“ฟ็อกซ์” ทีวีฝ่ายขวาจัดในสหรัฐฯ ของเจ้าพ่อสื่อ “รูเพิร์ต เมอร์ด็อค” สร้างประวัติศาสตร์เป็นสื่อมวลชนอเมริกันที่ต้องจ่ายเงินในคดีถูกฟ้องหมิ่นประมาทแพงที่สุด เมื่อยินยอมควักเงิน 787.5 ล้านดอลลาร์ (ราว 27,113.6 ล้านบาท) เป็นค่าประนอมยอมความให้แก่ โดมิเนียน โวทติ้ง ซิสเต็มส์ บริษัทผลิตเครื่องนับคะแนน สืบเนื่องจากที่ได้กล่าวอ้างเผยแพร่ข้อหาอันเป็นเท็จว่า โดมิเนียนสมรู้ร่วมคิดโกงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2020 ที่โดนัลด์ ทรัมป์ พ่ายแพ้แก่โจ ไบเดน
การยอมความครั้งนี้ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระบุว่า เป็นข้อตกลงมูลค่าสูงที่สุดที่บริษัทสื่ออเมริกันเคยจ่ายมา ได้รับการประกาศโดยคู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่อหน้าผู้พิพากษา เอริก เดวิส เมื่อวันอังคาร (18 เม.ย.) ขณะที่การพิจารณาคดีกำลังจะเริ่มขึ้นอยู่รอมร่อ โดยที่กระบวนการคัดเลือกคณะลูกขุน 12 คนเสร็จสิ้นแล้ว และศาลสูงรัฐเดลาแวร์พร้อมให้เริ่มแถลงเปิดคดีที่ทางฝ่ายโดมิเนียนยื่นฟ้องไว้ตั้งแต่ปี 2021 โดยเรียกร้องค่าเสียหาย 1,600 ล้านดอลลาร์
จอห์น ปูลอส ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) โดมิเนียน กล่าวว่า นี่เป็นข้อตกลงยอมความครั้งประวัติศาสตร์ โดยฟ็อกซ์ คอร์ป และฟ็อกซ์ นิวส์ ยอมรับว่า เผยแพร่ข้อมูลเท็จที่ทำให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อโดมิเนียน พนักงาน และลูกค้าของบริษัท และสำทับว่า การรายงานข่าวที่เป็นข้อเท็จจริงในสื่อมีความสำคัญต่อประชาธิปไตยของอเมริกา
อย่างไรก็ดี สื่ออเมริกันรายงานว่า ข้อตกลงยอมความไม่ได้กำหนดให้ผู้ดำเนินรายการของฟ็อกซ์ขอโทษออกอากาศ หรือยอมรับว่าเผยแพร่ข้อมูลเท็จ
ประเด็นฟ้องร้องนี้อยู่ที่ว่า ฟ็อกซ์ต้องรับผิดชอบการเผยแพร่คำกล่าวอ้างเท็จที่ว่า เครื่องนับคะแนนเสียงเลือกตั้งของโดมิเนียนถูกใช้เพื่อยักย้ายถ่ายเทคะแนนที่ทำให้ ไบเดน ได้เปรียบทรัมป์ ประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันในขณะนั้นหรือไม่
การยอมความเมื่อวันอังคารทำให้ฟ็อกซ์ไม่ต้องส่งบุคคลที่เป็นที่รู้จักกว้างขวางอย่างรูเพิร์ต เมอร์ด็อค วัย 92 ปี ประธานกรรมการฟ็อกซ์ คอร์ป รวมทั้งพวกผู้ดำเนินรายการระดับดาราฝีปากกล้าชื่อดังๆ ของตนอย่าง ทักเกอร์ คาร์ลสัน ฌอน แฮนนิตี้ และจูนีน เพร์โร ขึ้นให้การในฐานะพยาน
นีล คาวูโต ผู้ประกาศของฟ็อกซ์ อ่านคำแถลงการยอมความออกอากาศว่า ฟ็อกซ์ยินดีที่สามารถบรรลุข้อตกลงในกรณีพิพาทกับโดมิเนียนได้ และฟ็อกซ์ยอมรับว่า คำวินิจฉัยของศาลเกี่ยวกับการกล่าวอ้างถึงโดมิเนียนเป็นข้อมูลเท็จ การตกลงยอมความนี้สะท้อนว่า ฟ็อกซ์ยังคงมุ่นในมาตรฐานสื่อสารมวลชนระดับสูงสุด
ทั้งนี้ ฟ็อกซ์ นิวส์เป็นเครือข่ายเคเบิลทีวีที่เน้นข่าวสารที่มีผู้รับชมมากที่สุดในอเมริกาในปัจจุบัน
