xs
xsm
sm
md
lg

ท่ามกลางแรงบีบคั้นจากสหรัฐฯ ‘จีน-รัสเซีย’ กระชับความร่วมมือกันด้านกลาโหมในเอเชีย-แปซิฟิกแข็งขันขึ้นอีก แม้ยังไม่ถึงขั้นกลายเป็น ‘พันธมิตรทางทหาร’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร ***


“การประชุมหารือเรื่องการงาน” ระหว่างประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน (ขวา)
China, Russia circle wagons in Asia-Pacific
BY M. K. BHADRAKUMAR
19/04/2023

ปักกิ่งและมอสโก มองสถานการณ์อย่างเห็นเป็นภาพชัดเจนว่า สหรัฐฯ นั้นเมื่อประสบความล้มเหลวในความพยายามที่จะ “ลบ” รัสเซียให้หายไปจากแผนที่ จึงกำลังหันมาใส่ใจกับยุทธบริเวณเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งนี้ วลาดิมีร์ ปูติน เคยแถลงตั้งแต่เมื่อปี 2019 เปิดเผยว่า จีนกับรัสเซียกำลังร่วมมือกันพัฒนาระบบเตือนภัยขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีป เรื่องนี้สาธิตให้เห็นว่าประเทศทั้งสองอยู่ตรงชายขอบของการจับมือเป็นพันธมิตรทางทหารอย่างเป็นทางการแล้ว

การเดินทางไปเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการครั้งแรกของ พล.อ.หลี่ ซ่างฝู ในฐานะมนตรีแห่งรัฐ (State Councilor ในระบบของจีนถือว่าเทียบเท่ากับรองนายกรัฐมนตรี -ผู้แปล) และรัฐมนตรีกลาโหมของจีน ระหว่างวันที่ 16-19 เมษายนที่ผ่านมา คือการตอกย้ำให้เห็นถึงความต้องการอันเร่งด่วนของประเทศทั้งสองในการเพิ่มทวีความไว้เนื้อเชื่อใจกันและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในทางการทหารของพวกตนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก ท่ามกลางพื้นหลังแห่งความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งกำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ ตลอดจนความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องธำรงรักษาความสมดุลทางยุทธศาสตร์ในระดับโลก
(ข่าวการไปเยือนรัสเซียของ พล.อ.หลี่ ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://eng.mod.gov.cn/xb/News_213114/NewsRelease/16217089.html)

การเยือนครั้งนี้ยังเป็นการสร้างความคืบหน้าให้แก่การตัดสินใจอันทรงความสำคัญยิ่ง ที่กระทำกันในการหารืออย่างเข้มข้นจริงจังและเป็นการพูดจากันแบบหนึ่งต่อหนึ่ง ระหว่างประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย กับ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ในกรุงมอสโก ช่วงวันที่ 20-21 มีนาคมที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้นการไปเยือนเป็นเวลา 4 วันของ พล.อ.หลี่ ครั้งนี้ยังไม่เดินตามแบบแผนทางการทูตตามปกติ โดยเปิดหน้าด้วยรายการที่เขาได้เข้าพบ “หารือเรื่องการงาน” กับ ปูติน (โดยที่ตามพิธีการทูตธรรมดาแล้ว อาคันตุกะระดับรัฐมนตรีย่อมได้พบคุยกับบุคคลระดับเดียวกันก่อน แล้วจึงได้เข้าพบผู้นำระดับสูงสุดของเจ้าบ้าน -ผู้แปล) –ทั้งนี้ ตามถ้อยแถลงของ ดมิตริ เปสคอฟ (Dmitry Peskov) โฆษกทำเนียบเครมลิน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://en.kremlin.ru/events/president/news/70941 และ http://eng.mod.gov.cn/xb/News_213114/TopStories/16217632.html)

