xs
xsm
sm
md
lg

‘หวัง อี้’ ชี้จีนคาดหวัง ‘เยอรมนี’ หนุนรวมชาติไต้หวันอย่างสันติ เหมือนที่ปักกิ่งเคยสนับสนุน ‘รวมประเทศเยอรมนี’ มาแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หวัง อี้ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการต่างประเทศส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ออกมาแสดงความ “คาดหวังและเชื่อมั่น” ว่าเยอรมนีจะสนับสนุนการรวบรวมชาติจีน-ไต้หวันอย่างสันติ พร้อมย้ำว่าในอดีตจีนเองก็เคยสนับสนุนการรวมประเทศเยอรมนีเป็นหนึ่งเดียวมาแล้ว

ถ้อยแถลงของ หวัง อี้ มีขึ้นภายหลังการประชุมหารือร่วมกับ อันนาเลนา แบร์บ็อค รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ซึ่งมีกำหนดการเยือนกรุงปักกิ่งจนถึงวันนี้ (15 เม.ย.)

“เพื่อธำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน เราจำเป็นต้องต่อต้านกิจกรรมทุกรูปแบบของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ต้องการให้ไต้หวันเป็นเอกราช” หวัง กล่าว พร้อมย้ำว่าการนำไต้หวัน “กลับสู่จีน” ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของระเบียบสากล (international order) ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

หวัง ยืนยันว่า ปักกิ่งยินดีจะแลกเปลี่ยนและสื่อสารกับเยอรมนีให้มากยิ่งขึ้นเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างกัน และเตรียมที่จะจัดการประชุมหารือรอบใหม่ระหว่างรัฐบาลจีนกับเยอรมนีด้วย

ก่อนหน้านั้น แบร์บ็อค ซึ่งเป็นรัฐมนตรีจากพรรคกรีนส์ ได้เอ่ยเตือนจีนว่า การใช้กำลังทหารเข้ายึดเกาะไต้หวันเป็นสิ่งที่ “รับไม่ได้” และอาจกระตุ้นให้ยุโรปต้องใช้มาตรการตอบโต้ที่รุนแรง

ปักกิ่งซึ่งถือว่าไต้หวันเป็น “มณฑล” หนึ่งของตนเองไม่เคยปฏิเสธทางเลือกใช้กำลังทหารเข้ายึดครองไต้หวันหากมีความจำเป็น ขณะที่ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ปฏิเสธการอ้างอธิปไตยของจีนอย่างแข็งขัน และย้ำว่าอนาคตของไต้หวันมีเพียงชาวไต้หวันเท่านั้นที่มีสิทธิตัดสินใจ 

ทั้งนี้ สหประชาชาติได้ให้การรับรองจีนเดียวคือสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งสหรัฐอเมริกาที่แม้จะให้การสนับสนุนไต้หวันแต่ในทางนิตินัยก็ยอมรับหลักการจีนเดียวเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศไต้หวันได้ออกมาแถลงชื่นชมข้อเรียกร้องเรื่องไต้หวันของ แบร์บ็อค

“กระทรวงการต่างประเทศขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ระดับสูงในฝ่ายบริหารของหลายๆ ประเทศ รวมถึงเยอรมนี ที่ได้แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับไต้หวัน” กระทรวงระบุวันนี้ (15)

รัฐบาลเยอรมนีภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ได้ปรับนโยบายจากยุคของ อังเกลา แมร์เคิล หันมาใช้ยุทธศาสตร์ลดการพึ่งพาจีน ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังคงเป็นตลาดใหญ่ของสินค้าส่งออกจากเมืองเบียร์

เบ็ตตินา สตาร์ก-วัตซิงเกอร์ รัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาเยอรมนี ก็เพิ่งจะเดินทางไปเยือนไต้หวันเมื่อเดือน มี.ค. ซึ่งทำให้ฝ่ายจีนถึงขั้นออกมาประณามว่าเป็นการกระทำที่ “ต่ำทราม” (vile)

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น