เอเจนซีส์ - ทหาร 2 ฝ่ายซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งในซูดานประกาศข้อตกลงหยุดยิง 72 ชั่วโมง โดยเริ่มตั้งแต่วันอังคาร (25 เม.ย.) ในขณะที่รัฐบาลต่างชาติทั้งยุโรป อาหรับ และเอเชียยังคงเร่งอพยพเจ้าหน้าที่ และพลเมืองของตนออกจากซูดาน
กองทัพซูดาน (SAF) แถลงว่า สหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบียรับหน้าที่ไกล่เกลี่ยให้ทหาร 2 ฝ่ายหยุดยิงกันชั่วคราว ขณะที่แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นผู้ออกมาประกาศข้อตกลงหยุดยิงเป็นคนแรก โดยเผยว่าใช้เวลาเจรจาอย่างหนักนานถึง 2 วันกว่าจะสำเร็จ
การสู้รบระหว่างกองทัพซูดาน และกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว (RSF) ซึ่งเป็นกองกำลังกึ่งทหารเริ่มปะทุขึ้นอย่างรุนแรงตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. และทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 427 คน ขณะที่โรงพยาบาลและสาธารณูปโภคต่างๆ ล้วนได้รับความเสียหาย เช่นเดียวกับชุมชนที่กลายสภาพเป็นเขตสงคราม
ประชาชนหลายหมื่นคนทั้งชาวซูดานและพลเมืองของประเทศใกล้เคียงได้พากันอพยพหนีไปอียิปต์ ชาด และซูดานใต้ ภายในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา แม้จะต้องเผชิญกับภาวะไร้เสถียรภาพและชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากก็ตาม และสำหรับผู้ที่ยังคงอาศัยอยู่ในซูดานก็ต้องเผชิญทั้งปัญหาขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค เชื้อเพลิง รวมถึงระบบสื่อสารและไฟฟ้าที่มีอยู่อย่างจำกัด ตามรายงานของ ฟาร์ฮาน ฮัก โฆษกยูเอ็น
รัฐบาลทั่วโลกต่างอพยพพลเมืองของตนเองออกไปยังสถานที่ปลอดภัย และมีอยู่หลายประเทศ เช่น แคนาดา ฝรั่งเศส โปแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกาที่ประกาศปิดสถานทูตประจำซูดานเป็นการชั่วคราว
ญี่ปุ่นยืนยันว่าได้ช่วยเหลือพลเมืองที่ต้องการอพยพออกจากซูดานทั้งหมดแล้ว ส่วนรัฐบาลปารีสเตรียมการอพยพประชาชน 491 คน ซึ่งแบ่งเป็นพลเมืองฝรั่งเศส 196 คน และพลเมืองจากอีก 36 ประเทศ โดยจะมีการส่งเรือรบฝรั่งเศสไปเมืองพอร์ทซูดานเพื่อรับผู้อพยพเพิ่มเติมด้วย
เยอรมนีได้ส่งเครื่องบินของกองทัพอากาศไปรับพลเมืองกว่า 400 คนออกจากซูดานตั้งแต่วันจันทร์ (24 เม.ย.) ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบียแถลงเมื่อวันจันทร์ ว่าได้ช่วยอพยพประชาชนทั้งหมด 365 คน โดยแบ่งเป็นชาวซาอุดี 101 คน และพลเมืองจากอีก 26 ประเทศ
ด้านอังกฤษเตรียมฉวยจังหวะที่คู่สงครามในซูดานตกลงหยุดยิง 72 ชั่วโมง อพยพพลเมืองออกจากประเทศดังกล่าว หลังถูกวิจารณ์หนักว่า พลาดโอกาสในการอพยพพลเมืองจำนวนมากนอกเหนือจากนักการทูตและครอบครัวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
กระทรวงต่างประเทศอังกฤษแถลงว่า เที่ยวบินของกองทัพที่จะเปิดรับผู้ถือหนังสือเดินทางอังกฤษจะออกจากสนามบินนอกคาร์ทูม เมืองหลวงของซูดาน โดยจะให้สิทธิแก่ครอบครัวที่มีเด็ก ผู้สูงวัย และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพก่อน
แถลงการณ์ยังกำชับให้พลเมืองงดเดินทางไปยังสนามบินเว้นแต่ได้รับการติดต่อเท่านั้น เนื่องจากสถานการณ์ยังผันผวน และปฏิบัติการอพยพอาจเปลี่ยนแปลงกะทันหัน
