xs
xsm
sm
md
lg

รถอีวีราคาถูกมากของ BYD ทำหุ้น ‘เทสลา’ หล่นฮวบ ขณะซอฟต์แวร์ใหม่ของ ‘หัวเว่ย’ ก็ทำให้ ‘ซิสโก’ ลำบาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด พี. โกลด์แมน ***


“ซีกัลล์” รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ของ BYD ค่ายรถยนต์จีนซึ่งกำลังมาแรงในตลาดอินเตอร์ เปิดตัวด้วยราคาคันละ 11,700 ดอลลาร์ สร้างความประทับใจแก่ตลาดหลักทรัพย์แนสแดค และส่งผลทำให้ราคาหุ้นของคู่แข่งอย่าง เทสลา ร่วงลงอย่างแรง (ภาพจาก Move Electric)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China’s 4th Industrial Revolution rattles US tech stocks
By DAVID P. GOLDMAN

รถยนต์ไฟฟ้าราคาคันละ 11,400 ดอลลาร์ของ BYD และความก้าวหน้าของหัวเว่ย ในเรื่องซอฟต์แวร์การวางแผนจัดการทรัพยากรของวิสาหกิจ ส่งผลทำให้เทสลา และซิสโก เกิดการบาดเจ็บ

หุ้นบริษัทเทคสหรัฐฯ 2 ตัวซึ่งมีผลงานเลวร้ายที่สุดในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ ซิสโก (Cisco) และเทสลา (Tesla) มีอะไรบางอย่างที่เหมือนๆ กัน นั่นคือ ทั้งคู่เผชิญกับการแข่งขันอันหนักหนาสาหัสอย่างที่ไม่ได้คาดหมายเอาไว้ก่อนจากบริษัทจีน ตอนที่ตลาดนิวยอร์กเปิดทำการในวันศุกร์ (21 เม.ย.) หุ้นเทสลาสูญเสียมูลค่าไปมากกว่า 12% เมื่อคิดตลอดช่วงสัปดาห์ ขณะที่หุ้นซิสโกเสียหายไปกว่า 8.1%

บีวายดี (BYD) บริษัทจีนที่เป็นคู่แข่งขันของเทสลา ประกาศขายรถยนต์ไฟฟ้าราคาคันละ 11,400 ดอลลาร์ ถือเป็นท้าทายอย่างแรงต่อเทสลา ซึ่งเสนอขายรถยนต์ไฟฟ้าราคาต่ำที่สุดของตนที่คันละประมาณ 33,000 ดอลลาร์

ส่วน หัวเว่ย ก็ประกาศว่า ได้ปรับเปลี่ยนโยกย้ายมาใช้ระบบซอฟต์แวร์การวางแผนจัดการทรัพยากรของวิสาหกิจ (enterprise resource planning หรือ ERP software) ตัวที่พัฒนาขึ้นมาในจีนเองทั้งหมดแล้ว ภายหลังสหรัฐฯ ใช้มาตรการแซงก์ชันต่างๆ ในปี 2019 ซึ่งเป็นการตัดขาดไม่ให้บริษัทสามารถเข้าถึงบรรดาระบบของอเมริกันได้ หัวเว่ยนั้นแข่งขันกับซิสโก ในเรื่องเครือข่าย local area networks หรือ LAN’s แบบไร้สาย สวิตช์อีเธอร์เน็ต (Ethernet switches) เราเตอร์ (routers) ตลอดจนเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมอื่นๆ
(ดูเพิ่มเติมการเปรียบเทียบระหว่าง ซิสโก กับ หัวเว่ย ด้าน LAN’s ไร้สายได้ที่ https://www.peerspot.com/products/comparisons/cisco-wireless_vs_huawei-wireless ด้านสวิตช์อีเธอร์เน็ตได้ที่ https://www.peerspot.com/products/comparisons/cisco-ethernet-switches_vs_huawei-ethernet-switches และเราเตอร์ได้ที่ https://www.g2.com/compare/cisco-routers-vs-huawei-routers)