หลี่ ไม่ใช่เป็นคนแปลกหน้าในมอสโกเลย เขาเคยรับผิดชอบฝ่ายการพัฒนายุทโธปกรณ์ (Equipment Development Department) ของคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง (Central Military Commission) ของจีนมาก่อน และยังถูกสหรัฐฯ ลงโทษแซงก์ชันเมื่อปี 2018 โทษฐานซื้อหาอาวุธต่างๆ ของรัสเซีย รวมทั้งเครื่องบินสู้รบแบบ Su-35 และระบบขีปนาวุธยิงจากภาคพื้นดินสู่อากาศแบบ S-400

ซ่ง จงผิง (Song Zhongping) ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารและคอมเมนเตเตอร์ทางทีวีชาวจีนคนสำคัญ กล่าวทำนายเอาไว้ว่า ทริปเดินทางนี้ของ หลี่ จะเป็นสัญญาณแสดงถึงความผูกพันทวิภาคีทางทหารในระดับสูงกับรัสเซีย และนำไปสู่ “การแลกเปลี่ยนที่เป็นผลประโยชน์แก่กันและกันเพิ่มขึ้นในด้านต่างๆ จำนวนมาก รวมทั้งเรื่องเทคโนโลยีกลาโหม และการฝึกซ้อมทางทหาร”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.globaltimes.cn/page/202304/1289213.shtml)

เมื่อวันพุธ (12 เม.ย.) ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ประกาศใช้มาตรการควบคุมการส่งออกเพื่อเล่นงานบริษัทจีนสิบกว่าแห่ง ในข้อหาว่า “กำลังสนับสนุนฝ่ายทหารและอุตสาหกรรมกลาโหมของรัสเซีย” หนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ (สื่อในเครือของ เหรินหมินรึเป้า หรือ People’s Daily ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน -ผู้แปล) ได้ตอบโต้กลับอย่างท้าทายว่า “ในฐานะที่จีนเป็นมหาอำนาจใหญ่ที่มีเอกราช และรัสเซียก็เฉกเช่นเดียวกัน มันจึงป็นสิทธิของเราที่จะตัดสินว่าใครคือผู้ที่เราจะมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจและทางการค้าอย่างเป็นปกติด้วย เราไม่สามารถยอมรับการเที่ยวชี้นิ้วบงการเช่นนี้ของสหรัฐฯ หรือกระทั่งเป็นพฤติการณ์ใช้อำนาจบังคับกดดันทางเศรษฐกิจเช่นนี้ของสหรัฐฯ”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.globaltimes.cn/page/202304/1289230.shtml)

ปูติน กล่าวระหว่างพบปะหารือกับ หลี่ ณ วันอาทิตย์อีสเตอร์ (ของศาสนาคริสต์ นิกายออร์ทอด็อกซ์ ซึ่งเคารพนับถือกันในรัสเซีย ที่ปีนี้ตรงกับวันที่ 16 เม.ย. -ผู้แปล) ว่า ความร่วมมือกันทางทหารมีบทบาทสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับจีน ขณะที่พวกนักวิเคราะห์ชาวจีนชี้ว่า การไปเยือนของ หลี่ ยังเป็นการส่งสัญญาณร่วมกันของจีนและรัสเซียว่า ความร่วมมือทางทหารของพวกเขาจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรเมื่อเผชิญแรงบีบคั้นกดดันของสหรัฐฯ
(ดูเพิ่มเติมคำพูดของปูตินได้ที่ http://en.kremlin.ru/events/president/news/70941)

ปูตินได้เคยเปิดเผยเอาไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2019 ว่า รัสเซียกำลังช่วยจีนในการสร้างระบบเตือนภัยขีปนาวุธที่กำลังถูกยิงเข้ามา ซึ่งจะเพิ่มพูนสมรรถนะในการป้องกันของจีนได้อย่างมหาศาล พวกผู้สังเกตการณ์ชาวจีนชี้ว่า รัสเซียมีประสบการณ์มากกว่าในเรื่องการพัฒนาและการใช้งานระบบเช่นว่านี้ ซึ่งมีศักยภาพในการระบุจำแนก และส่งสัญญาณเตือนภัยในทันทีหลังจากที่มีผู้ยิงขีปนาวุธทิ้งตัวแบบข้ามทวีป (intercontinental ballistic missiles) ออกมา
(การเปิดเผยของปูตินนี้ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/defense/1081383)

