xs
xsm
sm
md
lg

ไบเดนว่าไง โดนอีกดอกเต็มๆ!! เพนตากอนยอมรับ‘เอกสารรั่ว’ล่าสุดเสี่ยงต่อความมั่นคงชาติ ด้านทำเนียบขาวหวั่นข้อมูลลับอาจถูกปล่อยเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อาคารกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ในกรุงวอชิงตัน ถ่ายจากทางอากาศ  เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2022
โฆษกของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ยอมรับ เอกสารลับระดับสูงเกี่ยวกับสงครามยูเครน ที่เกิดรั่วไหลและถูกเผยแพร่ออนไลน์ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ถือเป็นความเสี่ยงร้ายแรงต่อความมั่นคงของอเมริกา และเวลานี้เจ้าหน้าที่อาวุโสกำลังเร่งดำเนินการเพื่อลดความเสียหาย ขณะที่ทำเนียบขาวยังกังวลว่า อาจมีการปล่อยเอกสารลับออกมาเพิ่ม

คริส มีเกอร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯฝ่ายประชาสัมพันธ์ เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (10) ว่า ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหม รับรู้ครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสฯ (6) ว่ามีสไลด์บรรยายสรุปที่เป็นข้อมูลลับเกี่ยวกับความพยายามทางทหารของอเมริกาในสงครามยูเครน ตลอดจนข่าวกรองเกี่ยวกับประเทศอื่นๆ จำนวนหนึ่งรั่วไหล

นับจากนั้นออสตินได้ติดต่อพันธมิตร จัดประชุมรายวันเพื่อประเมินความเสียหาย และตั้งกลุ่มที่ไม่ได้แค่ประเมินขอบเขตข้อมูลที่สูญหายเท่านั้น แต่ยังตรวจสอบว่า มีใครเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นบ้าง และขณะนี้กระทรวงกลาโหมกำลังตรวจสอบอย่างใกล้ชิดว่า ข้อมูลประเภทนี้ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างไรและส่งถึงใคร

เจ้าหน้าที่กลาโหมคนหนึ่งเผยว่า เพนตากอนกำลังดำเนินการเพื่อลดจำนวนผู้ที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลการบรรยายสรุปเหล่านั้น และเสริมว่า เพนตากอนทบทวนรายชื่อผู้เข้าถึงเป็นประจำเพื่อพิจารณาว่า ใครบ้างที่จำเป็นต้องรู้และเข้าถึงข้อมูลลับ

ทางด้านทำเนียบขาว จอห์น เคอร์บี้ โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ว่า อเมริกาเตรียมพร้อมรับมือกรณีที่อาจมีการเผยแพร่เอกสารลับทางออนไลน์อีกหรือไม่ โดยบอกว่า เขาไม่สามารถตอบได้ แต่ยอมรับว่า รัฐบาลกังวลกับเหตุการณ์นี้ และขณะนี้ยังไม่รู้ตัวผู้อยู่เบื้องหลังและแรงจูงใจ

เขายังบอกอีกว่า ขณะตรวจสอบเอกสารที่โพสต์ออนไลน์ เจ้าหน้าที่ยังคงพยายามพิจารณาว่า เอกสารเหล่านั้นเป็นของจริงหรือไม่ และพบว่า อย่างน้อยมีเอกสารบางส่วนถูกปลอมแปลง เช่น จำนวนทหารรัสเซียที่เสียชีวิตในสงครามยูเครนซึ่งต่ำกว่าที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เปิดเผยมาก

สำหรับ เวแดนต์ พาเทล โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กำลังติดต่อกับพันธมิตรและหุ้นส่วนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งรวมถึงการให้ความมั่นใจว่า อเมริกายังคงมุ่งมั่นปกป้องข้อมูลข่าวกรองและการร่วมมือระหว่างกัน

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งรวมถึงขอบเขตของข้อมูลที่รั่วไหล เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และอเมริกาได้พูดคุยกับผู้นำประเทศใดบ้าง พาเทลเพียงสำทับว่า การรั่วไหลของข้อมูลถือเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงแห่งชาติ

เจ้าหน้าที่สอบสวนที่เชี่ยวชาญการติดตามโซเชียลมีเดีย ซึ่งรวมถึงองค์กรสื่อสารมวลชน “เบลลิงแคต” ระบุว่า เอกสารเหล่านั้นอาจหมุนเวียนในห้องแชตเอกชนของแพลตฟอร์ม “ดิสคอร์ด” มานานหลายเดือน

มีเกอร์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กระทรวงยุติธรรมได้เริ่มสอบสวนคดีอาญาเกี่ยวกับการรั่วไหลของข้อมูลนี้แล้ว

ทั้งนี้ สไลด์บรรยายสรุปที่เป็นข้อมูลลับซึ่งที่สุดแล้วถูกนำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์กระแสหลักอย่างทวิตเตอร์และเทเลแกรม ให้รายละเอียดกำหนดการฝึกและอุปกรณ์ที่อเมริกาจะมอบให้ยูเครน การประเมินความสูญเสีย เป้าหมายการติดตามของอเมริกาเกี่ยวกับพันธมิตรและหุ้นส่วนสำคัญ และวิธีการที่รัสเซียอาจเคลื่อนไหวเพื่อบ่อนทำลายความสัมพันธ์เหล่านั้น

ในส่วนของยูเครนนั้น มิกไคโล โปโดลยัค ผู้ช่วยประธานาธิบดียูเครน กล่าวว่า แผนการยุทธศาสตร์ในการตอบโต้ของเคียฟยังคงเดิม แต่ยุทธวิธีเฉพาะเจาะจงบางอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน แม้เพนตากอนระมัดระวังที่จะไม่ยืนยันความถูกต้องของข้อมูลในเอกสารลับ แต่มีเกอร์บอกว่า โดยรวมแล้วการรั่วไหลของเอกสารเหล่านี้เป็นความเสี่ยงร้ายแรงต่อความมั่นคงของอเมริกาและมีแนวโน้มนำไปสู่การปล่อยข้อมูลเท็จ

เอกสารเหล่านี้ถูกระบุว่าเป็นข้อมูลระดับลับและระดับลับสุดยอด และในบางกรณีดูเหมือนเป็นข้อมูลอัพเดตที่คณะเสนาธิการร่วมของกองทัพสหรัฐฯ จัดทำขึ้นทุกวันแต่ไม่ได้เผยแพร่ต่อสาธารณชน

เห็นกันว่าการรั่วไหลของข้อมูลครั้งนี้อาจสร้างความเสียหายต่อรัฐบาลสหรัฐฯ มากที่สุดนับจากที่วิกิลีกส์ปล่อยเอกสารหลายพันฉบับในปี 2013

แดเนียล ฮอฟฟ์แมน อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของสำนักข่าวกรองกลางของอเมริกา (ซีไอเอ) ชี้ว่า ถ้าดูจากกิจกรรมในอดีตของหน่วยข่าวกรองรัสเซีย มีแนวโน้มสูงมากว่า สายลับรัสเซียเป็นผู้โพสต์เอกสารลับที่เกี่ยวข้องกับยูเครนอันเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการบิดเบือนข้อมูลของมอสโก เพื่อเสี้ยมให้อเมริกาและยูเครนแตกกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงแห่งชาติบางคนและเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ สงสัยว่า ผู้ปล่อยข้อมูลอาจเป็นคนอเมริกันเมื่อดูจากขอบเขตของประเด็นต่างๆ ในเอกสาร แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ว่า อาจเป็นฝีมือรัสเซีย

(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น