รถอีวี “ซีกัลล์” (Seagull) ราคาคันละ 78,000 หยวน (ราว 11,400 ดอลลาร์ ของ BYD ที่สามารถวิ่งได้ระยะทาง 300 ไมล์ (482.80 กิโลเมตร) ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง และทำอัตราเร่งจาก 0 ถึง 60 ไมล์ต่อชั่วโมง ได้ภายในเวลา 5 วินาที กลายเป็นตัวขโมยซีนขึ้นเป็นดาราดวงเด่น ณ งานแสดงรถยนต์เซี่ยงไฮ้ในสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ ตามรายงานของเว็บไซต์ต่างๆ ทางอุตสาหกรรมรถยนต์ ราคาเสนอขายขนาดนี้คือประมาณครึ่งเดียวของราคาฐานของรถยนต์ไฟฟ้าลีฟ ของค่ายนิสสัน (Nissan Leaf) และโบลต์ ของค่ายเชฟโรเลต (Chevy Bolt) ทำให้ Seagull กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกที่สุดในโลก –และมีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นรถฟอร์ด โมเดล ที (Ford Model T) แห่งศตวรรษที่ 21 BYD แถลงว่าตั้งเป้าหมายจะส่งออกรถยนต์ 300,000 คันในปี 2023 นี้ หรือเพิ่มขึ้นมา 6 เท่าตัวจากปี 2022
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับรถ Seagull ได้ที่ https://insideevs.com/news/663595/byd-seagull-ev-priced-11400-usd-gets-10000-orders-first-day/)

ประเทศจีนผลิตรถยนต์ได้ 27 ล้านคันในปี 2022 เปรียบเทียบกับสหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันที่ผลิตได้ 10 ล้านคัน ญี่ปุ่น 7.8 ล้านคัน อินเดีย 5.5 ล้านคัน และเกาหลีใต้กับเยอรมนี ซึ่งแต่ละรายผลิตได้ 3.7 ล้านคัน ด้วยรายรับเกือบๆ แตะหลัก 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นี่หมายความว่า เท่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้ภาครถยนต์คือภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก

พวกผู้ผลิตรถของประเทศจีนกำลังกลายเป็นห้องแล็บระดับชาติสำหรับสิ่งที่เรียกกันว่า พวกเทคโนโลยีแห่งยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution technologies) โดยที่ฐานะของจีนในการเป็นผู้นำหน้าไปไกลถึงระดับครอบงำตลาดในเรื่องแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ก็ทำให้มีข้อได้เปรียบเพิ่มเติมยิ่งขึ้นอีก ทั้งนี้ การนำเอาวิทยาการหุ่นยนต์มารวมเข้ากับปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) บวกด้วยเรื่องการควบคุมคุณภาพ และการซ่อมบำรุงแบบมุ่งป้องกันไว้ก่อน อาจกลายเป็นตัวทำให้โครงสร้างด้านราคาของการผลิตรถยนต์ถึงขั้นพังครืนลงมาได้ทีเดียว และจีนนำหน้าคนอื่นๆ ในโลกไปไกลมากในปริมณฑลนี้

ตามคำแถลงของโฆษกรายหนึ่งของหัวเว่ย เครือข่ายสื่อสาร 5จี แบบที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในงานพิเศษบางอย่างโดยเฉพาะ (dedicated 5G network) ได้รับการติดตั้งตามโรงงานต่างๆ ของจีนแล้วรวม 6,000 เครือข่าย พวกแอปพลิเคชัน AI ที่สามารถใช้กับ 5จี ทำให้มีความสามารถสูงลิ่วในการรับส่งข้อมูลข่าวสารและระยะเวลาโต้ตอบก็รวดเร็วยิ่ง กำลังถูกนำมาใช้ในขั้นตอนต่างๆ ในโรงงานผลิต –ตัวอย่างเช่น การรับส่งภาพจำนวนใหญ่มากๆ ไปที่คลาวด์ (Cloud) เพื่อทำให้เกิดกระบวนการแบบเรียลไทม์ในการปรับปรุงยกระดับการควบคุมคุณภาพ ยิ่งกว่านั้น ในตอนนี้ หัวเว่ย ยังกำลังแนะนำเครือข่ายสื่อสารรุ่นใหม่ยิ่งขึ้นที่เรียกกันว่า 5.5จี ซึ่งสามารถสนับสนุนการรับส่งข้อมูลข่าวสารตลอดทั่วทั้งหมดได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณหนึ่งในสาม สืบเนื่องจากพวกแอปลิเคชัน AI เวลานี้กำลังใช้ความสามารถของระบบ 5จี จนถึงขั้นตึงตัวแล้ว