ความร่วมมือดังกล่าวนี้ สาธิตให้เห็นถึงความไว้วางใจกันในระดับสูง และก็เรียกร้องให้ระบบของฝ่ายรัสเซียและของฝ่ายจีนมีความเป็นไปได้ที่จะบูรณาการเข้าด้วยกัน การบูรณาการระบบเช่นนี้จะเอื้ออำนวยผลประโยชน์ให้แก่กันและกัน กล่าวคือ พวกสถานีติดตามซึ่งตั้งอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันตกของรัสเซีย สามารถที่จะจัดหาจัดส่งข้อมูลเตือนให้แก่จีน ในทำนองเดียวกัน จีนก็สามารถจัดหาจัดส่งข้อมูลที่รวบรวมโดยพวกสถานีในภาคตะวันตกและภาคใต้ของพวกเขาให้แก่รัสเซีย นี่จึงกล่าวได้ว่า ประเทศทั้งสองสามารถที่จะสร้างเครือข่ายการป้องกันขีปนาวุธในระดับโลกของพวกเขาเองขึ้นมา

ระบบเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของระบบที่มีความประณีตซับซ้อนที่สุดและอ่อนไหวที่สุดในแวดวงของเทคโนโลยีกลาโหมของโลก เวลานี้มีเพียงสหรัฐฯ และรัสเซียเท่านั้นซึ่งสามารถที่จะพัฒนา สร้าง และบำรุงรักษาระบบเช่นนี้ได้ แน่นอนทีเดียวว่า การประสานงานและความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างรัสเซียกับจีน ซึ่งต่างเป็นมหาอำนาจที่ติดอาวุธนิวเคลียร์กันทั้งคู่ จะมีคุณูปการอย่างลึกซึ้งต่อสันติภาพของโลกในสภาวการณ์ปัจจุบัน ด้วยการพยายามเข้าขีดวงจำกัดเขตและป้องปรามการวางตัวเป็นเจ้าเหนือกว่าใครในโลกของสหรัฐฯ

มันไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเพียงเหตุบังเอิญคล้องจองกันหรอก สำหรับการที่มอสโกได้ออกคำสั่งตรวจสอบความพร้อมของกองเรือภาคแปซิฟิกของตนแบบฉับพลันทันด่วนระหว่างวันที่ 14-18 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเหลื่อมๆ กับกำหนดการเยือนของ พล.อ.หลี่ การตรวจสอบความพร้อมคราวนี้ยังมีขึ้นท่ามกลางภูมิหลังความดุเดือดรุนแรงของสถานการณ์รอบๆ ไต้หวัน
(คำสั่งตรวจสอบความพร้อมกองเรือแปซิฟิก ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://eng.mil.ru/en/news_page/country/more.htm?id=12464005@egNews)

อันที่จริงตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ก็เป็นที่ทราบกันว่าเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกัน “ยูเอสเอส นิมิตซ์” (USS Nimitz) กำลังแล่นเข้ามาที่ไต้หวัน โดยในวันที่ 11 เมษายน สหรัฐฯ ได้เริ่มการซ้อมรบเป็นเวลา 17 วันในฟิลิปปินส์ ซึ่งมีกำลังทหารเข้าร่วมจำนวน 12,000 คน ในวันที่ 17 เมษายน มีข่าวปรากฏออกมาว่า มีการจัดส่งที่ปรึกษาทางทหารชาวอเมริกันจำนวน 200 คนไปที่ไต้หวัน

