รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - เอกอัครราชทูตจีนประจำฝรั่งเศสโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังเมื่อวันศุกร์ (21 เม.ย.) ตั้งคำถามถึงอธิปไตยของ 3 ชาติทะเลบอลติก “ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย” ยืนยันไม่มีสถานะระหว่างประเทศเพราะขาดข้อตกลงระหว่างประเทศรับรองอธิปไตย ด้านโจเซฟ บอร์เรลล์ ทูตใหญ่สหภาพยุโรป ออกโรงเขียนความเห็นแนะถึงเวลาที่ EU ต้องส่งเรือรบเข้าช่องแคบไต้หวันเพื่อยืนยันไทเปมีความหมายต่อยุโรป
รอยเตอร์รายงานวันนี้ (23 เม.ย.) ว่า ฝรั่งเศส รวมไปถึง 3 ชาติทะเลบอลติก “ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย” ต่างออกมาแสดงความไม่พอใจในคำถามจากเอกอัครราชทูตจีนประจำฝรั่งเศสต่อข้อสงสัยต่ออธิปไตยอดีต 3 ประเทศสหภาพโซเวียตที่ล่มสลาย
เรื่องเกิดเมื่อ หลู ซาเหยี่ย (Lu Shaye) เอกอัครราชทูตจีนที่ให้สัมภาษณ์และออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ฝรั่งเศสวันศุกร์ (21) ต้องตอบคำถามถึงจุดยืนของเขาที่ว่า ไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของยูเครนหรือไม่
ในคำตอบเขากล่าวตอบกลับมาว่า ตามประวัติศาสตร์มันเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียและตกเป็นของยูเครนโดยอดีตประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต นีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev)
และเอกอัครราชทูตจีนยังกล่าวต่อว่า “อดีตสหภาพโซเวียต 3 ชาติเหล่านี้ไม่มีสถานภาพตามกฎหมายระหว่างประเทศเพราะไม่มีข้อตกลงระหว่างประเทศรับรอบสถานภาพทางอธิปไตยของชาติเหล่านี้”
หนังสือพิมพ์ซิดนีย์มอร์นิวเฮอรัลด์รายงานว่า ทูตจีนตอบคำถามผ่านทางทีวีแดนน้ำหอม La Chaîne Info ชื่อดัง และความไม่พอใจลามไปทั่วยุโรปในทันที
ทั้งนี้ อดีตสหภาพโซเวียตได้รับรองการเป็นเอกราชของลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย ในปี 1991 และในปีเดียวกันนั้นทั้งหมดได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ 3 ชาติทะเลบอลติกเข้าเป็นสมาชิกองค์การนาโตและสหภาพยุโรป EU ในปี 2004
รัฐมนตรีต่างประเทศลิทัวเนีย กาเบรียเลียส แลนด์สเบอร์กิส (Gabrielius Landsbergis) ซึ่งประเทศของเขาให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างแข็งขัน และถูกปักกิ่งใช้มาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจ ได้กล่าวตอบโต้ต่อคำแถลงของเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงปารีสมีใจความว่า
“หากว่ายังคงมีใครสงสัยว่าเหตุใดเหล่าชาติทะเลบอลติกต่างไม่เชื่อ “จีน” ในการเป็น ‘โบรกเกอร์สันติภาพในยูเครน’ นี่อย่างไรเอกอัครราชทูตจีนยังคงโต้ว่า ไครเมียเป็นของรัสเซียและพรมแดนของประเทศพวกเราทั้งหลายไม่มีความชอบธรรมรับรอง”
รอยเตอร์รายงานว่า ฝรั่งเศสออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้ในวันอาทิตย์ (23) ด้วยการเริ่มต้นว่า “ปารีสมีความเป็นหนึ่งเดียวอย่างสมบูรณ์กับชาติพันธมิตรถูกพาดพิงที่ต่างได้รับเอกราชของตัวเองหลังจากถูกกดขี่มานานหลายสิบปี”
ขณะเดียวกัน โจเซฟ บอร์เรลล์ (Josep Borrell) หัวหน้านโยบายต่างประเทศประจำสหภาพยุโรป ได้เขียนบทความแสดงความเห็นผ่าน Journal Du Dimanche ชี้ว่า ถึงเวลาแล้วที่ EU จำเป็นต้องส่งเรือรบเข้าช่องแคบไต้หวันเพื่อสะท้อนถึงข้อผูกพันของยุโรปต่อไต้หวัน เกิดขึ้นหลังประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ว หลังออกมาแสดงความเห็นจากการเยือนกรุงปักกิ่งในเดือนเมษายนว่า ถึงเวลาแล้วที่ยุโรปต้องเลิกเดินตามก้นสหรัฐฯ และไต้หวันไม่ใช่ผลประโยชน์ของยุโรป
เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานวันนี้ (23) ว่า บอร์เรลกล่าวตอนหนึ่งในข้อเขียนของตัวเองว่า ไต้หวันตระหนักต่อพวกเราทางเศรษฐกิจ การค้า และเทคโนโลยี
“นั่นเป็นเหตุผลทำไมผมจึงเรียกร้องต่อกองทัพเรือชาติยุโรปทั้งหลายให้แล่นตรวจการในช่องแคบไต้หวัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงพันธะความผูกพันของยุโรปต่อเสรีภาพการเดินเรือในพื้นที่สำคัญเช่นนี้”
รอยเตอร์รายงานว่า ก่อนหน้าบนเวทีฟอรัมในเมืองเซียงไฮ้ของจีน รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ฉิน กัง (Qin Gang) ออกมายืนกรานว่า ทั้ง 2 ฝั่งของช่องแคบไต้หวันเป็นของจีนและปักกิ่งต้องยืนหยัดในการอ้างสิทธิอธิปไตยนี้ไว้
เดอะการ์เดียนรายงานว่า ทั้งนี้ ในวันอังคาร (18) โจเซฟ บอร์เรลล์ ได้กล่าวภายในรัฐสภายุโรปในการอภิปรายเรื่อง “จีน” เขาชี้ว่า ไต้หวันอย่างแน่ชัดถือเป็นส่วนหนึ่งพารามิเตอร์ทางยุทธภูมิศาสตร์ของพวกเราต่อหลักประกันทางเสรีภาพ
เขาย้ำว่า “ไม่ใช่เพียงแค่เหตุผลทางศีลธรรมที่การปฏิบัติต่อไต้หวันต่อถูกปฏิเสธ แต่ยังเป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรงต่อพวกเรา เพราะบทบาทเชิงยุทศาสตร์ของไต้หวันในการผลิตส่วนใหญ่ของเซมิคอนดักเตอร์เทคโนโลยีก้าวหน้า”