เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - หนังสือพิมพ์ซิดนีย์มอร์นิงเฮอรัลด์แสดงความเห็นเรื่อง “ประธานาธิบดีฝรั่งเศส” และ “ไต้หวัน” ผ่านบทบรรณาธิการประจำวันจันทร์ (10 เม.ย.) ที่เตือนให้ยุโรปอยู่ห่างจากสหรัฐฯ ในความขัดแย้งไต้หวันที่มีต่อจีน ชี้ส่งผลทำให้โลกตะวันตกเกิดการแตกแยก แสดงความอ่อนหัดซ้ำบนเวทีโลกโดยเฉพาะวิจารณ์ภายใต้เงื่อนเวลาที่ไม่เหมาะสม เข้าปักกิ่งต้องการโปรโมตธุรกิจแดนน้ำหอมตัวเอง หลังอกหักจากข้อตกลงเรือดำน้ำกับออสเตรเลียที่หันไปใช้บริการ AUKUS ทำปารีสต้องขายหน้า
หนังสือพิมพ์ซิดนีย์มอร์นิงเฮอรัลด์รายงานวันนี้ (10 เม.ย.) ว่า ผู้นำฝรั่งเศสทำตัวอ่อนหัดเหมือนเป็นเพรสิเดนต์แฟนบอยเมื่ออยู่ท่ามกลางผู้นำระดับโลก ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง เคยทำพลาดมาแล้วเมื่อครั้งรับประกันหนักแน่นว่า รัสเซียจะไม่มีการยกระดับความรุนแรงหลังเขาพบผู้นำรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน 2 สัปดาห์ก่อนยูเครนโดนบุก
มาครงในครั้งนั้นออกมาแสดงความเห็นประหลาดเข้าข้างรัสเซีย ด้วยการพูดถึง “ความผิดพลาดในอดีต” ถึงขั้นชี้ว่าเป็นความผิดพลาดที่ชาติตะวันตกต้องรับผิดชอบบางส่วนจากการที่เกิดความบาดหมางขึ้นระหว่างอดีตชาติภายใต้ร่มเงาอดีตสหภาพโซเวียตที่ครั้งหนึ่งเคยคุกคามทั้งสหรัฐฯ และทวีปยุโรปรวมฝรั่งเศส
และซ้ำอีกครั้งผู้นำแฟนบอยแห่งแดนน้ำหอมสัปดาห์ที่ผ่านมาเดินทางเข้ากรุงปักกิ่ง ที่แต่เดิมมีเป้าหมายเพื่อล็อบบี้จีนในวิกฤตความขัดแย้งยูเครน และเมื่อเดินทางกลับออกมา มาครง ซึ่งเป็นผู้นำที่โด่งดังในยุโรปออกมาตั้งประเด็นว่า ยุโรปหรือสหภาพยุโรปสมควรลดการพึ่งพาต่อสหรัฐฯ และหลีกเลี่ยงเข้าไปข้องเกี่ยวในความขัดแย้งประเด็นไต้หวันที่มีคู่ขัดแย้งโดยตรงคือ “วอชิงตัน” และ “ปักกิ่ง”
มาครงกล่าวว่า “คำถามที่เกิดขึ้นต่อพวกเราชาวยุโรปคือ : นี่เป็นผลประโยชน์ของพวกเราอยู่ที่นั่นเพื่อเป็นการเร่งต่อประเด็นไต้หวันหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่” สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือพวกเราชาวยุโรปที่ทำได้คือต้องเป็นผู้ต้องทำตามในประเด็นนี้และต้องปรับตัวต่อจังหวะของสหรัฐฯ และปฏิกิริยาจากจีน (คำถามก็คือ) เหตุใดพวกจำเป็นต้องทำตามในจังหวะที่คนอื่นเลือกให้?”