การซ้อมรบทางยุทธศาสตร์ “โกลบอลธันเดอร์ 23” (Global Thunder 23) ของสหรัฐฯ ที่ฐานทัพอากาศไมน็อต (Minot) ในรัฐนอร์ทดาโคตา (ซึ่งเป็นฐานของกองบัญชาการเพื่อการโจมตีระดับโลก แห่งกองทัพอากาศสหรัฐฯ US Air Force Global Strikes Command) ก็เริ่มขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว โดยรายการฝึกรายการหนึ่งที่ทำกันในการซ้อมรบคราวนี้ คือการลำเลียงเอาขีปนาวุธร่อน (cruise missiles) ที่ติดหัวรบนิวเคลียร์ขึ้นไปบรรจุติดตั้งในเครื่องบินทิ้งระเบิด จากภาพต่างๆ ที่มีการเผยแพร่ออกมา แสดงให้เห็นพวกบุคลากรทางเทคนิคประจำเที่ยวบินของฐานทัพแห่งนี้กำลังบรรจุติดตั้งขีปนาวุธร่อน เอจีเอ็ม-86บี (AGM-86B) ซึ่งมีศักยภาพติดหัวรบนิวเคลียร์ ให้แก่เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ บี-52 เอช สตราโตฟอร์เทรสส์ (B-52H Stratofortress) หลายลำ ที่บริเวณตัวยึด (ไพลอน pyron) ใต้ปีกของเครื่องบินเหล่านี้!

นี่ก็เหมือนกัน กองกำลังทางอากาศและกองกำลังนาวีของสหรัฐฯ กำลังมีการซ้อมรบเพิ่มมากขึ้นอย่างสังเกตเห็นได้ชัดในบริเวณประชิดติดกับขอบนอกของแนวชายแดนรัสเซีย หรือในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งรัสเซียมีผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์อยู่ เป็นต้นว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายน บี-52 สตราโตฟอร์เทรสส์ ได้ไปบินวนเหนือคาบสมุทรเกาหลี โดยอ้างเหตุผลว่า “เพื่อเป็นการตอบโต้ภัยคุกคามทางนิวเคลียร์และภัยคุกคามทางขีปนาวุธจากเกาหลีหนือ ในเวลาเดียวกันนั้น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และญี่ปุ่นก็ได้ดำเนินการซ้อมรบทางเรือไตรภาคีขึ้นในน่านน้ำของทะเลญี่ปุ่น (Sea of Japan) โดยที่มีเรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส นิมิตซ์ เข้าร่วมด้วย

เลขาธิการสภาความความมั่นคง (Security Council Secretary) ของรัสเซีย นิโคไล ปาตรูเชฟ (Nikolai Patrushev) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ออกมาแสดงความใส่ใจเพ่งเล็งไปที่สมรรถนะทางทหารเพื่อการปฏิบัติการรุกของญี่ปุ่น ซึ่งกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเขากล่าวว่า เรื่องนี้ “เป็นการละเมิดอย่างเต็มๆ ต่อผลลัพธ์สำคัญที่สุดประการหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สอง” ทั้งนี้ ญี่ปุ่นยังกำลังวางแผนซื้อขีปนาวุธร่อนแบบ “โทมาฮอว์ก” (Tomahawk) จำนวนประมาณ 500 ลูกจากสหรัฐฯ โดยที่อาวุธเช่นนี้สามารถคุกคามโดยตรงต่อดินแดนแทบทั้งหมดในภาคตะวันออกไกลของรัสเซียทีเดียว ขณะที่บริษัทมิตซูบิชิเฮฟวีอินดัสทรีส์ (Mitsubishi Heavy Industries) ก็กำลังทำงานในการพัฒนาขีปนาวุธไทป์ 12 (Type 12) อันเป็นขีปนาวุธต่อสู้เรือชนิดติดตั้งทางภาคพื้นดิน ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นอ้างว่าจะเข้ามา “ทำหน้าที่พิทักษ์ป้องกันพวกหมู่เกาะเล็กหมู่เกาะน้อยที่อยู่ห่างไกลออกไปของญี่ปุ่น”

