ความพยายามในวันพุธ (26 เม.ย.) ของไอสเปซ (ispace) บริษัทสตาร์ทอัปสัญชาติญี่ปุ่น สำหรับกลายเป็นบริษัทเอกชนแห่งนี้ที่ลงจอดบนดวงจันทร์ จบลงด้วยความล้มเหลว แต่พวกเขาประกาศก้องว่าจะยังคงเดินหน้าด้วยภารกิจใหม่
ยานลงจอด Hakuto-R Mission 1 (M1) มีกำหนดลงสัมผัสพื้นผิวของดวงจันทร์เมื่อคืนที่ผ่านมา แต่ราว 25 นาทีหลังผ่านพ้นกำหนดการลงจอด ทางบริษัทไม่สามารถติดต่อกับยานดังกล่าวได้
"สรุปได้ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ท้ายที่สุดแล้ว ยานลงจอดได้ลงจอดกระแทกบนพื้นผิวของดวงจันทร์" ไอสเปซระบุในถ้อยแถลง ขณะที่ ทาเคชิ ฮาคามาดะ ซีอีโอ และผู้ก่อตั้งไอสเปซ เสริมว่าเหล่าวิศวกรของทางบริษัทกำลังทำงานหาข้อสรุปว่าทำไมการลงจอดถึงประสบความล้มเหลว
"ในตอนนี้สิ่งที่ผมบอกได้คือเราภูมิใจมากที่เราได้บรรลุหลายสิ่งหลายอย่างในภารกิจนี้ แม้เราไม่คาดหวังถึงความสมบูรณ์แบบของการลงจอด แต่เราเชื่อว่าเราประสบความสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญในภารกิจ การได้มาซึ่งข้อมูลและประสบการณ์มากมาย สิ่งสำคัญคือการเพาะบ่มองค์ความรู้เหล่านี้และเรียนรู้กลับสู่ภารภิจ 2 หรือถัดไป" เขากล่าว
ฮาคามาดะ เผยต่อว่าปัจจุบันทางบริษัทกำลังมีความก้าวหน้าในความพยายามอีก 2 ครั้งในการลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์และความล้มเหลวในหนนี้ไม่อาจเปลี่ยนแปลงเรื่องดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการลงจอดกระแทกจะก่อความผิดหวังในช่วงท้ายภารกิจที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อน ครั้งที่ยานลงจอดถูกส่งขึ้นไปบนอากาศโดยจรวดฟัลคอน 9 ของสเปซเอ็กซ์ ขณะที่จรวดลำดัวกล่าวบรรทุกอุปกรณ์จากหลายประเทศ ในนั้นรวมถึงยานโรเวอร์สำรวจดวงจันทร์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ยานลงจอด Hakuto-R Mission 1 ความสูงเพียง 2 เมตร และน้ำหนัก 340 กิโลกรัม เข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์เมื่อเดือนที่แล้ว มันลดระดับและลงจอดโดยอัตโนมัติเต็มรูปแบบ และยานถูกคาดหวังว่ามันจะกลับมาติดต่อสื่อสารอย่างเร็วที่สุดหลังจากลงแตะพื้น ทว่ามันกลับไม่เป็นไปตามนั้น
จนถึงตอนนี้มีเพียงสหรัฐฯ รัสเซีย และจีนที่จัดการส่งยานอวกาศไปลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์ แต่ทั้งหมดเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล
ในเดือนเมษายน 2019 SpaceIL องค์การอวกาศของอิสราเอล เฝ้ามองยานลงจอดของพวกเขากระแทกกับพื้นผิวของดวงจันทร์ ส่วน อินเดียก็พยายามนำยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์เช่นกันในปี 2016 แต่ประสบความล้มเหลว
2 บริษัทของสหรัฐฯ Astrobotic และ Intuitive Machines มีกำหนดพยายามลงจอดบนดวงจันทร์หลังจากนี้ในปี 2023
ยาน Hakuto ซึ่งในญี่ปุ่นมีความหมายสื่อถึงกระต่ายสีขาวที่อาศัยอยู่บนดวงจันทร์ ถูกปล่อยออกจากแหลมคานาเวรัล รัฐฟลอริดา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม มันบรรทุกยานโรเวอร์สำรวจดวงจันทร์หลายลำ หุ่นยนต์ขนาดเท่าลูกเบสบอลที่ร่วมพัฒนาโดยสำนักงานอวกาศญี่ปุ่นและบริษัทผลิตของเล่น ทาการะ โทมี ผู้สร้างหุ่นยนต์ของเล่นทรานส์ฟอร์เมอร์
มันยังบรรทุกยานโรเวอร์ราชิด ขนาดเท่าเก้าอี้น้ำหนัก 10 กิโลกรัม ที่พัฒนาโดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และระบบทดลองถ่ายภาพหลายสีของ Canadensys Aerospace บริษัทเอกชนในแคนาดา
ด้วยมีพนักงานเพียง 200 คน บริษัทไอสเปซ บอกว่าเป้าหมายของพวกเขาคือขยายขอบเขตวิถีชีวิตของมนุษย์ไปสู่อวกาศ และสร้างโลกที่ยั่งยืน ด้วยการมอบบริการด้านการขนส่งไปยังดวงจันทร์ ในราคาถูกและบ่อยครั้ง
บริษัทแห่งนี้เชื่อว่าดวงจันทร์จะรองรับประชากร 1,000 คนภายในปี 2040 และจะมีผู้เดินทางมาเยือนมากกว่า 10,000 คนในแต่ละปี
พวกเขามีแผนภารกิจที่ 2 ซึ่งเบื้องต้นกำหนดไว้อย่างคร่าวๆ ในปีหน้า ในนั้นรวมถึงยานลงจอดบนดวงจันทร์ และพัฒนายานโรเวอร์ของตนเอง
(ที่มา : เอเอฟพี)