xs
xsm
sm
md
lg

สยบรอยร้าว! ไบเดน-มาครงต่อสายคุยคลายตึงเครียด หลัง ปธน.ฝรั่งเศสแนะยุโรปอย่าเป็นบริวารสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ส่งสัญญาณพยายามคลี่คลายความตึงเครียดในวันพฤหัสบดี (20 เม.ย.) หลังผู้นำแดนน้ำหอมแสดงความเห็นเกี่ยวกับไต้หวันและความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างยุโรปกับวอชิงตันเมื่อเร็วๆ นี้

ทำเนียบขาวและวังเอลิเซ่ ระบุในถ้อยแถลงแยกกันหลังการพูดคุยหารือทางโทรศัพท์ ว่าผู้นำทั้ง 2 ประเทศหารือเกี่ยวกับการเดินทางเยือนปักกิ่งแบบรัฐพิธีของมาครงในสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน ดินแดนที่เขาใช้เวลาอยู่กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนนานหลายชั่วโมง

ในช่วงท้ายของการเยือน มาครง โหมกระพือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ด้วยการบอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า บรรดาประเทศยุโรปไม่ควรถูกลากเข้าสู่การต่อสู้ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในประเด็นประชาธิปไตยของไต้หวัน ที่ตะวันตกสนับสนุน

มาครง กล่าวว่ายุโรปควรหลีกเลี่ยง "วิกฤตต่างๆ ที่ไม่ใช่ของเรา" นอกจากนี้เขายังเน้นย้ำถึงความคิดเห็นก่อนหน้านี้ของตนเอง ที่เรียกร้องอียู มียุทธศาสตร์ที่เป็นอิสระจากสหรัฐฯ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปกป้องยุโรปมาตั้งแต่ช่วงกำราบนาซีเยอรมนี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ทำเนียบขาวเน้นย้ำถึงจุดยืนร่วมกันระหว่าง 2 ชาติ "พวกเขาหารือกันเกี่ยวกับการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของประธานาธิบดีมาครงเมื่อเร็วๆ นี้ และการเดินหน้าความพยายามยกระดับความรุ่งเรือง ความมั่นคง ค่านิยมร่วมกันและระเบียบโลกบนพื้นฐานของกติกาในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก" ถ้อยแถลงระบุ "พวกเขาเน้นย้ำความสำคัญที่ต้องธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพข้ามช่องแคบไต้หวัน"

ถ้อยแถลงระบุต่อว่า ไบเดน และ มาครง ยังได้พูดคุยเกี่ยวกับการรุกรานของรัสเซียที่มีต่อยูเครนชาติฝักใฝ่ตะวันตก และเน้นย้ำจุดยืนให้การสนับสนุนยูเครนอย่างไม่ลดละ ในยามที่ต้องเผชิญการรุกรานโหดร้ายป่าเถื่อนของรัสเซีย

ในปารีส ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศส ให้คำจำกัดความการพูดคุยทางโทรศัพท์กับไบเดน ว่าเป็นการบรรยายสรุปเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่ได้มาระหว่างการเดินทางเยือนจีน

ทั้งนี้ ถ้อยแถลงได้อ้างถึงความพยายามของ มาครง ที่ต้องการผลักดันให้จีนเล่นบทบาทสำคัญในการหล่อหลอมข้อตกลงสันติภาพเพื่อยุติสงครามในยูเครน โดยระบุว่า "จีนมีบทบาทให้เล่นในการสนับสนุนในระยะกลาง ในการยุติความขัดแย้ง ที่สอดคล้องกับหลักการและเป้าหมายของกฎบัตรสหประชาชาติ"

วอชิงตันดูมีความเคลือบแคลงใจบางส่วนต่อความคิดริเริ่มของมาครง เนื่องจากคอมมิวนิสต์จีนเป็นพันธมิตรที่เข้มแข็งกับรัสเซีย

ในด้านความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงข้ามแอตแลนติก ถ้อยแถลงของฝรั่งเศส เน้นย้ำความสำคัญที่ประเทศต่างๆ ในยุโรปต้องเดินหน้าเติมเต็มอาวุธแก่ตนเอง สำหรับแบกรับความรับผิดชอบในภาระร่วมกันในด้านความมั่นคงข้ามแอตแลนติก"

ถ้อยแถลงดังกล่าวสะท้อนภาษาของสหรัฐฯ ในประเด็นไต้หวัน โดยบอกว่า "ประธานาธิบดีทั้ง 2 คน มีความปรารถนาร่วมกันในการยกระดับความสัมพันธ์และเพื่อสนับสนุนกฎหมายระหว่างประเทศ ในนั้นรวมถึงเสรีภาพในการล่องเรือทั่วทั้งภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก"

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น