xs
xsm
sm
md
lg

ไม่สนอลหม่าน! ปธน.ฝรั่งเศสเมินผู้ประท้วง ย่องเงียบกลางดึกลงนาม กม.ปฏิรูปบำนาญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ลงนามแผนปฏิรูปบำนาญอันไม่เป็นที่นิยมของเขา เปลี่ยนเป็นกฎหมายในวันเสาร์ (15 เม.ย.) โหมกระพือคำกล่าวหาจากบรรดาสหภาพและพวกฝ่ายซ้าย ที่บอกว่าผู้นำรายนี้ดูหมิ่นขบวนการประท้วงที่ยืดเยื้อมานานกว่า 3 เดือน

ร่างแก้ไขถูกลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมาย หลังจากเนื้อหาของร่างถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะก่อนรุ่งสางในวารสารอย่างเป็นทางการของฝรั่งเศส ในขณะที่พรรคฝ่ายค้านกล่าวหาว่า มาครง เคลื่อนไหวลักลอบผ่านกฎหมายกลางดึก

การเผยแพร่ผ่านวารสารทางการของรัฐบาลฝรั่งเศส มีขึ้นหลังจากศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันศุกร์ (14 เม.ย.) อนุมัติความจำเป็นของกฎหมาย ในนั้นรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญของการปรับเพิ่มอายุเกษียณจาก 62 ปี เป็น 64 ปี

เหตุเผชิญหน้ากับสหภาพแรงงานและพวกฝ่ายซ้ายกลายเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ในวาระการดำรวตำแหน่งสมัย 2 ของมาครง โดยสหภาพแรงงานทั้งหลายนัดชุมนุมใหญ่ในวันแรงงานในวันที่ 1 พฤษภาคม ขณะที่การชุมนุมก่อนหน้านี้ในหลายๆ เมือง ในนั้นรวมถึงกรุงปารีส ในคืนหลังจากมีการแถลงคำวินิจฉัยของศาลได้เลี้ยวเข้าสู่ความรุนแรงบางส่วน

โอลิเวียร์ ฟอร์ ผู้นำโซเชียลลิสต์ กล่าวว่า การลงนามบังคับใช้กฎหมายของมาครง เป็นการแสดงให้เห็นถึงการดูหมิ่นขบวนการเคลื่อนไหวประท้วง ส่วน ฟรังซัวส์ รุฟฟิน ส.ส.ซ้ายจัด เรียกมันว่าเป็นการปล้นประชาธิปไตย ขณะที่ โซเฟีย ไบเนต์ ผู้นำสหภาพแรงงานซีจีที เรียกความเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า "น่าละอายโดยสิ้นเชิง"

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี เอลิซาเบธ บอร์น ประกาศในวันเสาร์ (15 เม.ย.) รัฐบาลจะเดินหน้าแผนปฏิรูปต่างๆ เพิ่มเติม "เราได้ข้อสรุปว่า ต้องเร่งอัตราการปฏิรูป" เธอบอกกับสภาแห่งชาติของพรรค Renaissance ของมาครง "เราต้องการสร้างฝรั่งเศสที่มีการจ้างงานเต็มกำลัง เพื่อรับประกันโอกาสแห่งความเท่าเทียม"

เมืองแรนส์ ทางภาคตะวันตกของประเทศ เป็นอีกครั้งที่เป็นฉากของการปะทะในช่วงบ่ายวันเสาร์ (15 เม.ย.) หลังจากตำรวจใช้แก๊สน้ำตายิงตอบโต้พวกผู้ประท้วงที่ปาข้าวของเข้าใส่ ธนาคารแห่งหนึ่งได้รับความเสียหาย และพวกผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในล็อบบี้ของโรงแรมหรูแห่งหนึ่ง ส่งผลให้มีตำรวจได้รับบาดเจ็บ 1 นาย และผู้ประท้วงโดนจับกุม 8 คน

การตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญอาจเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของมาครง แต่ขณะเดียวกัน พวกนักวิเคราะห์มองว่ามันได้ก่อความเสียหายส่วนตัวแก่ประธานาธิบดีวัย 45 ปีรายนี้เช่นกัน

คะแนนนิยมของประธานาธิบดีอยู่ใกล้แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และผู้มีสิทธิออกเสียงจำนวนมากต่างโกรธเคืองต่อการตัดสินใจของเขาที่เดินหน้าร่างกฎหมายปฏิรูปโดยไม่ผ่านการลงมติของรัฐสภา โดยใช้กฎหมายฉบับหนึ่งแต่เป็นกลไกอันเป็นที่ถกเถียง ที่ถูกประณามจากพรรคฝ่ายค้านว่าไม่เป็นประชาธิปไตย

ผลสำรวจความคิดเห็นส่วนใหญ่แสดงให้เห็นว่าชาวฝรั่งเศส 2 ใน 3 คัดค้านการทำงานเพิ่มเติม 2 ปี แต่ มาครง บอกว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีความจำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดดุลทางบำนาญรายปี ซึ่งคาดการณ์ว่าจะแตะระดับ 13,500 ล้านยูโร ในปี 2030

ฝรั่งเศส ค่อนข้างล้าหลังบรรดาประเทศเพื่อนบ้านในยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วได้ปรับเพิ่มอายุเกษียณเป็น 65 ปี หรือมากกว่านั้น

ไบเนต์ และหัวหน้าสหภาพแรงงานอื่นๆ นัดชุมนุมระลอกคลื่นประชาชนครั้งประวัติศาสตร์บนท้องถนนสายต่างๆ เพื่อต่อต้านแผนปฏิรูป ในวันที่ 1 พฤษภาคม ความเคลื่อนไหวที่มีขึ้นหลังจากบรรดาสหภาพแรงงานทั้งหลายปฏิเสธข้อเสนอของมาครง สำหรับเจรจาในวันอังคาร (18 เม.ย.) โดยบอกว่าพวกเขาจะเจรจาด้วยหลังจากผ่านวันที่ 1 พฤษภาคมไปแล้วเท่านั้น

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น