xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : จีนซ้อมรบใหญ่ ‘ปิดล้อม-โจมตีไต้หวัน’ ทุกทิศทาง ‘มาครง’ เร้ายุโรปอย่าเป็นลูกไล่ทั้ง ‘ปักกิ่ง-อเมริกา’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) ปิดฉากปฏิบัติการซ้อมรบใหญ่ 3 วันรอบเกาะไต้หวันเมื่อวันจันทร์ (10 เม.ย.) โดยระบุว่าเป็นการทดสอบสมรรถนะทางทหารแบบบูรณาการภายใต้เงื่อนไขการสู้รบที่เป็นจริง มีการฝึกการโจมตีแบบแม่นยำ และสกัดกั้นปิดล้อมเกาะแห่งนี้ทุกทิศทุกทาง ขณะเดียวกัน ก็แถลงเตือนว่าสันติภาพในช่องแคบไต้หวันกับการเรียกร้องเอกราชไต้หวันนั้น “เป็นสองสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นควบคู่กันได้”

การซ้อมครั้งนี้มีเจตนาเพื่อตอบโต้ที่ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน แห่งไต้หวันเดินทางไปพบกับ เควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่นครลอสแองเจลิสเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

จีนซึ่งอ้างอธิปไตยเหนือเกาะไต้หวันไม่ปฏิเสธทางเลือกใช้กำลังทหารเพื่อนำไต้หวันมาอยู่ภายใต้การปกครอง และที่ผ่านมา ได้เตือนสหรัฐฯ ไปแล้วหลายครั้งว่าไม่ควรอนุญาตให้ ไช่ พบปะกับ แมคคาร์ธี ซึ่งถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงเบอร์ 3 ของอเมริการองจากประธานาธิบดี โจ ไบเดน และรองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส

ภายหลังเสร็จสิ้นการฝึกเป็นเวลา 3 วัน กองบัญชาการยุทธบริเวณตะวันออกแห่งกองทัพ PLA ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมไต้หวัน ได้ประกาศว่าการซ้อมรบภายใต้รหัส “ดาบประสาน” (Operation Joint Sword) ครั้งนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี และ “เป็นการทดสอบอย่างครอบคลุมรอบด้านถึงสมรรถนะด้านต่างๆ ของกองทัพจีนภายใต้เงื่อนไขการสู้รบที่เป็นจริง”

คำแถลงยังระบุด้วยว่า กองทหารในยุทธบริเวณตะวันออก “อยู่ในสภาวะพร้อมรบ และสามารถสู้รบในเวลาไหนก็ได้ ด้วยความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวในการบดขยี้พวกกลุ่มแบ่งแยกดินแดนไต้หวันไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม รวมไปถึงการแทรกแซงของต่างชาติด้วย”

สถานีโทรทัศน์แห่งชาติจีนรายงานว่า การซ้อมรบครั้งนี้เป็นการจำลองปฏิบัติการโจมตีเป้าหมายต่างๆ ในไต้หวัน รวมถึงการโอบล้อมเกาะแห่งนี้เอาไว้ทั้งหมด โดยมีการส่งเครื่องบินหลายสิบลำเข้าฝึกปฏิบัติภารกิจ “ปิดล้อมทางอากาศ” ด้วย

จีนยังได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน “ซานตง” ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบิน 1 ใน 2 ลำของประเทศเข้าร่วมการฝึกครั้งนี้ และมีการโชว์ภาพเครื่องบินขับไล่กำลังทะยานขึ้นจากดาดฟ้าของเรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้อีกด้วย


ในวันจันทร์ (10) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการซ้อมรบ จีนได้มีการฝึกใช้กระสุนจริงในบริเวณนอกชายฝั่งมณฑลฝูเจี้ยน ห่างจากหมู่เกาะหมาจู่ 80 กิโลเมตร และ 190 กิโลเมตรจากไทเป ขณะที่หน่วยงานทางทะเลท้องถิ่นเผยว่า การซ้อมรบจัดขึ้นระหว่างเวลา 7.00-20.00 น. รอบเกาะผิงถาน (Pingtan) ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ใกล้ไต้หวันมากที่สุด