ทั้งนี้ คาดว่ากระทรวงต่างประเทศอังกฤษได้รับการติดต่อจากประชาชนกว่า 2,000 คน ซึ่งหลายคนในจำนวนนี้ถือ 2 สัญชาติ ที่ต้องการเดินทางออกจากซูดานนับจากความรุนแรงระเบิดขึ้นเมื่อ 10 วันที่แล้วจากการที่ทหารสองฝ่ายสู้รบชิงอำนาจกันเอง ได้แก่ ฝ่ายที่จงรักภักดีต่อผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อับเดล ฟัตเตาะห์ อัล-เบอร์ฮัน กับฝ่ายที่สนับสนุนกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว (อาร์เอสเอฟ) ที่นำโดยโมฮัมเหม็ด ฮัมดาน ดากาโล
เจมส์ เคลเวอร์ลีย์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ กล่าวว่า รัฐบาลอังกฤษกำลังประสานงานเพื่ออพยพพลเรือนออกจากซูดาน โดยได้เริ่มติดต่อกับพลเรือนโดยตรงและจัดเตรียมเส้นทางสำหรับการเดินทางออกนอกซูดาน
ผู้ถือหนังสือเดินทางอังกฤษและสมาชิกครอบครัวใกล้ชิดที่ผ่านการตรวจสอบและได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าอังกฤษแล้วเท่านั้นที่สามารถขึ้นเครื่องบินที่เตรียมไว้สำหรับการอพยพได้
กระทรวงต่างประเทศเสริมว่า กำลังพิจารณาเส้นทางอื่นๆ ในการเดินทางออกจากซูดาน โดยขณะนี้เรือ 2 ลำของกองทัพอังกฤษเตรียมพร้อมสำหรับการอพยพแล้ว พลเมืองอังกฤษยังได้รับคำเตือนว่า ต้องรับผิดชอบความเสี่ยงในการเดินทางภายในซูดานเอง
การประกาศอพยพทางอากาศล่วงหน้าสะท้อนถึงความจำเป็นที่กระทรวงต่างประเทศอังกฤษต้องสื่อสารเพื่อให้พลเมืองอังกฤษจำนวนมากรับรู้ว่า รัฐบาลกำลังดำเนินการอพยพ และต้องเดินทางไปสนามบินหลังจากได้รับแจ้งล่วงหน้าเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีการกดดันให้นักการทูตอังกฤษอยู่ประสานงานในภาคสนาม ซึ่งเป็นการยืนยันว่า กองทัพอังกฤษจะไม่เคลื่อนไหวในเมืองคาร์ทูม การประกาศหยุดยิงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจอพยพพลเมืองครั้งนี้
เซอร์นิโคลัส เคย์ อดีตเอกอัครราชทูตประจำซูดาน กล่าวว่า ความสำเร็จในการอพยพทางอากาศยังคงล่อแหลมเนื่องจากสถานการณ์ความมั่นคงเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และทหารสองฝ่ายไม่ไว้วางใจกัน การสู้รบจึงอาจปะทุขึ้นได้อีก
เคย์ยังให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า สภาพภูมิศาสตร์ของคาร์ทูม ซึ่งรวมถึงสะพานข้ามแม่น้ำไมล์ที่มีอยู่หลายแห่งและทุกแห่งอยู่ภายใต้การควบคุมของทหาร ทำให้การเดินทางในเมืองนี้ท้าทายอย่างมาก กระนั้น เขาบอกว่า การเดินทางไปสนามบินใช้เวลาไม่นานนัก หากสถานการณ์ความมั่นคงเอื้ออำนวย
เมื่อคืนวันจันทร์ (24 เม.ย.) แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงว่า ภายหลังการเจรจาเคร่งเครียดกว่า 48 ชั่วโมง ทหารสองฝ่ายในซูดานตกลงหยุดยิงทั่วประเทศตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่ 24 นาน 72 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม ความพยายามหยุดยิงก่อนหน้านี้ล้มเหลวและมีการสู้รบต่อเนื่อง 10 วัน ซึ่งหน่วยงานของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 427 คน และบาดเจ็บกว่า 3,700 คน
ก่อนที่บลิงเคนจะแถลงไม่กี่ชั่วโมง แอนโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการยูเอ็น เตือนว่า การสู้รบอาจขยายครอบคลุมทั่วภูมิภาคและลุกลามออกไป
ขณะเดียวกัน บรรดารัฐมนตรีอังกฤษถูกท้าทายหลายครั้งให้อธิบายว่า เหตุใดประเทศอื่นๆ จึงดำเนินการอพยพพลเมืองอย่างน้อยบางส่วน และอังกฤษพลาดโอกาสในการอพยพคนจำนวนมากเมื่อวันอาทิตย์ซึ่งการสู้รบในซูดานสงบลงช่วงสั้นๆ
โดยในวันดังกล่าวนั้นฝรั่งเศสอพยพพลเมือง 491 คนจาก 36 ประเทศ ซึ่งรวมถึงพลเมืองของสหภาพยุโรป (อียู) 12 คน ไปจิบูตี ส่วนเครื่องบินทหารของอิตาลี 2 ลำลงจอดในโรมเมื่อวันจันทร์ พร้อมพลเมืองอิตาลี 83 คน และอีก 13 คนจากชาติต่างๆ