รถอีวี “Seagull” ราคาไม่แพงของ BYD คือนิมิตหมายประการหนึ่งซึ่งบอกเหตุความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต รถยนต์สหรัฐฯ ใหม่ๆ มีราคาโดยเฉลี่ยตกคันละ 48,000 ดอลลาร์ ใกล้เคียงกันกับรายได้ส่วนที่จับจ่ายใช้สอยได้ (disposable income) รายปีโดยเฉลี่ยในสหรัฐฯ ขณะที่ป้ายราคา 11,400 ดอลลาร์สำหรับรถอีวีรุ่นใหม่ที่ BYD กำลังเสนอขายอยู่ในระดับต่ำกว่ารายได้ส่วนที่จับจ่ายใช้สอยได้โดยเฉลี่ยในจีนนิดหน่อย และมากกว่านิดหน่อยเมื่อเทียบกับรายได้ส่วนที่จับจ่ายใช้สอยได้ในบราซิลซึ่งอยู่ที่ระดับราวๆ 7,000 ดอลลาร์

การผลิตในโรงงานของอุตสาหกรรมยุค 4.0 สามารถที่จะทำให้ต้นทุนของยานยนต์ซึ่งเหมาะแก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรกต่ำลงไปอีกจนถึงจุดที่บรรดาครอบครัวโดยเฉลี่ยในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ (Global South) สามารถแบกรับไหว ในหนทางเดียวกับที่เทคนิคการผลิตแบบการตั้งโรงงานวางสายพานเพื่อการประกอบรถของเฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) ทำให้ครอบครัวชาวอเมริกันโดยเฉลี่ย สามารถซื้อหารถ Model T ได้เมื่อปี 1907

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยอดส่งออกของจีนกระโจนพรวดขึ้นไป 14% เมื่อวัดแบบปีต่อปี นำโดยการส่งออกไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งทะยานไกลถึง 35% โดยที่มีพวกสินค้าโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพติดอยู่ในอันดับสูงสุด ถ้าหากจีนประสบความสำเร็จในการพังทลายโครงสร้างต้นทุนของอุตสาหกรรมการผลิตแล้ว ตลาดส่งออกของแดนมังกรจะขยายตัวต่อไปอีก เช่นเดียวกับการดำเนินงานของภาคบริษัทจีนทั้งหลายในต่างแดน ตัวอย่างเช่น BYD กำลังพยายามเข้าเทกโอเวอร์โรงงานที่ ฟอร์ด ทิ้งร้างไปในรัฐบาเยีย (Bahia) ประเทศบราซิล

ด้วยความได้เปรียบที่สามารถใช้หลักการประหยัดอันเกิดจากขนาดได้อย่างกว้างขวางยิ่ง จีนอาจจะบรรลุความสำเร็จในการใช้ต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิผลเต็มที่ จนกระทั่งอุตสาหกรรมรถยนต์ของพวกตลาดพัฒนาแล้วทั้งหลายตกอยู่ในความเสี่ยงกันทีเดียว ขณะเดียวกัน จีนยังกำลังไล่กระชั้นสหรัฐฯ ในบางแวดวงที่อเมริกายังคงทำได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งรวมไปถึงซอฟต์แวร์สำหรับวิสาหกิจ

การที่ หัวเว่ย ประกาศความสำเร็จในการพัฒนาระบบ ERP ของตนเองโดยอาศัยแต่สิ่งที่มีอยู่ในบ้าน เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงของการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเทคโนโลยี หัวเว่ยนั้นต้องพึ่งพาอาศัยซอฟต์แวร์อเมริกันมาโดยตลอดจวบจนกระทั่งถึงปี 2019 มาถึงเวลานี้ หัวเว่ยมีระบบ “เมตาอีอาร์พี” (MetaERP) ซึ่งบริษัทสามารถนำมาขายอย่างชนิดแข่งขันกับคนอื่นๆ ได้ กลายเป็นการชิงส่วนแบ่งตลาดออกไปจากบริษัทออราเคิล (Oracle) ของอเมริกา และบริษัทเอสเอพี (SAP) ของเยอรมนี