ญี่ปุ่นยังกำลังพัฒนาอาวุธที่มีความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิก (hypersonic ความเร็วเหนือเสียงตั้งแต่ 5 เท่าขึ้นไป -ผู้แปล) เพื่อนำมาใช้ในการปฏิบัติการสู้รบ “ในดินแดนหมู่เกาะที่อยู่ห่างไกล” ขณะที่ฝ่ายรัสเซียมองเห็นว่ามันจะกลายเป็นทางเลือกของญี่ปุ่นสำหรับความเป็นไปได้ที่จะเข้าช่วงชิงยึดครองดินแดนหมู่เกาะคูริวส์ตอนใต้ (Southern Kuriles ซึ่งปัจจุบันอยู่ในการปกครองของรัสเซีย) ในปี 2023 นี้ ญี่ปุ่นจะมีงบประมาณทางทหารสูงเกินกว่าระดับ 51,000 ล้านดอลลาร์ (มากพอๆ กับงบกลาโหมของรัสเซีย) โดยมีแผนการจะเพิ่มไปถึงระดับ 73,000 ล้านดอลลาร์

ในความเป็นจริงแล้ว ระหว่างการตรวจสอบความพร้อมแบบไม่มีการประกาศให้ทราบล่วงหน้าครั้งล่าสุดคราวนี้ เรือผิวน้ำและเรือดำน้ำของกองเรือแปซิฟิกของรัสเซียได้เคลื่อนพลจากฐานทัพต่างๆ ของพวกตนไปทะเลญี่ปุ่น ทะเลโอค็อตสค์ (Okhotsk Sea) และทะเลเบริง (Bering Sea) โดยที่รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย เซียร์เก ชอยกู (Sergei Shoigu) แถลงว่า “ในทางปฏิบัติ มันมีความจำเป็นที่จะต้องหาหนทางต่างๆ ในการป้องกันไม่ให้กองกำลังข้าศึกษาสามารถเข้าประจำการในพวกพื้นที่ปฏิบัติการสำคัญๆ ของมหาสมุทรแปซิฟิก –นั่นคือส่วนตอนใต้ของทะเลโอค็อตสค์ และขัดขวางไม่ให้พวกเขาสามารถขึ้นบกที่หมู่เกาะคูริลใต้ และหมู่เกาะซาคาริน (Sakhalin Island) ได้”

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ไปเยือนกรุงมอสโก แบบเป็นแขกของประมุขแห่งรัฐ (state visit) ระหว่างวันที่ 20-22 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำต้อนรับเมื่อคืนวันที่ 21 มี.ค.  สื่อมวลชนรัสเซียรายงานว่า ปูติน ได้เดินออกมาส่งและกล่าวลา สี จนถึงรถลีมูซีน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยพบเห็นกัน  และในระหว่างการจับมือกล่าวลากันนั้น สื่อยังรายงานว่า สีพูดว่า “ด้วยความร่วมมือกัน เราควรสามารถที่จะผลักดันความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ซึ่งไม่ได้เคยเกิดขึ้นมา 100 ปีแล้ว ให้คืบหน้าไปได้  ดูแลสุขภาพนะครับ” ทั้งนี้ เอ็ม เค ภัทรกุมาร วิเคราะห์ว่า สี กำลังพูดพาดพิงถึงประวัติศาสตร์สมัยใหม่ช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้เป็นประจักษ์พยานเรื่องที่สหรัฐฯมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารกลายเป็นอภิมหาอำนาจและเจ้าใหญ่ผู้ครอบงำเหนือทั่วโลกแต่เพียงผู้เดียว  ขณะเดียวกัน คำพูดของ สี ก็เป็นการย้อนนึกถึงการพูดจาหารืออย่างเข้มข้นที่กระทำกับ ปูติน ซึ่งมีการใคร่ครวญเกี่ยวกับความเป็นจริงร่วมสมัย ว่าด้วยการขุดหลุมฝังช่วงขณะแห่งการมีขั้วอำนาจเพียงขั้วเดียวของโลก (ดูเพิ่มเติมได้ที่เรื่อง  ‘Russia alone can already confront the entire West…’ ใน https://www.indianpunchline.com/russia-alone-can-already-confront-the-entire-west/)
ในความเงียบที่อึกทึกมากขึ้นเรื่อยๆ

