องค์การอนามัยโลก (WHO) ในวันพุธ (26 เม.ย.) เปิดเผยว่ายอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ลดลงถึง 95% นับตั้งแต่เริ่มต้นปี 2023 อย่างไรก็ตาม หน่วยงานสาธารณสุขของสหประชาชาติแห่งนี้เตือนว่าไวรัสมรณะนี้ยังเคลื่อนไหวไม่หยุด
ทางองค์การอนามัยโลกระบุว่า โควิด-19 จะยังคงอยู่แบบยาวๆ และประเทศต่างๆ จำเป็นต้องเรียนรู้แนวทางบริหารจัดการผลกระทบที่ไม่ใช่กรณีฉุกเฉินของมัน ซึ่งพบเห็นได้ในปัจจุบัน ในนั้นรวมถึงอาการหลังติดเชื้อโควิด-19 หรือที่เรียกว่าลองโควิด
"เรามีกำลังใจอย่างมากจากรายงานยอดผู้เสียชีวิจจากโควิด-19 ที่ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งลดลง 95% นับตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ปีนี้" ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกกล่าวระหว่างแถลงข่าว
ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกระบุต่อว่า "อย่างไรก็ตาม บางประเทศพบเห็นจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น และในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีประชาชนเสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อนี้ 14,000 ราย" เขากล่าว "และด้วยตัวอย่างการโผล่ขึ้นมาของตัวกลายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 ไวรัสยังคงมีการเปลี่ยนแปลง และยังคงมีศักยภาพก่อระลอกคลื่นการติดเชื้อและผู้เสียชีวิตใหม่ๆ"
แพทย์หญิงมาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคด้านโรคโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า สายพันธุ์ XBB ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน เวลานี้กลายเป็นสายพันธุ์หลักของโลก
XBB เป็นโควิด-19 ที่มีความได้เปรียบในการเติบโต แพร่ระบาด (growth advantage) และสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกัน นั่นหมายความว่าผู้คนยังคงสามารถติดเชื้อ แม้ฉีดวัคซีนแล้วหรือเคยติดเชื้อมาก่อนหน้านี้
เธอเรียกร้องให้ยกระดับการเฝ้าระวังผ่านการตรวจเชื้อ "เพื่อที่เราสามารถจับตาตัวไวรัสเองและทำความเข้าใจแต่ละตัวกลายพันธุ์ นำองค์ความรู้นี้ป้อนเข้าสู่การผลิตวัคซีนและแจ้งการตัดสินต่างๆ ในด้านการรับมือกับไวรัส"
ทีโดรส เน้นย้ำว่าองค์การอนามัยโลกยังคงหวังประกาศยกเลิกโควิด-19 ในฐานะภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ โดยทางคณะกรรมการที่ให้คำปรึกษาเขาในด้านสถานะดังกล่าวมีกำหนดประชุมกันในเดือนหน้า ในการประชุมรายไตรมาสตามปกติ "อย่างไรก็ตาม ไวรัสนี้ยังคงอยู่และทุกประเทศจะจำเป็นต้องเรียนรู้บริหารจัดการมัน เช่นเดียวกับโรคติดเชื้ออื่นๆ"
ขณะเดียวกัน ทีโดรส กล่าวว่าตัวเลขประมาณการที่ว่าในบรรดาผู้ติดเชื้อ 10 คน จะมี 1 คนที่เป็นลองโควิด บ่งชี้ว่ามีประชาชนหลายร้อยล้านคนทั่วโลกจำเป็นต้องได้รับการรักษาระยะยาว
ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกยังเน้นด้วยว่าโรคระบาดใหญ่ได้ก่อความปั่นป่วนแก่โครงการวัคซีนต่างๆ โดยคาดการณ์ว่ามีเด็กๆ ถึง 67 ล้านคน ที่พลาดการฉีดวัคซีนที่จำเป็นอย่างน้อย 1 ประเภท ระหว่างปี 2019 และ 2021
หลังจากกระบวนการต่างๆ หยุดชะงักมานานนับทศวรรษ อัตราการฉีดวัคซีนย้อนกลับสู่ระดับเดียวกับเมื่อปี 2008 อีกครั้ง จากการเปิดเผยของ ทีโดรส ส่งผลให้พบเห็นการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้นของทั้งโรคหัด โรคคอตีบ ไข้เหลืองและโปลิโอ "ทุกประเทศต้องจัดการกับอุปสรรคต่างๆ ของการสร้างภูมิคุ้มกัน ทั้งในด้านการเข้าถึง การมีวัคซีนพร้อมใช้ ราคาและการบิดเบือนข้อมูล"
(ที่มา : เอเอฟพี)