xs
xsm
sm
md
lg

IMF ไฟเขียวอนุมัติเงินช่วยเหลือเกือบ 3 พันล้านดอลลาร์ให้ “ศรีลังกา” เตรียมรับก้อนแรกใน 2 วัน “นายกฯ บังกลาเทศ” ประกาศระมัดระวังเงินกู้จีนกลัวซ้ำรอย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์ - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ IMF แถลงวันจันทร์ (20 มี.ค.) อนุมัติความช่วยเหลือเงิน 2.9 พันล้านดอลลาร์ ให้ศรีลังกา หลังจากปีที่ผ่านมาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขั้นร้ายแรงจนถึงขั้นไฟดับทั้งประเทศ ต่อแถวซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง ขาดแคลนยารักษาโรค เศรษฐกิจล้มละลาย ด้านเพื่อนบ้าน นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ชีค ฮาสินา ยืนยันจะจับตาเงินกู้โครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของปักกิ่งอย่างใกล้ชิด กลัวซ้ำรอยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงตาม

อัลญะซีเราะฮ์ สื่อกาตาร์รายงานวานนี้ (20 มี.ค.) ว่า ศรีลังกาจะได้รับเงินก้อนแรก จำนวน 330 ล้านดอลลาร์ จากทั้งหมด 2.9 พันล้านดอลลาร์ภายใน 2 วันหลังจากนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ IMF กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในรายงานของบีบีซี สื่ออังกฤษระบุว่า IMF อนุมัติจำนวน 3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศศรีลังกา อาลี ซาบรี (Ali Sabry) ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลโคลอมโบจะระดมทุนด้วยการปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจ และแปรรูปสนามบินโคลัมโบให้เป็นเอกชนเพื่อเพิ่มความคล่องตัว

การได้เงินก้อนแรกมาจะช่วยบังกลาเทศที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรงสูงสุดในรอบ 70 ปีเมื่อปีที่ผ่านมาให้สามารถผ่อนคลายทางหนี้สินในระดับยั่งยืนได้

เมื่อวานนี้ (20) บอร์ดบริหาร IMF มีมติอนุมัติแพกเกจช่วยเหลือจำนวนเกือบ 3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถจะช่วยศรีลั
งกาได้รับการสนับสนุนภายนอกอีกราว 3.75 พันล้านดอลลาร์ จากธนาคารโลก ธนาคารการพัฒนาเอเชีย และสถาบันการเงินสำคัญอื่นๆ

สื่อกาตาร์ชี้ว่า นี่ถือเป็นครั้งที่ 17 ของ IMF ที่ยื่นมือเข้าช่วยแดนสิงหล และครั้งที่ 3 นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองทมิฬ และสิงหลสิ้นสุดลงในปี 2009

ทำเนียบนายกรัฐมนตรีศรีลังกา รานิล วิกรมสิงเห ประกาศว่าโครงการนี้จะทำให้โคลัมโบสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือทั้งหมด 7 พันล้านดอลลาร์

“ศรีลังกาจะไม่ถือว่าล้มละลายจากโลกอีกต่อไป” เขากล่าวในแถลงการณ์ผ่านทางวิดีโอคลิป และเสริมต่อว่า “เงินกู้นี้เป็นหลักประกันจากประชาคมโลกแสดงให้เห็นว่าศรีลังกามีความสามารถในการปรับโครงสร้างหนี้และสามารถกลับมาทำธุรกรรมได้ตามปกติอีกครั้ง”

อัลญะซีเราะห์กล่าวว่า ศรีลังกายังคงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่ทั้งอินเดีย และญี่ปุ่น อีกทั้งประชาคมโลกรวมสหรัฐฯ ร่วมกันช่วยเจรจากับรัฐบาลปักกิ่งของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในแผนการปรับโครงสร้างหนี้ศรีลังกา

บีบีซีรายงานว่า ศรีลังกาเป็นหนี้อินเดียราว 1 พันล้านดอลลาร์ ส่วนของจีนอยู่ที่ 7 พันล้านดอลลาร์ อ้างอิงจากสื่อดิพโพลแมตที่รายงานเมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่า ปัจจุบันนี้จีนถูกจัดเป็นเจ้าหนี้ใหญ่ที่สุดในโลกผ่านโครงการโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของตัวเอง

พบว่าปักกิ่งเป็นเจ้าหนี้จำนวนสูงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในมากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก IMF เปิดเผยว่ามีประเทศรายได้ต่ำทั่วโลกราว 60% นั้นกำลังอยู่ในวิกฤตหนี้สิน หรือใกล้ตกอยู่ในสถานะนั้น

สื่อดิพโพลแมตกล่าวในเวลานั้นว่า IMF ปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการประเมินว่าเงื่อนไขของจีนว่าตรงกับข้อกำหนดในการให้ไฟเขียวความช่วยเหลือซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงินกู้ 2.9 พันล้านที่ได้ตกลงร่วมกันกับรัฐบาลศรีลังกาเมื่อกันยายนที่ผ่านมาหรือไม่

ข่าวโคลัมโบได้รับเงินกู้ IMF เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ผู้นำบังกลาเทศออกมายืนยันว่า ทางบังกลาเทศจะระมัดระวังเป็นพิเศษต่อเงินกู้ของจีน โดยชี้ไปที่ข้อตกลงเช่าท่าเรือฮัมบันโตตา (Hambantota) นาน 99 ปีถือเป็นสัญญาณอันตรายที่ส่งออกมา

เดอะอินเดียนเอ็กซ์เพรสของอินเดียรายงานวันนี้ (21) ว่า นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ชีค ฮาสินา เปิดใจในวันอังคาร (21) ว่า รัฐบาลของเธอจะระมัดระวังเป็นพิเศษสำหรับประเด็นความเป็นพันธมิตรการพัฒนาร่วมกับ “จีน” และอีกทั้งธากาจะไม่ยอมตกเป็นเหยื่อต้องพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งสำหรับความช่วยเหลือต่างประเทศท่ามความวิตกเพิ่มมากขึ้นทั่วโลกที่เห็นบรรดาประเทศเล็กๆ ตกอยู่ในกับดักหนี้จีน

สื่ออินเดียชี้ไปว่า ข้อตกลง 99 ปีเช่าท่าเรือฮัมบันโตตา กลายเป็นประจักษ์พยานให้เห็นถึงด้านมืดของโครงการโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

ฮาสินา กล่าวว่า “เราไม่พึ่งพาใคร” และเมื่อเธอถูกนักข่าวถามว่า สหรัฐฯ กำลังกล่าวหาว่า บังกลาเทศกำลังหันมาใกล้ชิดปักกิ่ง แต่เธอยืนยันเสียงแข็งว่า บังกลาเทศใกล้ชิดกับทุกประเทศที่ช่วยเหลือความพยายามการพัฒนา “เราใกล้ชิดกับทุกคนทั้งสหรัฐฯ จีน หรืออินเดีย ใครก็ตามที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาของเรา”

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ วัย 75 ปี กล่าวถึงปักกิ่งว่า เป็นหนึ่งในพันธมิตรสำคัญทางการพัฒนาประเทศ และย้ำว่ารัฐบาลธากาของเธอจะไม่ขอรับเงินกู้ที่ไม่จำเป็นอย่างเด็ดขาด


กำลังโหลดความคิดเห็น