ระหว่างสำรวจการรวมตัวจับกลุ่มกันที่กำลังเกิดขึ้นในระดับภูมิภาค ยูริ ลีอามิน (Yuri Lyamin) ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารชาวรัสเซีย ซึ่งเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ศูนย์เพื่อการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์และเทคโนโลยี (Center for Analysis of Strategies and Technologies) หน่วยงานคลังสมองชั้นนำของกลุ่มการทหาร-อุตสาหกรรม ได้บอกกับหนังสือพิมพ์อิซเวสเตีย (Izvestia) ดังนี้ :

“ลองพิจารณาดูนะ ว่าเรายังไม่ได้มีข้อตกลงในประเด็นด้านดินแดน ญี่ปุ่นยังคงอ้างกรรมสิทธิ์เหนือคูริลส์ใต้ ของเรา ในแง่นี้ การตรวจสอบความพร้อมอยู่เสมอจึงเป็นเรื่องจำเป็นมากๆ มันเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความพร้อมของกองกำลังของเราในภาคตะวันออกไกล ...

“ในบริบทของสถานการณ์ปัจจุบัน เราจึงจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ความร่วมมือด้านกลาโหมที่มีอยู่กับจีนต่อไปอีก ข้อเท็จจริงที่เห็นกันก็คือ กำลังมีการจัดตั้งกลุ่มอักษะขึ้นมาเพื่อเล่นงานรัสเซีย เกาหลีเหนือ และจีน ซึ่งประกอบไปด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน แล้วจากนั้นมันก็ไปที่ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักรก็กำลังพยายามอย่างกระตือรือร้นเพื่อเข้าร่วม ...

“ทั้งหมดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณากัน และดังนั้นจึงควรที่จะสร้างความร่วมมือกับจีนและเกาหลีเหนือ ซึ่งเราอาจจะพูดได้ว่า คือพันธมิตรตามธรรมชาติของเรา”


(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://iz.ru/1500000/roman-kretcul-andrei-fedorov-iuliia-nemchenko/gromko-na-tikhom-chto-oznachaiut-manevry-flota-rossii-na-dalnem-vostoke)

ระหว่างการหารือที่ทำเนียบเครมลิน กับรัฐมนตรีกลาโหมชอยกู เมื่อวันที่ 17 เมษายน – ขณะที่ หลี่ ยังคงอยู่ในมอสโก— ปูตินได้กล่าวตั้งข้อสังเกตที่ทรงความสำคัญมาก โดยเขาชี้ว่า การจัดลำดับความสำคัญในปัจจุบันของกองทัพรัสเซียนั้น “กำลังโฟกัสเป็นอันดับแรกไปที่เรื่องว่าด้วยยูเครน ... (แต่) ยุทธบริเวณแห่งการปฏิบัติการแปซิฟิกยังคงมีความสำคัญเช่นเดียวกัน” และต้องระลึกเอาไว้ว่า “กองกำลังของกองเรือ (แปซิฟิก) ในแง่ของส่วนประกอบเดี่ยวๆ ของมันนั้น แน่นอนทีเดียวว่าสามารถที่จะนำมาใช้ในการสู้รบขัดแย้งต่างๆ ในทิศทางไหนก็ได้”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://en.kremlin.ru/events/president/news/70942)

วันรุ่งขึ้น ชอยกู กล่าวระหว่างการหารือกับ พล.อ.หลี่ ว่า “ด้วยจิตใจแห่งมิตรภาพที่ไม่มีทางแตกทำลายได้ระหว่างประเทศชาติ ประชาชน และกองทัพ ของจีนและรัสเซีย ผมกำลังรอคอยที่จะมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดที่สุดและประสบความสำเร็จที่สุดกับคุณ ...” โดยที่บันทึกย่อเกี่ยวกับการเจรจาคราวนี้ของกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ที่นำออกมาเผยแพร่ กล่าวไว้ดังนี้ :

