การลดกำลังผลิตกะทันหันของกลุ่มโอเปกและพันธมิตร (โอเปก+) ทำให้ราคาน้ำมันวิ่งฉิว และนักวิเคราะห์ลงความเห็นว่า ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสำคัญอย่างอินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้จะเจ็บหนักสุดถ้าราคาน้ำมันทะยานแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอย่างที่มีบางคนคาดไว้ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่า เมื่อราคาขึ้นถึงระดับดังกล่าวจะโน้มน้าวให้บรรดาประเทศผู้ผลิตตัดสินใจเดินเครื่องผลิตเพิ่มอีกครั้ง
ซีเอ็นบีซีรายงานว่า ต้นเดือนนี้ โอเปก+ ประกาศลดกำลังการผลิต 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน (บีพีดี) ชนิดที่ตลาดไม่คาดคิดมาก่อน
พาเวล โมลชานอฟ กรรมการผู้จัดการวาณิชธนกิจ เรย์มอน เจมส์ บอกว่า การดำเนินการของโอเปก+ เท่ากับเป็นการขูดภาษีจากทุกประเทศที่นำเข้าน้ำมัน
เขาเพิ่มเติมว่า ไม่ใช่อเมริกาที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดหากราคาน้ำมันทะยานแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่เป็นประเทศที่ไม่มีทรัพยากรน้ำมันในประเทศเลยอย่างเช่น ญี่ปุ่น อินเดีย เยอรมนี และฝรั่งเศส
การลดกำลังผลิตโดยสมัครใจของพวกประเทศสมาชิกในองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติผู้ผลิตอื่นๆ ที่เป็นพันธมิตรกันคราวนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมจนถึงสิ้นปีนี้ โดยทั้งซาอุดีอาระเบียและรัสเซียจะลดกำลังผลิต 500,000 บีพีดีจนถึงสิ้นปี ขณะที่โอเปก+ ชาติอื่นๆ เช่น คูเวต โอมาน อิรัก แอลจีเรีย และคาซัคสถาน จะร่วมลดกำลังผลิตด้วยในปริมาณลดหลั่นลงมา
ประเทศที่พึ่งพิงน้ำมันอย่างมาก
เฮนนิง โกลอีสไตน์ ผู้อำนวยการของกลุ่มคลังสมอง “ยูเรเซีย กรุ๊ป” ระบุว่า ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบแรงจากการลดการผลิตน้ำมันและการที่ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้น คือภูมิภาคที่พึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันอย่างมาก และเชื้อเพลิงฟอสซิลมีอัตราส่วนสูงในระบบพลังงานหลัก ซึ่งหมายความว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุดคือพวกอุตสาหกรรมในประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ที่พึ่งพิงการนำเข้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกาหลีใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนถึงอุตสาหกรรมหนักที่พึ่งพิงการนำเข้าสูงมากในญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
อินเดีย
อินเดียเป็นประเทศผู้บริโภคน้ำมันใหญ่สุดอันดับ 3 ของโลก และสั่งซื้อน้ำมันรัสเซียในราคาลดกระหน่ำนับจากที่มอสโกถูกตะวันตกแซงก์ชันเพื่อสั่งสอนที่รุกรานยูเครน
จากข้อมูลของทางการ เดือนกุมภาพันธ์อินเดียนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 8.5% จากเดือนเดียวกันปีที่แล้ว
โกลอีสไตน์แจงว่า แม้ยังได้กำไรจากน้ำมันลดราคาของรัสเซีย แต่อินเดียยังได้รับผลกระทบจากราคาถ่านหินและก๊าซที่แพงขึ้น ยิ่งถ้าราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น แม้ได้น้ำมันดิบลดราคาจากรัสเซียมาผ่อนเบาบ้าง แต่จะเริ่มส่งผลต่อการเติบโตของแดนภารตะอยู่ดี
ญี่ปุ่น
น้ำมันเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่สุดสำหรับญี่ปุ่นโดยคิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของซัปพลายพลังงานทั้งหมด
องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ระบุว่า การที่ไม่มีการผลิตอย่างเด่นชัดภายในประเทศ ญี่ปุ่นจึงต้องพึ่งน้ำมันนำเข้าอย่างมาก และ 70-80% มาจากตะวันออกกลาง
เกาหลีใต้
เกาหลีใต้เผชิญสถานการณ์เดียวกัน โดยน้ำมันคิดเป็นองค์ประกอบสำคัญของความต้องการพลังงาน ทั้งนี้ จากข้อมูลของบริษัทวิจัยอิสระ อิเนอร์ดาตา
โมลชานอฟชี้ว่า เกาหลีใต้และอิตาลีพึ่งพิงน้ำมันนำเข้ามากกว่า 75%
ขณะที่โกลอีสไตน์สำทับว่า จีนและยุโรปมีความเสี่ยงสูงมากเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เขาสำทับว่า ความเสี่ยงของจีนถือว่าน้อยมากเนื่องจากมีการผลิตน้ำมันภายในประเทศ ขณะที่ยุโรปโดยรวมพึ่งพิงพลังงานนิวเคลียร์ ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติมากกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล
ผลกระทบต่อตลาดเกิดใหม่
โมลชานอฟบอกว่า ตลาดเกิดใหม่บางแห่งที่ไม่มีเงินตราต่างประเทศรองรับการนำเข้าเชื้อเพลิงเหล่านี้จะได้รับผลกระทบแง่ลบหากราคาน้ำมันพุ่งแตะ 100 ดอลลาร์
เขาเสริมว่า อาร์เจนตินา ตุรกี แอฟริกาใต้ และปากีสถานเป็นประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากกรณีนี้
ศรีลังกาที่ไม่มีการผลิตน้ำมันภายในประเทศและพึ่งพิงการนำเข้า 100% มีความเสี่ยงสูงมากที่จะได้รับผลกระทบหนัก
อมฤตา เซ็น ผู้ก่อตั้งอิเนอร์จี้ แอสเป็กต์ ชี้ว่า ประเทศที่มีเงินตราต่างประเทศน้อยที่สุดและประเทศที่เป็นผู้นำเข้าจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดเนื่องจากราคาน้ำมันคิดเป็นดอลลาร์สหรัฐ เขายังบอกอีกว่า ต้นทุนการนำเข้าจะสูงขึ้นอีกถ้าดอลลาร์แข็งค่า
100$ ไม่ใช่ราคาถาวร
อย่างไรก็ตาม โมลชานอฟเชื่อว่า แม้ราคาน้ำมันที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอาจมาถึงในไม่ช้า แต่จะไม่ปักหลักอยู่นาน โดยในระยะยาว ราคาน้ำมันมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ที่ระดับปัจจุบันคือ 80-90 ดอลลาร์กว่าๆ
โกลอีสไตน์ทิ้งท้ายว่า เมื่อราคาน้ำมันดิบขึ้นถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลและทรงตัวอยู่ระยะหนึ่ง บรรดาผู้ผลิตจะมีแรงจูงใจให้กลับมาผลิตเพิ่มอีกครั้ง
(ที่มา : ซีเอ็นบีซี, เอเจนซีส์)