เอเจนซีส์ - กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ล่าสุดโต้ข่าวปลอมว่อนไปทั่วว่า ภาพทหารอเมริกันกำลังตรวจเช็กระเบิดนิวเคลียร์ที่มีลักษณะบุบ และอ้างว่าเกิดขึ้นภายในฐานทัพในเนเธอร์แลนด์ แท้จริงเป็นระเบิดปลอมใช้สำหรับการฝึกเท่านั้น
เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษรายงานวันจันทร์ (3 เม.ย.) ว่า กลายเป็นที่ขนลุกไปทั่วเมื่อภาพระเบิดนิวเคลียร์ B61 ที่มีลักษณะบุบอย่างเห็นได้ชัดและด้านหน้าของระเบิดติดเทปสีชมพูที่ทหารอเมริกันกำลังตรวจสอบภายในฐานทัพอากาศในเนเธอร์แลนด์
ฐานทัพอากาศ Volkel เป็น 1 ใน 6 แห่งของ 5 ประเทศทั่วยุโรปที่สหรัฐฯ เก็บนิวเคลียร์บอมบ์ไว้ เดลีเทเลกราฟของอังกฤษรายงาน พร้อมกล่าวว่า หากว่าภาพที่ปรากฏเป็นความจริงจะถือเป็นเรื่องใหญ่ร้ายแรง ซึ่งเป็นที่รู้ว่าหากอาวุธระเบิดนิวเคลียร์มีปัญหาถึงขั้นบุบจะถูกปิดเป็นความลับสุดยอด
ภาพที่เผยแพร่ไปทั่วโลกโซเชียลมีเดียทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ จนทำให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ วันจันทร์ (3) ต้องออกมาแถลงเพื่อสยบข่าวลือ
เพนตากอนแถลงว่า ภาพประกอบที่เผยแพร่ไปทั่วเป็นส่วนหนึ่งของรายงานของสมาพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน FAS และลูกระเบิดนิวเคลียร์บุบที่ถ่ายไว้จากฐานทัพดัตช์นั้นเป็นของปลอมที่ใช้เพื่อจุดประสงค์การฝึกกองกำลังเท่านั้น
อ้างอิงจากเดลีเทเลกราฟพบว่า สหรัฐฯ เคยเกิดปัญหาขั้นร้ายแรงเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเองบนแผ่นดินใหญ่ยุโรปที่เปิดเผยต่อสาธารณะในปี 1966 เกิดขึ้นเมื่อเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 ซึ่งมีระเบิดไฮโดรเจนบอมบ์ 4 ลูก เกิดเฉี่ยวชนระหว่างการเติมน้ำมันกลางอากาศในสเปน และพบว่าสามารถเก็บกู้ระเบิด 2 ลูก อยู่ในสภาพสมบูรณ์
แต่ทว่าอีก 2 ลูกเกิดระเบิดทำสารกัมมันตภาพรังสีกระจายเป็นวงกว้างไปถึงหมู่บ้านชาวประมง Palomares ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสเปนเลยทีเดียว เดลีเทเลกราฟกล่าว
เดอะการ์เดียนรายงานว่า เพนตากอนแถลงว่า ภาพเจ้าปัญหาเป็นงานพรีเซนเทชันสำหรับการรับสมัครโดยสถาบันแล็บวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ ลอสอลามอส LANL ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานวิจัยอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ภาพถ่ายนี้มีพิกัดทางภูมิศาสตร์อยู่ที่ฐานทัพอากาศโฟลเคิล (Volkel) ของเนเธอร์แลนด์
ภาพลูกระเบิดนิวเคลียร์บุบอยู่ในสไลด์รายงานหน้าที่ 46 ของรายงาน Opportunities and Advancement in LANL Criticality Safety and Research เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 เม.ย.ปี 2022 โดยมีเป้าหมายเพื่องานสัมมนานักศึกษา TAMU
อย่างไรก็ตาม ฮานส์ คริสเตนเซิน (Hans Kristensen) ผู้อำนวยการโปรเจกต์ข้อมูลนิวเคลียร์ FAS แสดงความเห็นผ่านบล็อกของ FAS ยืนยันว่า เขาไม่แน่ใจว่าลูกระเบิดนิวเคลียร์ที่บุบนั้นเป็นของจริงหรือไม่อย่างไร แต่ทว่าหลังการออกมาแสดงความเห็นของคริสเตนเซิน ในวันจันทร์ (3) ทำให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ต้องออกมาเปิดเผยว่า ลูกระเบิดที่บุบเป็นของปลอมที่ใช้ในการฝึก
“ที่ตั้งทางการทหารทุกแห่งทางเรามีทีมตอบโต้ที่ต้องมีการฝึกร่วมกัน และนี่คือสิ่งที่มันเป็น และภาพถ่ายได้ถูกรวมเข้าในการรับสมัครประจำปี” ออสการ์ เซียรา (Oscar Seára) โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แถลง
ขณะที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ ประจำยุโรปไม่ปฏิเสธ หรือยืนยันเกี่ยวกับภาพการตรวจเช็กนิวเคลียร์ แต่กล่าวเพียงว่า “สหรัฐฯ ยังคงระดับมาตรฐานสูงสำหรับกำลังพลและอุปกรณ์สนับสนุนคลังแสงทางยุทธวิธี
ทั้งนี้ B61 เป็นระเบิดนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีเพียงประเภทเดียวที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในคลังแสงกองทัพอเมริกันในเวลานี้ โดยมีการประมาณว่าราว 100 ลูก ถูกกระจายเก็บไว้ที่เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เยอรมนี อิตาลี และตุรกี ซึ่งระเบิดนิวเคลียร์ B61 เป็นทรัพย์สินของสหรัฐฯ แต่ทว่าลูกเรือกองทัพอากาศจาก 6 ชาติรวมกรีซต้องทำการฝึกซ้อมเพื่อโหลดระเบิดนิวเคลียร์ขึ้นเครื่องและบินออกไป