เขาย้ำว่า “การยกระดับในประเด็นไต้หวันไม่ใช่ผลประโยชน์ของยุโรป” และเสริมต่อว่า “เป็นความสำคัญสำหรับบรัสเซลส์ที่ต้องเข้าใจเหตุผลของปักกิ่งในเรื่องเกี่ยวกับไต้หวัน” เขากล่าวต่อว่า “ในฐานะชาวยุโรปพวกเราตระหนักในความเป็นหนึ่งเดียว” และเสริมต่อว่า “จีนก็เช่นกันตระหนักถึงความเป็นหนึ่งเดียวของพวกเขา และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่ง (ของความเป็นหนึ่วเดียวนี้) จากมุมมองของพวกเขา” อ้างอิงจาก DW สื่อเยอรมนี
ซิดนีย์มอร์นิงเฮอรัลด์แสดงความเห็นว่า บางทีมาครงอาจต้องการเพื่อผลักดันให้ฝรั่งเศสและยุโรป มี 'ความเป็นอิสระเชิงยุทธศาสตร์' (Strategic Autonomy) เพื่อลดการที่ต้องพึ่งสหรัฐฯ เพื่อให้ "ยุโรปกลายเป็นขั้วที่ 3 ของโลก" ซึ่งผู้นำฝรั่งเศสผลักดันมาโดยตลอดและกลายเป็นอาวุธของปักกิ่งที่ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง กระซิบข้างหูมาครงระหว่างการหารือชี้ให้เห็นถึงการที่ยุโรปาสามารถแยกตัวเป็นเอกเทศจากวอชิงตัน
อย่างไรก็ตาม ความเห็นประเด็นไต้หวันจากปากมาครงที่สื่อออสซี่ชี้ว่า ทั้งน่าอึดอัด เกิดขึ้นในเวลาที่ไม่เหมาะสม และไร้เดียงสาได้สร้างความไม่เห็นด้วยและโกรธเคืองไปทั่วทั้งยุโรปและข้ามไปจนถึงสหรัฐฯ ที่ไม่แค่จะเป็นบ่อนทำลายต่อความสามัคคีของโลกตะวันตกต่อประเด็นยูเครนที่เปราะบาง แสดงให้เห็นว่ามีการแตกแยกเกิดขึ้นภายในประชาคมโลกเสรีประชาธิปไตย
มาครงบางทีอาจเป็นผู้นำที่ทรงอิทธิพลภายในทวีปยุโรป แต่เขาทำพลาดอย่างหนักในการประเมินรัสเซียปีที่แล้วสำหรับการบุกยูเครน นโยบายการต่างประเทศของฝรั่งเศสบางครั้งเกิดผิดพลาดที่บางทีมาจากความผิดพลาดของการข่าวกรองฝรั่งเศสที่เคยมีชื่อเสียงในด้านเลวร้ายในอดีต
ผู้นำแดนน้ำหอมเดินทางเข้าจีนเพื่อหวังโปรโมตธุรกิจฝรั่งเศส พร้อมกับความเห็นที่ประนีประนีนอมกับปักกิ่ง เขาเดินทางไปพร้อมกับประธานคณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งเป็นหญิงเหล็กแห่งยุโรป อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen) อดีตรัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนีที่ยืนยันหนักแน่นว่า “ปัญหาช่องแคบไต้หวันถือเป็นประเด็นสำคัญ” และการเปลี่ยนแปลงสถานะไต้หวันนั้น "เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้"
หนังสือพิมพ์ออสเตรเลียเปิดประเด็นว่า ไม่ว่าอย่างไร ประธานาธิบดีมาครงได้ทำให้เกิดคำถามใหญ่ที่ยังไม่มีใครเคยตั้งมาก่อน “จะทำอย่างไรหากจีนเกิดยกทัพบุกไต้หวัน?”
คำตอบจากคำถามนี้ห่างไกลจากความชัดเจน...มีหลายประเทศใช้นโยบายคลุมเครือต่อการป้องกันของไต้หวัน ซึ่งมีความหมายว่า ชาติเหล่านี้ตั้งใจทำให้เกิดความคลุมเครือว่าจะเข้าปกป้องอธิปไตยไต้หวันหรือไม่หากโดนจีนรุกรานทางการทหาร ขณะที่มีบางคนชี้ไปว่า ความเห็นของมาครงเป็นเหตุผลในการตัดสินใจของออสเตรเลียสำหรับการยกเลิกข้อตกลงเรือดำน้ำออสเตรเลีย-ฝรั่งเศส เป็นการตัดสินใจที่ผลักดันให้แคนเบอร์รา หันไปหาสหรัฐฯ-อังกฤษผ่านข้อตกลง AUKUS มากกว่าพันธมิตรยุโรปนั้นในเวลานี้สามารถกล่าวได้ว่า เป็นความเคลื่อนไหวที่ชาญฉลาด
ทั้งนี้ รอยเตอร์เคยรายงานเมื่อวันที่ 4 ต.ค.ปีที่แล้วว่า มาครงเคยออกมาผลักดันให้ EU ขึ้นมามีบทบาทเชิงยุทธศาสตร์สูงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกหลังเกิดวิกฤต AUKUS