บรรดามหาอำนาจด้านน้ำมันที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย สร้างความประหลาดใจด้วยการแถลงปรับลดกำลังผลิตอีกมากกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในวันอาทิตย์ (2 เม.ย.) เรียกมันว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่ระมัดระวังไว้ก่อน ซึ่งมีเป้าหมายสร้างเสถียรภาพแก่ตลาด
การปรับลดกำลังผลิตครั้งนี้ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมจากการที่รัสเซียตัดสินใจขยายขอบเขตการลดกำลังผลิตอีก 500,000 บาร์เรล มีขึ้นแม้มีเสียงเรียกร้องจากสหรัฐฯ ที่ขอให้เพิ่มกำลังผลิต ท่ามกลางความกังวลว่ามันอาจเสี่ยงโหมกระพือเงินเฟ้อและก่อแรงกดดันให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ความเคลื่อนไหวโดยซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิรัก คูเวต แอลจีเรีย และโอมาน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ไปจนถึงสิ้นปี จะเป็นการปรับลดกำลังผลิตสูงสุด 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ถือเป็นการปรับลดกำลังผลิตมากที่สุดนับตั้งแต่โอเปกพลัสปรับลดกำลังผลิต 2 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนตุลาคม
รัสเซีย ชาติสมาชิกระดับแกนนำของโอเปกพลัส เผยด้วยว่าพวกเขาเองก็กำลังขยายขอบเขตปรับลดกำลังผลิตในปัจจุบัน 500,000 บาร์เรลต่อวันไปจนถึงสิ้นปี พร้อมให้คำจำกัดความความเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่าเป็น "การกระทำด้วยความรับผิดชอบและป้องกันไว้ก่อน"
เจ้าหน้าที่รายหนึ่งของกระทรงพลังงานซาอุดีอาระเบีย เน้นย้ำว่า "มันเป็นมาตรการป้องกันไว้ก่อน โดยมีเป้าหมายสนับสนุนเสถียรภาพตลาด" เขากล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซาอุดี เพรส เอเจนซี
อิบราฮิม อัล-กิทานี ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมันที่มีสำนักงานในยูเออี มองว่าการปรับลดกำลังผลิตมีชนวนเหตุจากราคาน้ำมันขยับลง ท่ามกลางความกระวนกระวายใจต่อภาคธนาคาร ตามหลังการล่มสลายของธนาคารเอสวีบีของสหรัฐฯ และยูเอสบี เข้าเทกโอเวอร์กิจการของเครดิต สวิส
เขากล่าวว่า น้ำมันดิบเบรนท์ ซึ่งซื้อขายต่ำกว่า 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว น่าจะดีดตัวขึ้นเหนือ 80 ดอลลาร์ ผลจากการลดกำลังผลิตครั้งนี้ โดยเขาเชื่อว่าราคาที่ต่ำกว่า 80 ดอลลาร์ เป็นระดับที่ยอมรับไม่ได้สำหรับโอเปกพลัส "บรรดาประเทศผู้ผลิตยึดตามระบบสมดุลหนึ่งที่สนับสนุนงบประมาณการเงินมหาศาลของพวกเขาในปีนี้ และแผนเศรษฐกิจถัดไปของพวกเขา"
การปรับลดกำลังผลิตมีขึ้นตามหลังความเคลื่อนไหวอันเป็นที่ถกเถียงในเดือนตุลาคม ซึ่งโอเปกและพันธมิตร ในนั้นรวมถึงรัสเซีย หรือที่เรียกว่าโอเปกพลัส ตัดสินใจลดกำลังผลิต 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ความเคลื่อนไหวปรับลดดังกล่าว ซึ่งถือว่ามากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงพีกสุดของโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ในปี 2020 มีขึ้น แม้มีความกังวลว่ามันอาจโหมกระพือเงินเฟ้อให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น และผลักให้ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
โอเปก ปรับเพิ่มคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2023 ในตัวเลขประมาณการเดือนกุมภาพันธ์ โดยระบุคาดหมายว่าอุปสงค์น้ำมันโลกจะเติบโต 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นเฉลี่ยแล้ว 101.87 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้
"อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ในเบื้องต้นเกี่ยวกับอุปสงค์ที่สูงขึ้นในช่วงไตรมาส 2 เวลานี้ถูกท้าทายด้วยแนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและแรงกดดันของภาวะเศรษฐกิจถดถอย" เยซาร์ อัล-มาเลกิ นักวิเคราะห์จากกัลฟ์ระบุ "โอเปกกำลังใช้มาตรการชิงดำเนินการก่อน ในกรณีที่มีความเป็นไปได้อย่างสูงที่อุปสงค์จะลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง"
ซาอุดีอาระเบียจะลดกำลังผลิต 500,000 บาร์เรลต่อวัน อิรัก 211,000 บาร์เรลต่อวัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 144,000 บาร์เรลต่อวัน คูเวต 128,000 บาร์เรลต่อวัน แอลจีเรีย 48,000 บาร์เรล และโอมาน 40,000 บาร์เรล อ้างอิงจากคำแถลงของแต่ละชาติ
การปรับลดกำลังผลิตครั้งนี้เป็นการเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องจากสหรัฐฯ ที่ขอให้เพิ่มกำลังผลิต ท่ามกลางการบริโภคที่ดีดตัวขึ้น เช่นเดียวกับที่จีน ชาติผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกกลับมาเปิดเศรษฐกิจ หลังจากชัตดาวน์สกัดโควิด-19
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ส่งเสียงเรียกร้องเป็นประจำให้โอเปกพลัสปรับเพิ่มกำลังผลิต นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน ซึ่งผลักให้ราคาน้ำมันครั้งหนึ่งพุ่งไปแตะระดับเหนือ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
หลังจากปรับลดในเดือนตุลาคม ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าศึกเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ประธานาธิบดีไบเดน ได้ส่งเสียงเตือนซาอุดีอาระเบีย พันธมิตรเก่าแก่เกี่ยวกับผลสนอง อย่างไรก็ตาม จากความเคลื่อนไหวล่าสุดดูเหมือนว่าคำขู่ดังกล่าวจะไม่เป็นผล
(ที่มา : เอเอฟพี)