ยูเครนประณามในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าความคิดเห็น "ไร้สาระ" จากเอกอัครราชทูตจีนประจำฝรั่งเศส ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับอธิปไตยของบรรดาชาติอดีตสหภาพโซเวียต และยังเท้าความบอกว่าไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ซึ่งอดีตประธานาธิบดี นิกิตา ครุสชอฟ มอบเป็นของขวัญแก่เคียฟเมื่อปี 1954 โดย ณ ขณะนั้นทั้งรัสเซีย และยูเครนต่างเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ก่อนการล่มสลายในปี 1991
ฝรั่งเศสและบรรดาประเทศแถบบอลติก เช่น เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย ต่างก็แสดงความขุ่นเคืองต่อความคิดเห็นดังกล่าวเช่นกัน
เมื่อถามถึงจุดยืนของเขาในเรื่องที่ว่าไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของยูเครนหรือไม่ หลิว ซาเหย่ เอกัครราชทูตจีนประจำฝรั่งเศส กล่าวในการให้สัมภาษณ์ที่ออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ฝรั่งเศสเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ระบุว่าในทางประวัติศาสตร์แล้ว แหลมไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และประธานาธิบดี นิกิตา ครุสชอฟ ผู้นำอดีตสหภาพโซเวียตมอบให้ยูเครน
"บรรดาประเทศอดีตสหภาพยุโรปเหล่านี้ไม่มีสถานะที่แท้จริงในกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะว่าไม่มีข้อตกลงระหว่างประเทศที่รับรองสถานะอธิปไตยของพวกเขาอย่างเป็นรูปธรรม" เขากล่าว
ความเห็นของเอกอัครราชทูตจีนรายนี้ไม่ได้แค่พาดพิงถึงยูเครน ซึ่งถูกรัสเซียรุกรานมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน แต่ยังรวมถึงอดีตสาธารณรัฐต่างๆ ในสหภาพโซเวียตทั้งหมด ซึ่งแยกตัวเป็นประเทศเอกราช ตามหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 โดยในนั้นหลายชาติ เวลานี้ได้กลายมาเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป
มิไคโล โพโดลยัค ที่ปรึกษาประธานาธิบดียูเครน แสดงความคิดเห็นตอบโต้ในวันอาทิตย์ (23 เม.ย.) โดยบอกว่าสถานะของบรรดาชาติอดีตสหภาพโซเวียตถูกบรรจุไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ "มันเป็นเรื่องแปลกที่เราได้ยินประวัติศาสตร์ไครเมียเวอร์ชันไร้สาระจากผู้แทนของประเทศหนึ่งซึ่งมีความกระดากใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ 1,000 ปีของตนเอง" เขากล่าวโดยพาดพิงถึงจีน
ส่วนฝรั่งเศสเน้นย้ำว่าพวกเขาเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างเต็มที่กับบรรดาประเทศพันธมิตรทั้งหลายที่ถูกพูดกระทบชิ่ง โดยบอกว่าชาติเหล่านั้นได้มาซึ่งเอกราช ตามหลังการถูกข่มเหงกดขี่นานหลายทศวรรษ
"ในเรื่องของยูเครนอย่างเฉพาะเจาะจง ภายในเขตแดนของพวกเขา ในนั้นรวมถึงไครเมีย ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากลในปี 1991 โดยประชาคมนานาชาติทั้งมวล ในนั้นรวมถึงจีน" โฆษกกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสกล่าวในปารีส พร้อมระบุว่า ปักกิ่งจำเป็นต้องชี้แจงอย่างชัดเจนเกี่ยบกับคำพูดดังกล่าวที่สะท้อนจุดยืนของพวกเขา
ด้าน 3 ชาติแถบบอลติก ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นอดีตสหภาพโซเวียต ต่างแสดงปฏิกิริยาตอบสนองในทิศทางเดียวกับฝรั่งเศส "ความเห็นของเอกอัครราชทูตจีนในฝรั่งเศส ในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศและอธิปไตยของประเทศต่างๆ เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง" รัฐมนตรีต่างประเทศลัตเวียเขียนบนทวิตเตอร์ "เราคาดหมายมีคำอธิบายมาจากฝ่ายจีน และขอให้ถอนคำแถลงนี้โดยสิ้นเชิง"
ส่วนรัฐมตรีต่างประเทศลิทัวเนีย กล่าวว่า "ถ้าใครยังคงสงสัยว่าทำไมประเทศต่างๆ ในแถบบอลติกไม่ไว้วางใจจีนในการเป็นคนกลางสันติภาพในยูเครน นี่ไงคือคำตอบ เอกอัครราชทูตจีนอ้างว่าไครเมียเป็นของรัสเซียและเขตแดนของประเทศของเราไม่มีพื้นฐานทางกฎหมาย"
มอสโกและปักกิ่งยกระดับความร่วมมือในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และวอชิงตันกล่าวหาจีนกำลังพิจารณาส่งมอบอาวุธให้แก่รัสเซีย อย่างไรก็ตาม จีนปฏิเสธคำกล่าวหาดังกล่าว และหาทางวาดภาพตนเองในฐานะฝ่ายเป็นกลางในความขัดแย้งยูเครน โดยพวกเขาได้แผนสันติภาพสำหรับทางออกทางการเมืองของวิกฤตนี้
(ที่มา : อัลจาซีราห์)