เซียร์เก ชอยกู กล่าวย้ำว่า รัสเซียและจีนสามารถที่จะทำให้สถานการณ์ของโลกมีเสถียรภาพ และลดทอนศักยภาพสำหรับการเกิดการสู้รบขัดแย้ง ด้วยการประสานงานการปฏิบัติต่างๆ ของพวกเขาบนเวทีระดับโลก เขากล่าวว่า “มันเป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศของพวกเรามีความคิดเห็นอย่างเดียวกันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลก ที่กำลังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง... การพบปะหารือของพวกเราในวันนี้ ในความเห็นของผมแล้วจะช่วยสร้างความหนักแน่นมั่นคงยิ่งขึ้นอีกให้แก่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างรัสเซีย-จีน และทำให้สามารถที่จะมีการหารืออย่างเปิดกว้างเกี่ยวกับประเด็นปัญหาความมั่นคงต่างๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก”
(ดูเพิ่มเติมได้ที https://eng.mil.ru/en/news_page/country/more.htm?id=12464480@egNews)

ปักกิ่งและมอสโก มองสถานการณ์อย่างเห็นเป็นภาพชัดเจนว่า สหรัฐฯ นั้นเมื่อประสบความล้มเหลวในความพยายามที่จะ “ลบ” รัสเซียให้หายไปจากแผนที่ จึงกำลังหันมาใส่ใจกับยุทธบริเวณเอเชีย-แปซิฟิก สามารถที่จะกล่าวได้ว่า การไปเยือนรัสเซียของ หลี่ แสดงให้เห็นว่า ความเป็นจริงของความร่วมมือกันด้านกลาโหมระหว่างรัสเซีย-จีนนั้นมีความสลับซับซ้อน ความร่วมมือทางการทหาร-ทางเทคนิคระหว่างรัสเซีย-จีนมีลักษณะค่อนข้างปิดลับเสมอมา และระดับของการเก็บเป็นความลับนี้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ประเทศทั้งสองเกี่ยวข้องพัวพันอยู่กับการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ โดยตรงมากขึ้น

คำแถลงในปี 2019 ของปูตินว่าด้วยการร่วมกันพัฒนาระบบเตือนภัยขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีปนั้น เป็นเรื่องที่มีความหมายทางการเมือง มากยิ่งกว่าแค่ความสำคัญทางเทคนิคและทางทหารของมัน โดยมันได้สาธิตให้โลกมองเห็นว่า รัสเซียและจีนกำลังอยู่ตรงชายขอบของการจับมือเป็นพันธมิตรทางทหารอย่างเป็นทางการแล้ว โดยอาจจะปะทุตัวตูมตามมากยิ่งขึ้นกว่านี้ ถ้าหากสหรัฐฯ ยังพยายามออกแรงบีบคั้นกดดันชนิดเกินเลย

เมื่อเดือนตุลาคม 2020 ปูติน ได้เสนอแนะเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะจับมือเป็นพันธมิตรทางทหารกับจีน ปรากฏว่าปฏิกิริยาสนองตอบของกระทรวงการต่างประเทศจีนต่อเรื่องนี้ออกมาในทางบวก ถึงแม้ปักกิ่งหลีกเลี่ยงไม่ต้องการใช้ถ้อยคำว่า “พันธมิตร”

ความเป็นพันธมิตรกันทางการทหารที่ทำงานได้จริงและมีประสิทธิภาพนั้นสามารถที่จะก่อตั้งขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว ถ้าหากมีความจำเป็นเพิ่มมากขึ้น ทว่าจากยุทธศาสตร์ด้านนโยบายการต่างประเทศของพวกเขาแต่ละฝ่าย ทำให้ตีความกันว่าความเคลื่อนไหวเช่นนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ อย่างไรก็ดี อันตรายของการเกิดการสู้รบขัดแย้งทางทหารกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอันตรายที่มีอยู่จริงๆ และทำท่าจะเกิดขึ้นมารอมร่อแล้ว สามารถที่จะกลายเป็นชนวนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางกระบวนทัศน์ (paradigm shift) ครั้งใหญ่

เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/china-russia-circle-wagons-in-asia-pacific
กำลังโหลดความคิดเห็น