สหรัฐฯ ควรกลับมาประจำการอาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิคในเกาหลีใต้ เพื่อส่งสารอย่างชัดเจนถึงเกาหลีเหนือ และบรรเทาเสียงเรียกร้องหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ในโสมขาว ที่ขอให้พัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ของตนเอง จากความเห็นของจอห์น โบลตัน อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติอเมริกาเมื่อวันอังคาร (25 เม.ย.)
ความคิดเห็นของโบลตัน มีขึ้นในขณะที่ ประธานาธิบดียุน ซุกยอล อยู่ในกรุงวอชิงตัน เพื่อประชุมซัมมิตกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ซึ่งระหว่างนั้นคาดหมายว่าทั้ง 2 คนจะปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับแนวทางยกระดับความเชื่อมั่นใจการป้องปรามอย่างครอบคลุมของสหรัฐฯ หรือก็คือร่มนิวเคลียร์ของอเมริกาสำหรับปกป้องเหล่าพันธมิตร
ในขณะที่เกาหลีเหนือเร่งปรับปรุงแสนยานุภาพในการโจมตีสหรัฐฯ ด้วยขีปนาวุธนิวเคลียร์ให้มีความสมบูรณ์แบบ ยุน ต้องเผชิญคำถามเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของเกาหลีใต้ที่พึ่งพิงสหรัฐฯ ในด้านความมั่นคง โดยสมาชิกระดับอาวุโสบางส่วนภายในพรรคการเมืองของยุน เรียกร้องให้โซลพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ของตนเอง
โบลตัน บอกว่าข้อเสนอของเขาในการส่งอาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิคของสหรัฐฯ กลับเข้าประจำการในเกาหลีใต้ จะช่วยสร้างความอุ่นใจแก่ชาวเกาหลีใต้ และขณะเดียวกัน เป็นการส่งคำเตือนถึงเปียงยางด้วย
"การส่งอาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิคกลับสู่คาบสมุทร จะเป็นหลักฐานอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความมุ่งมั่นและความแน่วแน่ของเราในการป้องปรามเกาหลีเหนือ" เขาบอกกับรอยเตอร์ รอบนอกเวทีสัมมนาหนึ่งที่จัดโดยสถาบันอาซานเพื่อนโยบายศึกษา (Asan Institute for Policy Studies) ในกรุงโซล
เขากล่าวต่อว่า "การกลับมาประจำการอาวุธทางเทคนิคไม่ได้เป็นการตัดโอกาสเกาหลีใต้จากการมีแสนยานุภาพของตนเอง แต่บางทีมันอาจมอบเวลาให้เราคิดทบทวนว่าเราต้องการทำเช่นนั้นจริงหรือไม่"
สหรัฐฯ เคยประจำการอาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิคในเกาหลีใต้ ในปี 1958 ก่อนเคลื่อนย้ายมันออกมาในปี 1991 และนับตั้งแต่นั้นพวกเขาประกาศว่าจะใช้ทุกแสนยานุภาพที่อเมริกามีในการปกป้องพันธมิตรหลักในเอเชียแห่งนี้
ยุน เคยกล่าวระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง ว่า เขาจะขอให้สหรัฐฯ นำอาวุธกลับมาเกาหลีใต้หากมีความจำเป็น แต่กลับลำหลังจากเข้ารับตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหมระบุในเดือนพฤศจิกายน ว่า โซลยังไม่ได้พิจารณาในความเคลื่อนไหวดังกล่าว
ระหว่างให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยุน ระบุว่าการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เป็นการละเมิดสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ แต่เขาจะทำงานเพื่อยกระดับบทบาทของโซล ในมาตรการป้องปรามอย่างครอบคลุมของสหรัฐฯ
โบลตัน กล่าวว่า การที่ชาวเกาหลีใต้มีความสงสัยเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ป้องปรามอย่างครอบคลุมของสหรัฐฯ "เป็นเรื่องชอบธรรม" แต่ถ้าโซลเลือกสร้างอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง มันจะบ่อนทำลายระบบไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ของโลก และโหมกระพือการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาค
เขาแนะนำว่าเกาหลีใต้ สหรัฐฯ และญี่ปุ่นควรเสาะหากลไกปรึกษาหารือทางนิวเคลียร์ไตรภาคีแทน แบบเดียวกับกลุ่มวางแผนนิวเคลียร์ของนาโต (Nuclear Planning Group) หรือกลุ่มป้องกันตนเองร่วมในวงกว้าง ที่เป็นไปได้ว่าจะมีไต้หวันรวมอยู่ในนั้นด้วย
"เกาหลีใต้สามารถช่วยก่อโครงสร้างของการป้องกันตนเองร่วมในเอเชียตะวันออก หรืออินโดแปซิฟิกในวงกว้างมากกว่า" โบลตันกล่าว "ผู้คนควรมองไปที่ผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่แค่เรื่องของนิวเคลียร์ แต่ยังรวมถึงภัยคุกคามจากประเทศต่างๆ อย่างเช่นจีนและเกาหลีเหนือ ซึ่งจะช่วยให้เราทั้งหมดปลอดภัยยิ่งขึ้น"
(ที่มา : รอยเตอร์)