ริชาร์ด โทเฟล ประธาแกลลาติน แอดไวเซอร์ ระบุว่า ข้อตกลงยอมความมูลค่า 787.5 ล้านดอลลาร์ครั้งนี้ถือเป็นจำนวนสูงสุดที่สื่ออเมริกันเคยจ่ายในคดีหมิ่นประมาท โดยข้อตกลงยอมความที่มีมูลค่าสูงสุดก่อนหน้านี้เกิดขึ้นในปี 2017 เมื่อวอลท์ ดิสนีย์ จ่ายเงิน 177 ล้านดอลลาร์เพิ่มเติมจากค่าใช้จ่ายส่วนที่เรียกคืนจากการทำประกันภัย เพื่อยอมความในคดีหมิ่นประมาท “เมือกชมพู” ที่บีฟ โปรดักต์สฟ้องร้องเครือข่ายเอบีซีซึ่งเป็นบริษัทในเครือของดิสนีย์
สำหรับคดีนี้โดมิเนียนฟ้องร้องฟ็อกซ์ คอร์ป และฟ็อกซ์ นิวส์ โดยระบุว่า ธุรกิจของบริษัทต้องพังพินาศจากข้อกล่าวอ้างผิดๆ เกี่ยวกับการโกงการเลือกตั้งที่ฟ็อกซ์ นิวส์ ที่รู้กันดีว่า มีนักวิจารณ์สายอนุรักษนิยมอยู่มากมาย
การฟ้องร้องนี้ต้องตรวจสอบว่า รายงานข่าวของฟ็อกซ์ล้ำเส้นจริยธรรมสื่อสารมวลชนและเป็นการกระทำเพื่อไล่ล่าเรตติ้งหรือไม่ ซึ่งฟ็อกซ์มักสร้างภาพตัวเองเป็นผู้ปกป้องเสรีภาพของสื่อปฏิเสธข้อกล่าวหานี้
คำถามสำคัญสำหรับคณะลูกขุนคือ ฟ็อกซ์จงใจเผยแพร่ข้อมูลเท็จและเพิกเฉยต่อความจริง และโดมิเนียนต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงเจตนาชั่วร้ายของฟ็อกซ์
ในการยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดมิเนียนอ้างอิงเอกสารการสื่อสารภายในที่เมอร์ด็อค และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ภายในฟ็อกซ์ยอมรับว่า การกล่าวอ้างเรื่องการโกงเลือกตั้งที่เกี่ยวข้องกับโดมิเนียนเป็นข้อมูลเท็จ
โดมิเนียนสำทับว่า ฟ็อกซ์เผยแพร่ข้อกล่าวอ้างเท็จนี้เพื่อหวังเพิ่มเรตติ้ง และป้องกันไม่ให้ผู้ชมย้ายไปติดตามรายการข่าวของคู่แข่ง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้รอดพ้นจากคดีนี้ไปแล้ว ฟ็อกซ์ก็ยังถูกฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทอีกคดีหนึ่งในรัฐนิวยอร์ก โดยคราวนี้โจทก์คือ สมาร์ทเมติก ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีด้านการเลือกตั้ง ที่เรียกค่าเสียหาย 2,700 ล้านดอลลาร์
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ฟ็อกซ์อ้างว่า คำกล่าวอ้างของทรัมป์ และทนายเกี่ยวกับการเลือกตั้งน่าสนใจเพียงพอที่จะนำมาเป็นประเด็นข่าว และได้รับการคุ้มครองภายใต้บทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ฉบับที่ 1
ทว่า ผู้พิพากษาเดวิสวินิจฉัยเมื่อเดือนที่แล้วว่า ฟ็อกซ์ไม่สามารถใช้เหตุผลนี้แก้ต่างในคดีได้
การฟ้องร้องของโดมิเนียนอ้างอิงเหตุการณ์ที่พันธมิตรของทรัมป์ ซึ่งรวมถึงอดีตทนายความของทรัมป์ คือ รูดอล์ฟ จูเลียนี และซิดนีย์ พาวเวลล์ ปรากฏตัวในฟ็อกซ์นิวส์และเผยแพร่ข้อกล่าวหาเท็จ
เอกสารคำฟ้องยังระบุว่า เมอร์ด็อควิจารณ์กับบุคลากรในฟ็อกซ์ว่า คำกล่าวอ้างเรื่องโกงเลือกตั้ง “บ้าบอ” และ “อันตราย” แต่ปฏิเสธที่จะใช้อำนาจบรรณาธิการในมือหยุดยั้งการเสนอข่าว และยังยอมรับภายใต้คำสาบานว่า ผู้ดำเนินรายการบางคนของฟ็อกซ์ “รับรอง” ข้อกล่าวอ้างที่ไม่มีมูลนั้น
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)