เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรป (อียู) ในวันอังคาร (18 เม.ย.) เรียกร้องใช้แนวทางปฏิบัติร่วมกันหนทางใหม่ที่มีต่อจีน ตามหลังประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส แสดงความคิดเห็นอันเป็นที่ถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นไต้หวันเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวซีเอ็นบีซีของอเมริกา ระบุว่า ยุทธศาสตร์ใหม่ดังกล่าวมีความเป็นไปได้ว่าอาจไม่เป็นที่พึงพอใจเท่าไหร่สำหรับอเมริกา
จนถึงตอนนี้รัฐบาลของไบเดน ใช้สุ้มเสียงวิพากษ์วิจารณ์ปักกิ่งอย่างรุนแรงและเดินหน้ามาตรการต่างๆ เพื่อสกัดอิทธิพลของจีน ในนั้นรวมถึงกำหนดข้อจำกัดด้านการส่งออกเทคโนโลยีบางอย่าง พร้อมกับกดดันให้บรรดาชาติยุโรปดำเนินการแบบเดียวกัน
ปัจจุบันเหล่าประเทศยุโรปมีมุมมองที่ต่างกันเกี่ยวกับแนวทางจัดการกับปักกิ่ง โดยบางชาติอยากมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ เนื่องจากบทบาทสำคัญของอเมริกาในด้านความมั่นคงและป้องกันตนเอง แต่มีหลายประเทศที่หวั่นเกรงต้องกลายเป็นศัตรูของจีนและผลักความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แนบแน่นตกอยู่ในความเสี่ยง ผลก็คือยุโรปจึงมีแนวทางที่แตกต่างกันในเรื่องเกี่ยวกับปักกิ่ง
เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวระหว่างปราศรัยในวันอังคาร (18 เม.ย.) "ดิฉันเชื่อว่าเราสามารถ และเราต้องตกแต่งแนวทางที่แตกกันของยุโรปของเราให้เข้ากัน และยังเหลือที่ว่างสำหรับความร่วมมือระหว่างเรากับพันธมิตรอื่นๆ เช่นกัน"
เธอเน้นย้ำว่าในความสัมพันธ์กับจีน "เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับเรา ที่ต้องไม่จำกัดวงยุทธศาสตร์และหลักการยุโรปของเราเอง"
จีน คือแหล่งนำเข้ารายใหญ่ที่สุดของอียูและเป็นผู้ซื้อสินค้าอียูรายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ในปี 2022 อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (Eurostat) ตอกย้ำถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจของปักกิ่งที่มีต่อยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่การเติบโตทางเศรษฐกิจในอียูอยู่ในภาวะอ่อนแอ ท่ามกลางวิกฤตสงครามในยูเครน
บรรดาผู้นำยุโรปยังพยายามหล่อหลอมความสัมพันธ์ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับจีน เพื่อที่ว่าฝ่ายหลังจะยับยั้งชั่งใจจากการให้การสนับสนุนรัสเซียทำสงครามกับยูเครน หลังจากก่อนหน้านี้ข่าวกรองของสหรัฐฯ บ่งชี้วาจีนกำลังพิจารณาส่งมอบอาวุธและกระสุนอื่นๆ ไปให้รัสเซีย
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ซึ่งบรรดาผู้นำยุโรปหลายคนพยายามหาทางพูดคุยกับจีน ในความพยายามผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปเป็นร่างในความพยายามลดมลพิษก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
"ประเด็นที่ดิฉันพูดถึงปักกิ่งก็คือ เราไม่ต้องการตัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวิทยาศาสตร์" ฟอน เดอร์ เลเยน กล่าวกับรัฐสภายุโรปในเมืองสตารส์บูร์ก ประเทศฝรั่งเศส "แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องสร้างสมดุลในความสัมพันธ์ของเราบนพื้นฐานของความโปร่งใส คาดการณ์ได้ และแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน" เธอเน้น พร้อมระบุ "แก่นกลางของยุทธศาสตร์จีนของเราในอนาคตจำเป็นต้องลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ"
ความเห็นนี้สวนทางโดยสิ้นเชิงกับมุมมองของอเมริกา ด้วยเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ตัดขาดจากจีนโดยสิ้นเชิง หรือที่เรียกว่า การแยกตัวของห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) คือหนทางที่ดีที่สุด สำหรับยุโรป มีความตั้งใจเพียงลดพึ่งพิงและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ มากกว่าที่จะหลุดพ้นจากจีนโดยสมบูรณ์
หลังเดินทางกลับจากเยือนจีนเมื่อช่วงต้นเดือน มาครง กล่าวว่าอียูจำเป็นต้องมีนโยบายของตนเองในเรื่องไต้หวัน และหลีกเลี่ยงเดินตามวาระของสหรัฐฯ ในประเด็นดังกล่าว ต่อมาเขากล่าวเสริมว่าการเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นบริวาร ความเคลื่อนไหวที่กระชับแนวคิดนโยบายยุโรปที่เป็นอิสระ
นอกเหนือจากสหรัฐฯ แล้ว ความคิดเห็นของเขายังได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากเยอรมนีและชาติอื่นๆ ในยุโรปเช่นกัน
(ที่มา : ซีเอ็นบีซี)