สหรัฐฯ และพันธมิตรไม่ได้จัดส่งพวกรถถัง เครื่องกระสุนสำหรับปืนใหญ่ ตลอดจนยุทธสัมภาระอื่นๆ ไปให้ยูเครนอย่างเพียงพอสำหรับการเปิดการรุกฤดูใบไม้ผลิเพื่อเล่นงานรัสเซีย ตามที่ได้มีการประเมินกันความต้องการใช้เอาไว้ หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานในวันศุกร์ (21 เม.ย.) โดยอ้างอิงเอกสารเพนตากอนที่ถูกปล่อยรั่วไหลออกมาเมื่อเร็วๆ นี้
รายงานของนิวยอร์กไทมส์กล่าวว่า พวกนักวางแผนทางทหารสหรัฐฯ ประมาณการว่า เคียฟต้องการจะใช้รถถัง 253 คันสำหรับการรุกที่กำลังจะเปิดฉากขึ้นมาคราวนี้ ทว่าจนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ยังคงรวบรวมได้เพียง 200 คัน โดยในจำนวนนี้เป็นรถถังเก่าที่ออกแบบกันในยุคโซเวียต 140 คัน และมีรถถังผลิตจากโรงงานของตะวันตกเพียง 60 คันเท่านั้นที่จะถูกจัดส่งไปให้ยูเครนได้ภายในเดือนเมษายนนี้
ฝ่ายตะวันตกกำลังดิ้นรนหนักเพื่อเติมเต็มคำมั่นสัญญาของพวกตนในเรื่องการจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้เคียฟ ไม่ว่าจะเป็นรถถัง ระบบป้องกันภัยทางอากาศ เครื่องบินขับไล่ และอาวุธอื่นๆ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้บอก พร้อมกับเผยว่ากองพลน้อยของยูเครน 3 กองพลน้อยซึ่งกำลังเตรียมตัวสำหรับการบุกฤดูใบไม้ผลิ ยังขาดแคลน “รถถังอย่างน้อย 10 กว่าคันสำหรับแต่ละกองพลน้อย” เมื่อประเมินสถานการณ์กัน ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์
มีรายงานว่า วอชิงตันได้ตกลงเร่งรัดการจัดส่งรถถังหลัก (main battle tank หรือ MBT) รุ่นเอ็ม 1 เอบรามส์ ของตนจำนวน 31 คันที่สัญญาไว้กับยูเครนแล้ว แต่คาดกันว่ากว่าจะพร้อมยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในปีนี้ สำหรับรถถังหลัก “ชาลเลนเจอร์ 2” ของสหราชอาณาจักร ราว 10 กว่าคันนั้น เวลานี้จัดส่งไปถึงยูเครนแล้ว แต่รถถังลีโอพาร์ด ซึ่งผลิตโดยเยอรมนี ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ระหว่างการปรับปรุงใหม่กันอยู่
รายงานของนิวยอร์กไทมส์บอกอีกว่า ลูกปืนใหญ่ขนาด 155 มม.ที่มีใช้ของยูเครน ได้ลดลงเหลือแค่ 9,800 นัด ณ วันที่ 1 มีนาคม แต่สหรัฐฯ ได้จัดส่งให้อีก 30,000 นัดในช่วง 12 วันถัดมา พร้อมกับชี้ว่าในเวลานี้ความต้องการเครื่องกระสุนด้านปืนใหญ่ของยูเครน “โดยสาระสำคัญแล้วคือไม่มีขีดจำกัด” ขณะที่อุตสาหกรรมอาวุธของอียูและของสหรัฐฯ จะ “ต้องใช้เวลาเป็นปีๆ กว่าจะไล่ตามทันความต้องการเช่นนี้ได้”
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์นี้ สหรัฐฯ เพิ่ง “เสนอ” แก่ยูเครนที่จะจัดส่งระเบิดนำวิถีขนาดเล็กที่สามารถยิงจากภาคพื้นดิน (Ground Launched Small Diameter Bombs หรือ GLSDB) ซึ่งมีพิสัยทำการไกลราวๆ 140 กิโลเมตร โดยรายงานนี้ชี้ว่า “ก่อนอื่นจะต้องมีการทำมันขึ้นมาก่อน และการผลิตมันแม้กระทั่งเป็นล็อตเล็กๆ ก็อาจต้องใช้เวลาเป็นแรมเดือน” อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง สื่อรัสเซียเคยรายงานโดยอ้างคำแถลงของกระทรวงกลาโหมแดนหมีขาวเมื่อปลายเดือนมีนาคมว่า มีการใช้ GLSDB ในยูเครนแล้ว และถูกระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซียสกัดไว้ได้
เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) นั้นไม่เคยยืนยันอย่างเป็นทางการว่า พวกแผ่นสไลด์สรุปสถานการณ์ที่ประทับตราเป็นเอกสารลับ ซึ่งปรากฏให้เห็นทางโซเชียลมีเดียตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายนนั้นเป็นของแท้หรือไม่ ณ การแถลงข่าวที่ทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 10 เมษายน จอห์น เคอร์บี้ โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ บอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า เอกสารเหล่านี้ “ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะนำเสนอต่อสาธารณชน” และ “ไม่ใช่ธุระอะไร” ที่จะไปปรากฏ “อยู่บนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หรือของทีวี”
อีกหลายวันถัดมา นิวยอร์กไทมส์ และ วอชิงตันโพสต์ได้จับมือกับ “เบลลิงแคต” (Bellingcat) ซึ่งเป็นองค์กรของกลุ่มนักหนังสือพิมพ์ทำข่าวสืบสวนสอบสวนแบบอิสระโดยได้เงินทุนอุดหนุนจากฝ่ายตะวันตก ในการสืบสาวแกะรอยผู้ที่เป็นแหล่งที่มาของการปล่อยเอกสารเหล่านี้ให้รั่วไหล โดยนิวยอร์กไทมส์ได้ระบุชื่อบุคคลผู้นี้ว่าคือ แจ็ก เทเซรา (Jack Teixeira) นายทหารอากาศชั้นผู้น้อยของกองกำลังรักษาดินแดน (Air National Guard) รัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งต่อมาได้ถูกทางการจับกุม และหลังจากที่ เทเซรา ถูกจับแล้ว ทั้งนิวยอร์กไทมส์ วอชิงตันโพสต์ และสื่อมวลชนอื่นๆ ก็เริ่มรายงานเนื้อหาของพวกเอกสารที่ถูกระบุว่าว่าหลุดรั่วไหลออกมาเหล่านี้
(ที่มา : อาร์ที, นิวยอร์กไทมส์)