ในวันที่ 20 เมษายน หัวเว่ยจัดพิธีมอบรางวัลให้แก่ทีมพัฒนา Meta ERP ขึ้นที่สำนักงานในเมืองตงกว่าน (Dongguan) มณฑลกวางตุ้ง ของตน โดยเรียกพวกเขาว่าเป็น “วีรชนผู้ต่อสู้เพื่อข้ามแม่น้ำต้าตู้” (Heroes Fighting to Cross the Dadu River) ทั้งนี้ ตามเอกสารเผยแพร่สื่อมวลชนของบริษัท นี่คือการอ้างอิงถึงศึกสะพานหลีว์ติ้ง ที่ทอดข้ามแม่น้ำต้าตู้ ในมณฑลเสฉวน เมื่อปี 1935 ซึ่งกองทหารของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีจำนวนน้อยกว่ามาก สามารถเอาชนะกองทัพของพรรคก๊กมิ่นตั๋งซึ่งไล่ติดตามมาได้สำเร็จ ในระหว่างการเดินทัพทางไกล (the Long March)

ทั้งนี้ การยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับสงครามกลางเมืองในจีนเช่นนี้เป็นสิ่งที่พบเห็นได้เยอะแยะในงานเขียนทางธุรกิจของประเทศจีนในปัจจุบัน

ตามความเห็นของ เฉิน เฟิง (Chen Feng) คอลัมนิสต์ของเว็บไซต์ข่าว “กวนฉา” (คำภาษาจีนแปลว่า ผู้สังเกตการณ์) อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีน ซึ่งตกเป็นเป้าหมายหลักในการควบคุมเทคโนโลยีของสหรัฐฯ จะมีฐานะครอบงำการผลิตผลิตภัณฑ์ส่วนที่เติบโตเต็มที่แล้ว (นั่นคือ เซมิคอนดักเตอร์ขนาด 14 นาโนเมตรขึ้นไป) และด้วยการแข่งขันจนสามารถผลักไสฝ่ายตะวันตกให้ออกไปจากภาคส่วนเติบโตเต็มที่แล้วของตลาด จีนจะวางตำแหน่งของตนเองให้ท้าทายฝ่ายตะวันตกในภาคส่วนระดับไฮเอนด์ของตลาดต่อไป
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.guancha.cn/ChenFeng3/2023_02_14_679722_s.shtml)

ทั้งนี้ เฉิน เฟิง เคยเขียนเอาไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ดังนี้ : “ชิประดับกลางจนถึงโลว์เอนด์ ยังคงสามารถทำกำไรได้ แต่จีนจะไม่พึงพอใจอยู่แต่กับภาคส่วนนี้ของตลาด ตรงกันข้าม จีนจะพึ่งพาอาศัยชิประดับกลางจนถึงโลว์เอนด์ เพื่อพากเพียรก้าวไปสู่พวกชิปไฮเอนด์ นี่คือการพัฒนาอย่างยั่งยืน อุตสาหกรรมเหล็กกล้าของจีน ซึ่งเวลานี้เอาชนะใครๆ ได้ทั่วโลก ก็สร้างขึ้นมาด้วยหนทางเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นยุคแห่งสงครามปฏิวัติ (ยุคสงครามกลางเมืองของจีน) หรือยุคแห่งเศรษฐกิจโลก การเข้าโอบล้อมตัวเมืองใหญ่ๆ จากดินแดนชนบทโดยรอบ คือประสบการณ์ที่ได้รับความสำเร็จมากที่สุดของจีน

ดูเหมือนว่าอำนาจจะไหลทะลักออกมาจากสถานีฐานบรอดแบนด์ ถ้าหากว่าไม่ได้มาจากปากกระบอกปืน


กำลังโหลดความคิดเห็น