กระทรวงกลาโหมไต้หวันแถลงเมื่อวันจันทร์ (10) ว่า จีนได้ส่งเรือ 12 ลำ และเครื่องบินทหาร 91 ลำเข้ามาปฏิบัติการรอบๆ เกาะไต้หวัน ซึ่งทางสำนักข่าวกลางไต้หวัน (CNA) ระบุว่าเป็นจำนวนที่มากเป็นประวัติการณ์ ทว่าทางกระทรวงไม่ได้ยืนยันเรื่องนี้ และต่อมา กระทรวงยังได้เผยแพร่แผนที่ซึ่งเผยให้เห็นฝูงบินขับไล่ J-15 ของจีนซึ่งน่าจะปฏิบัติการจากเรือบรรทุกเครื่องบินซานตงซ้อมรบเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกทางด้านตะวันออกของไต้หวัน

หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุในงานแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ (10) ว่า สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันกับการเรียกร้องเอกราชไต้หวันนั้นเป็น “สองสิ่งที่ไม่อาจเกิดร่วมกันได้” (mutually exclusive) พร้อมทั้งกล่าวโทษไทเปรวมถึง “กลุ่มอำนาจต่างชาติ” ที่ให้การสนับสนุนพวกเขาว่าเป็นตัวการกระพือความขัดแย้ง

“หากเราต้องการปกป้องสันติภาพและเสถียรภาพภายในช่องแคบไต้หวัน เราก็จะต้องขัดขวางความแบ่งแยกดินแดนไต้หวันในทุกรูปแบบ” หวัง ระบุ


ด้านสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาร้องขอให้จีนอดทนอดกลั้นเรื่องไต้หวัน แต่เมื่อวันจันทร์ (10) กลับส่งเรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถี USS Milius เข้ามายังเขตน่านน้ำพิพาททะเลจีนใต้ โดยอ้างว่าเพื่อกระทำภารกิจ “สำแดงสิทธิและเสรีภาพในการเดินเรือ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากท้องทะเลอย่างถูกต้องตามกฎหมาย” ในขณะที่จีนออกมาตอบโต้ทันควันว่าเรือพิฆาตสหรัฐฯ รุกล้ำเข้าน่านน้ำอาณาเขตของจีนอย่างผิดกฎหมาย

การซ้อมรบของจีนในครั้งนี้ยังสร้างความกังวลต่อชาติอื่นๆ ในภูมิภาค โดยกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นแถลงเมื่อวันจันทร์ (10) ว่า เรือบรรทุกเครื่องบินซานตงได้ล่องเข้ามากระทำภารกิจฝึกซ้อมทางอากาศใกล้ๆ กับหมู่เกาะโอกินาวาในวันอาทิตย์ (9) โดยญี่ปุ่นพบว่าเรือซานตงกับเรือรบจีนอีก 3 ลำ พร้อมเรือสนับสนุนอยู่ห่างจากเกาะมิยาโกะของญี่ปุ่นในรัศมีเพียง 230 กิโลเมตร และตั้งแต่วันศุกร์ (7) เป็นต้นมา มีเครื่องบินขับไล่และเฮลิคอปเตอร์ขึ้นลงจอดยังเรือบรรทุกเครื่องบินซานตงไม่ต่ำกว่า 120 ครั้ง

ญี่ปุ่นมีความกังวลเกี่ยวกับกิจกรรมทางทหารของจีนมานานแล้ว เนื่องจากหมู่เกาะทางตอนใต้ของญี่ปุ่นอยู่ใกล้กับไต้หวันมาก อีกทั้งเกาะโอกินาวายังเป็นที่ตั้งฐานทัพอากาศขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับจีนด้วย

เมื่อคราวที่จีนเปิดซ้อมรบใหญ่รอบเกาะไต้หวันเพื่อตอบโต้การไปเยือนไทเปของ แนนซี เพโลซี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว ปรากฏว่ามีขีปนาวุธจีนลอยเข้าไปตกถึงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ของญี่ปุ่นด้วย


ท่ามกลางสถานการณ์ที่ร้อนระอุขึ้น ผู้นำฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นอีกชาติในภูมิภาคที่มีข้อพิพาททางทะเลกับจีนยืนยันว่า รัฐบาลของเขาจะไม่ยอมให้สหรัฐฯ ใช้ฐานทัพในฟิลิปปินส์ “เพื่อเปิดฉากโจมตี”

