยการระงับไว้ซึ่งการสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับไต้หวัน แต่ขณะเดียวกันวอชิงตันขายอาวุธให้แก่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและรับปากจะปกป้องเกาะแห่งนี้ในกรณีที่ถูกรุกราน
(ที่มา : บลูมเบิร์ก/ทาสส์นิวส์)