อังกฤษประกาศเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership : CPTPP) ซึ่งมีชาติสมาชิกเดิมอยู่ 11 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และออสเตรเลียวันนี้ (31 มี.ค.) โดยมีจุดประสงค์เพื่อยกระดับความร่วมมือ รวมถึงสร้างเครือข่ายการค้าหลังจากที่อังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)
นายกรัฐมนตรี ริชี ซูแน็ก ยืนยันว่า อังกฤษได้ตัดสินใจเข้าร่วมความตกลง CPTPP ซึ่งถือเป็นกลุ่มความร่วมมือทางการค้าใหญ่ที่สุดที่ลอนดอนเข้าเป็นสมาชิกภายหลัง “เบร็กซิต”
“การเข้าร่วม CPTPP จะทำให้สหราชอาณาจักรได้เข้าไปอยู่ท่ามกลางกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก ซึ่งมีพลวัตและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง” ซูแน็ก ระบุในถ้อยแถลง พร้อมย้ำว่าข้อตกลงนี้สะท้อนให้เห็นถึง “ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่อังกฤษได้รับอย่างแท้จริงจากการมีเสรีภาพภายหลังเบร็กซิต”
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รัฐบาลอังกฤษพยายามเชื่อมสัมพันธ์กับนานาประเทศเพื่อสร้างเครือข่ายการค้าของตนเองหลังจากที่ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปในปี 2020 และเริ่มเบนเข็มไปสู่ภูมิภาคที่ห่างไกลทว่ามีเศรษฐกิจเติบโตเร็ว
การขยายบทบาทสู่อินโดแปซิฟิกของอังกฤษยังเกิดขึ้นพร้อมๆ กับที่ลอนดอนได้กำหนดกรอบนโยบายต่างประเทศ โดยมอง “จีน” ว่าเป็นหนึ่งใน “ความท้าทายแห่งยุคสมัย” (epoch-defining challenge)
CPTPP มีรัฐสมาชิกอยู่ทั้งหมด 11 ประเทศ ได้แก่ บรูไน แคนาดา ชิลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ เวียดนาม ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย โดยอังกฤษถือเป็นสมาชิกชาติที่ 12 ในกลุ่มนี้
การเข้าร่วม CPTPP นับว่าเป็นส่วนเสริมจากข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) ซึ่งอังกฤษทำร่วมกับรัฐสมาชิกส่วนใหญ่อยู่แล้ว โดยรัฐบาลอังกฤษคาดว่าการลดอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ สุรา และผลิตภัณฑ์นมจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ปีละราวๆ 1,800 ล้านปอนด์ และตัวเลขนี้อาจจะสูงขึ้นอีกเมื่อมีประเทศใหม่ๆ เข้าเป็นสมาชิกเพิ่ม
ชิเงยูกิ โกโตะ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ออกมาชื่นชมการเข้าร่วม CPTPP ของอังกฤษว่า “มีนัยสำคัญยิ่ง” ในการช่วยส่งเสริมระบบการค้าที่เสรี เปิดกว้าง และสามารถแข่งขันได้ อีกทั้งยังเป็นการบูรณาการระบบเศรษฐกิจให้กว้างไกลไปกว่ากลุ่มประเทศริมชายฝั่งแปซิฟิก
ที่มา : รอยเตอร์