“เราจะไม่อนุญาตให้ฐานทัพของเราถูกใช้เพื่อปฏิบัติการโจมตีในรูปแบบใดๆ ทั้งสิ้น” ประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ แถลงเมื่อวันจันทร์ (10) เพียง 1 สัปดาห์หลังจากที่มะนิลาประกาศไฟเขียวให้สหรัฐฯ เข้าไปใช้ฐานทัพในฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นอีก 4 แห่ง

“สิ่งเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือฟิลิปปินส์ในยามที่เราต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น” มาร์กอส กล่าว

ด้านสหภาพยุโรป (อียู) ก็ได้ออกมาแสดงความวิตกกังวลต่อท่าทีข่มขู่ของจีน โดยแถลงเมื่อวันจันทร์ (10) ว่าจะต้องไม่มีการใช้กำลังเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานะของไต้หวัน อีกทั้งยังเตือนว่า “อุบัติเหตุหรือการใช้กำลังรูปแบบใดก็ตามต่อไต้หวัน จะส่งผลที่มีนัยสำคัญต่อทั่วโลก”

ในทางตรงกันข้าม รัสเซียซึ่งประกาศจับมือเป็นหุ้นส่วนแบบ “ไร้ขีดจำกัด” กับจีนเมื่อเดือน ก.พ.ปีที่แล้วได้ออกมาแสดงจุดยืนหนุนหลังปักกิ่งเต็มที่ โดยระบุเมื่อวันจันทร์ (10) ว่าจีนมีสิทธิทุกประการที่จะตอบโต้การ “กระทำยั่วยุ” และเปิดการซ้อมรบทางทหารรอบๆ เกาะไต้หวัน

“เราได้เห็นการกระทำมากมายที่มีเจตนายั่วยุต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน” ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน ระบุ “จีนมีสิทธิตามอธิปไตยที่จะตอบโต้การกระทำยั่วยุเหล่านี้ รวมถึงในแง่ของการสำแดงแสนยานุภาพทางทหาร โดยอิงกับกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด”

แม้จีนจะยุติการซ้อมรบไปตั้งแต่ช่วงค่ำวันจันทร์ (10) แต่กระทรวงกลาโหมไต้หวันแถลงในเช้าวันถัดมาว่า ยังคงพบเห็นเรือรบจีน 8 ลำป้วนเปี้ยนอยู่ในน่านน้ำรอบเกาะไต้หวัน

ด้านประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ได้โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงในวันจันทร์ (10) ว่า เธอในฐานะประธานาธิบดีมีหน้าที่เป็นตัวแทนไต้หวันในประชาคมโลก และการเดินทางไปเยือนชาติต่างๆ ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกาก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นสิ่งที่ชาวไต้หวันคาดหวังจากผู้นำของพวกเขาอยู่แล้ว แต่การที่จีนแสดงท่าทีเกรี้ยวกราดและใช้การซ้อมรบทางทหารมาบั่นทอนเสถียรภาพของไต้หวันและภูมิภาค “ไม่ใช่ทัศนคติที่สะท้อนความรับผิดชอบของประเทศใหญ่ในภูมิภาคนี้”

ไช่ ยืนยันว่า กองทัพและหน่วยยามฝั่งไต้หวันใช้มาตรการตอบสนองการซ้อมรบของจีนอย่าง “สงบและมืออาชีพ” และเธอขอขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้


‘มาครง’ จี้ยุโรปอย่าเป็นลูกไล่ทั้ง ‘จีน-สหรัฐฯ’

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเพิ่งกลับจากการเดินทางเยือนจีนเป็นเวลา 3 วัน ได้ระบุในบทสัมภาษณ์ที่เผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ (9) ว่า ยุโรปไม่ได้ผลประโยชน์อะไรในการเร่งวิกฤตไต้หวัน และควรที่จะเสาะหายุทธศาสตร์ที่เป็นอิสระจากทั้งสหรัฐฯ และจีน อีกทั้งยังควรลดพึ่งพิงดอลลาร์สหรัฐเพื่อไม่ให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอเมริกามากเกินไป

รัฐบาลจีนได้ให้การต้อนรับ มาครง แบบให้เกียรติสูงสุดในฐานะอาคันตุกะของประมุขแห่งรัฐซึ่งก็คือประธานาธิบดี สี จิ้นผิง โดยหลังจากพบกันที่กรุงปักกิ่งแล้ว สี ยังได้ตามไปต้อนรับ มาครง ถึงนครกว่างโจว เมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง รวมถึงเป็นเจ้าภาพเลี้ยงน้ำชาแบบจีนแก่ผู้นำฝรั่งเศสที่สวนในบ้านพักของผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้งที่เป็นบ้านเก่าของเขาเองด้วย

ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Les Echos ของฝรั่งเศส และเว็บไซต์ข่าวการเมืองสหรัฐฯ Politico มาครง ชี้ว่า ยุโรปไม่ควรเข้าไปมีส่วนกระพือความขัดแย้งระหว่างปักกิ่งกับไทเป แต่ควรใช้เวลาไปกับการสร้างสถานะของตนเองในฐานะที่เป็น “ขั้วอำนาจที่ 3” ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

"มันคงจะเป็นสิ่งเลวร้ายมากหากยุโรปต้องกลายเป็นเพียงผู้เดินตามในเรื่องนี้ และต้องคอยปรับตัวให้เข้ากับจังหวะของอเมริกา หรือให้เข้ากับปฏิกิริยาตอบโต้อันเลยเถิดของจีน" เว็บไซต์ Politico อ้างคำกล่าวของมาครง

“เราต้องมีความชัดเจนว่า ทัศนะของเราเหลื่อมล้ำกับสหรัฐฯ ที่ตรงไหนบ้าง มันอาจจะเป็นเรื่องยูเครน ความสัมพันธ์กับจีน หรือการคว่ำบาตร แต่เราต้องมียุทธศาสตร์ของยุโรปเอง”

มาครง ย้ำด้วยว่า ไต้หวันเป็นเพียงพื้นที่หนึ่งซึ่งเสี่ยงที่จะเป็นตัวเร่งความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และหากการเผชิญหน้าระหว่าง 2 ฝ่ายนี้ขยายตัวรวดเร็วเกินไป ยุโรป “ก็จะไม่มีเวลาหรือทรัพยากรสำหรับการสนับสนุนทางการเงินแก่ความเป็นอิสระทางยุทธศาสตร์ของเรา และจะต้องกลายเป็นรัฐบริวารไป ขณะที่เราสามารถสร้างขั้วที่ 3 ขึ้นมาได้ ถ้าเรามีเวลาสัก 2-3 ปี”


ผู้นำฝรั่งเศสยังแนะให้ยุโรปเพิ่มการสนับสนุนด้านเงินทุนแก่อุตสาหกรรมกลาโหม การพัฒนานิวเคลียร์และพลังงานทดแทน รวมถึงลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐลงด้วย

อย่างไรก็ตาม บทสัมภาษณ์ของผู้นำฝรั่งเศสคราวนี้กลับเรียกเสียงตำหนิติเตียนจากนักการเมืองทั้งในเยอรมนี และสหรัฐฯ หนึ่งในนั้นคือ นอร์เบิร์ต เริทเกิน ส.ส.เยอรมนีซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนี โดยเขาทวีตข้อความว่า "มาครง ได้เปลี่ยนการเดินทางเยือนจีนของเขาให้กลายเป็นการก่อรัฐประหารด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อ สี จิ้นผิง และเป็นหายนะด้านนโยบายต่างประเทศสำหรับยุโรป"

ด้าน มาร์โก รูบิโอ ส.ว.อเมริกันจากพรรครีพับลิกัน ได้ทวีตเปรียบเทียบประเด็นไต้หวันกับสงครามยูเครน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า มาครง นั้นหวังที่จะให้ สี เข้ามาช่วยกล่อม ปูติน โดยเขาบอกว่า "หากยุโรปไม่เลือกข้างระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในประเด็นไต้หวัน บางทีเราอาจไม่ควรเลือกข้าง (ในประเด็นยูเครน) เช่นกัน"

ปาสคาล กงฟาเวรอ โฆษกสถานทูตฝรั่งเศสประจำสหรัฐฯ ทวีตข้อความว่าบทสัมภาษณ์ของประธานาธิบดี มาครง กำลังถูกตีความ “เลยเถิดเกินไป” และถึงอย่างไรเสียสหรัฐฯ ก็ยังเป็นพันธมิตรที่ฝรั่งเศสแชร์ค่านิยมร่วมกัน ในขณะที่ทำเนียบเอลิเซ่ยังไม่ออกมาให้ความเห็นในประเด็นนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น